ส่งออกไปจีนโต 28% หลังวิกฤตพลังงาน

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
สัมภาษณ์พิเศษ

จีนประสบปัญหาขาดแคลนพลังงาน จนทำให้บางพื้นที่ต้องหยุดโรงงาน ซึ่งวิกฤตดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในปีนี้อาจจะเติบโตลดลงเหลือเพียง 7.7-7.8% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 8.2% แต่ยังกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกับจีน ซึ่งรวมมาถึงไทยด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถึงวิกฤตพลังงานของจีน กับการนำเข้า-ส่งออกของไทย

มั่นใจไม่กระทบส่งออก

เป้าหมายส่งออกของไทยไปจีนในปี 2564 นี้ ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) จีน ตั้งเป้าร่วมกันที่ 28% จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย รองจากสหรัฐ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกไปจีนมีมูลค่า 25,169.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 27.88%

โดยการส่งออกสินค้า 10 อันดับแรก ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวเกือบทุกสินค้า ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

สินค้าจีนต้นทุนพุ่ง

วิกฤตพลังงานในจีน ส่งผลกระทบต่อทั้งการส่งออกและนำเข้าของไทย ในด้านการส่งออก ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในจีน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของจีน ทำให้จีนต้องลดกำลังการผลิตลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/อุปกรณ์และชิ้นส่วน ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ซึ่งประเทศไทยมีสินค้าส่งออกสำคัญที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนหลายอย่าง อาทิ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจร ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

ส่วนสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับประโยชน์จากวิกฤตพลังงานในจีนที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของจีน เพราะวิกฤตนี้จะทำให้ “จีนผลิตสินค้าได้ปริมาณน้อยลง และสินค้ามีราคาแพงขึ้น” เนื่องจากต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้น อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสำเร็จรูปและผลไม้สด ทั้งไปยังตลาดจีนเอง และตลาดโลก เนื่องจากกำลังการผลิตภายในประเทศของจีนที่ลดลง ทำให้จีนต้องนำเข้ามากขึ้น และประเทศผู้นำเข้าที่เดิมนำเข้าจากจีน ต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนสินค้าจีน

อีกด้านไทยยังจะได้รับอานิสงส์ในการส่งออกสินค้าอื่น ๆ ไปตลาดโลกทดแทนสินค้าจีน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ (ไทยและจีนมีตลาดคู่ค้าร่วมกัน ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น เม็กซิโก ออสเตรเลีย) อุตสาหกรรมกระดาษ และของเล่น (ในฮ่องกง) ถุงมือยาง (ในสหรัฐ และเนเธอร์แลนด์) เป็นต้น

“สินค้าทุน” นำเข้าจีนราคาสูง

การลดกำลังการผลิตของจีน ทำให้สินค้าที่จีนผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดโลกมีปริมาณลดลง ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากจีนของไทย โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนในอันดับ 1 คือ สินค้าทุน โดยเป็นการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบเป็นสำคัญ

สำหรับสินค้าทุน/วัตถุดิบที่ไทยนำเข้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งการลดการผลิตในจีน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าและการควบคุมโดยรัฐบาลจีน ปริมาณการผลิตในอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงจะทำให้สินค้านำเข้าเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของไทย

เร่งหาแหล่งนำเข้าสำรอง

“จีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าทุนอันดับ 1 ดังนั้นไทยอาจได้รับผลกระทบในอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารเคมี ซึ่งราคาอาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนสินค้าเกษตรส่งออกของไทยส่วนนี้ จึงควรมีการเตรียมการรองรับ”

การหาแหล่งนำเข้าใหม่ หรือเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าจากแหล่งอื่นที่ไทยมีการนำเข้าอยู่แล้ว อาทิ ในส่วนสินค้าทุน ไทยมีการนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 1 ตามด้วยญี่ปุ่น สหรัฐ มาเลเซีย เยอรมนี สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เป็นต้น

โอกาสลงทุน “ธุรกิจสีเขียว”

ขณะเดียวกัน วิกฤตพลังงานครั้งนี้ของจีน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนถ่านหินซึ่งจีนใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากจีนหยุดการนำเข้าจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 จากปัญหาข้อพิพาททางการเมืองระหว่างกัน

และอีกส่วนมาจากนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลจีนที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2060 (พ.ศ. 2603) และผลักดันการใช้พลังงานสะอาดและธุรกิจสีเขียว จะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการขยายตลาดเข้าสู่ตลาดจีนด้วย

“ทุนนอก” ย้ายฐานลงทุน

และจากวิกฤตนี้ อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้นและก่อมลพิษมีแนวโน้มจะย้ายฐานออกนอกจีน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยต้องระมัดระวังไม่ให้อุตสาหกรรมดังกล่าวย้ายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ผลกระทบเชิงบวก ได้แก่ การย้ายฐานจากผู้ผลิตต่างประเทศในจีนสู่ประเทศไทย

เนื่องจากประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน และมีความพร้อมในทุกมิติ รวมทั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่รัฐบาลลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบครัน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารสดและอาหารแปรรูปที่ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง


และมีแนวโน้มว่าปัญหาการขาดแคลนพลังงานจะทำให้เกิดความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้าอย่างมาก