“แผงโซลาร์เซลล์” ท่วมประเทศ พลังงานในวันนี้กลายเป็นขยะวันหน้า !

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ กำลังขยายตัวอีกจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร็ว ๆ นี้ ภาครัฐจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเสรีอีกด้วย เมื่อรวมกับกระแสของระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบ “แบตเตอรี่” หรือ energy storage คาดการณ์ได้ว่าปริมาณแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ประเด็นที่อาจจะถูกมองข้ามคือ เมื่อแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุและกลายเป็น “ขยะ” จะจัดการอย่างไร องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development : TBCSD) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute : TEI) จัดเสวนา “แนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ของภาคอุตสาหกรรม” เพื่อหาคำตอบไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพโซลาร์เซลล์ของประเทศในขณะนี้ว่า เมื่อพิจารณาจากแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือแผน AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) จะมีแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งรวม 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งแผงเหล่านี้ก็จะเป็นซากขยะสะสมใน 20 ปีข้างหน้า สูงถึง 7.5 แสนตัน หรือประมาณ 36 ล้านแผง โดยปัจจุบันมีการติดตั้งแผง

โซลาร์เซลล์แล้ว 2,600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 15 ล้านแผง และจะกลายเป็นขยะ 5.1 แสนตัน จึงเริ่มวิจัยเพื่อหาแนวทางจัดการขยะดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันใช้วิธี “ฝังกลบ” เท่านั้น แม้ผู้ผลิตจะระบุว่าแผงโซลาร์จะมีอายุใช้งานที่ 20 ปี แต่ในระหว่างกระบวนการผลิตหรืออื่น ๆ จะมีแผงที่ชำรุด หรือเสื่อมคุณภาพเกิดขึ้นในระบบต่อเนื่อง เพราะแผงโซลาร์เซลล์ในตลาดมีหลายเกรดและคุณภาพต่างกัน ฉะนั้นปริมาณขยะโซลาร์อาจจะ “มากกว่า” ที่คาดการณ์ไว้

สำหรับแนวทางจัดการแผงโซลาร์ที่มีความเป็นไปได้ คือ 1) คัดแยกด้วยมือ 2) รีไซเคิล และ 3) บดและเข้ากระบวนการสกัดโลหะออกมาใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น เงิน, ซิลิคอน, อะลูมินัม, ตะกั่ว, แคดเมียม และอินเดียม ซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น นำไปเป็นส่วนประกอบของจอแอลอีดี (LED)

ทั้งนี้ ผศ.ดร.พิชญระบุว่า ในอนาคตยังจะมีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (energy storage) ทำให้ขณะนี้กลุ่มธุรกิจเหมืองแร่และพลังงานเริ่มวิเคราะห์ว่า เทรนด์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะทำให้อนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในปีཷ ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการติดตั้งแผงโซลาร์รวม 222 กิกะวัตต์ ซึ่งในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 300 กิกะวัตต์ โดยกำลังผลิตส่วนใหญ่อยู่ในแถบยุโรป เช่น เยอรมนี จากนี้จะเริ่มมาขยายในแถบเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน ทั้งนี้ ได้ศึกษาส่วนของการจัดการในเยอรมนี และญี่ปุ่นนั้น กฎหมายที่ใช้ควบคุมดูแลแผงโซลาร์เทียบเคียงมาจากสหภาพยุโรปเป็นหลัก ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในการกำจัดแผงโซลาร์คือ “ผู้ผลิต” และ “ผู้นำเข้า” กฎหมายของเยอรมนีระบุว่า ในอนาคตจะต้องรีไซเคิลได้ 80% ของน้ำหนักแผง

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นระบุผู้รับผิดชอบกำจัดแผงคือ “เจ้าของแผงโซลาร์” เพราะถือว่าได้รับประโยชน์จากแผงโซลาร์ไปแล้ว

ดร.พิชญมองว่า สำหรับไทยจะต้องพิจารณากันตั้งแต่ “แหล่งกำเนิด” เช่น เป็นโรงไฟฟ้า หรือติดตั้งบนหลังคาบ้าน จากนั้นจะต้องหาจุดรวบรวมขยะแผงเหล่านี้ ในกรณีที่นำไปใช้ประโยชน์ต้องมองว่า คุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจหรือไม่ และต้องมองให้ครอบคลุมกับผู้มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้รวบรวม และผู้รับรีไซเคิล ต้องหารือให้ชัดก่อนที่นำเสนอต่อภาครัฐในการกำกับดูแลต่อไป

ด้านภาคเอกชนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ นายจตุพร โสภารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจใหม่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เผยว่า การใช้ประโยชน์จากโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจะกลายเป็นขยะในอนาคตต่อจากนี้นั้น ส่วนของเอกชนรอความชัดเจนจากภาครัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อดูแลซากแผงโซลาร์ในอนาคต เพราะราชบุรี โฮลดิ้งส์ มีโครงการโซลาร์ฟาร์มรวม 44 เมกะวัตต์ (ถือในสัดส่วน 24 เมกะวัตต์) รวมถึงมีโครงการอื่น ๆ ในต่างประเทศประมาณ 42 เมกะวัตต์ และคาดว่าในอีก 20 ปีก็จะเริ่มมีแผงทยอยหมดอายุ ซึ่งบริษัทก็มีนโยบายการทำธุรกิจที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันไม่มีโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์ แต่จะมี 1 โรงที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและแล้วเสร็จในปี 2561 ซึ่งในอนาคตภาครัฐควรมีการส่งเสริมโรงงานประเภทนี้มากขึ้น

ราชบุรี โฮลดิ้งส์ได้ประเมินแผงโซลาร์ที่ถือครองอยู่ประมาณ 3 แสนแผง หรือประมาณ 5,800 ตัน มีกระจกเป็นองค์ประกอบ 80% อีก 10% เป็นอะลูมิเนียม ซึ่งโจทย์สำคัญที่เหลือ 10% ที่เป็นซิลิคอน และคอปเปอร์ อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร

“อยากให้ภาครัฐผลักดันเรื่องนี้ให้ชัดเจน และควรมีผู้รับผิดชอบชัดเจน ในเรื่องของโซลาร์เซลล์ไม่ได้มีแค่เรื่องแผงเท่านั้น เช่น อินเวอร์เตอร์ หม้อแปลง แต่เมื่อมีแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นมา โรงกำจัดปัจจุบันก็ใช้วิธีเก็บส่วนประกอบทั้งหมดไม่สามารถแยกชิ้นส่วนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาครัฐจะส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าอีก”

ถัดมาคือ นายพงษ์ภัทร พุกะนัดด์ ผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในประเทศ มีกำลังผลิต 182 เมกะวัตต์ และมีโครงการในญี่ปุ่นรวม 140 เมกะวัตต์นั้น ได้หารือกับผู้ผลิตแผงที่ป้อนให้กับโครงการไว้อยู่แล้วคือ วิธีการรีไซเคิล เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแล้วจะได้กระจก อะลูมิเนียม และอื่น ๆ ซึ่งมองว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งภาครัฐจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาให้ชัดด้วยว่าจะมีการบริหารจัดการซากแผงโซลาร์อย่างไร