รถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการวันนี้ (3 ธ.ค.) ควรรู้อะไรบ้าง? ก่อนตกขบวน

รถไฟจีนลาวเปิดวันนี้

รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว ซึ่งจะเปิดให้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์วันนี้

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จะมีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ The China-Laos Railway ช่วงโบเต็น-นครเวียงจันทน์ เที่ยวปฐมฤกษ์ ในวันนี้ ซึ่งตรงกับวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวครบรอบ 46 ปี และวันก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตลาว-จีน ครบรอบ 60 ปี

ในการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟดังกล่าว ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการเชื่อมโยงระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีเรื่องที่คนไทยควรรู้ก่อนตกขบวน ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมไว้ให้ดังนี้

บิ๊กโปรเจ็กต์ 6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายกวิน วิริยพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) ลาว-จีน เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวและจีน มูลค่าการลงทุนประมาณ 6,000-6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยฝ่ายจีนถือหุ้น 70% และรัฐบาลลาว 30%

โดยเป็นรถไฟรางเดี่ยวขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร โดยขบวนรถไฟขนส่งสินค้า กำหนดความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถไฟสำหรับผู้โดยสารกำหนดความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ระบบได้ออกแบบเผื่อไว้สำหรับการเดินทางพื้นที่ราบตั้งแต่วังเวียงถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ให้สามารถวิ่งได้เร็วถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โครงการรถไฟลาว-จีน ประกอบด้วย 32 สถานี ซึ่งแยกเป็นสถานีรถไฟขนส่งสินค้าทั้งหมด 22 แห่ง สถานีโดยสาร 10 แห่ง มีสถานีหลัก 5 แห่ง ได้แก่ 1) สถานีบ้านนาเตย 2) สถานีบ้านถิ่น-นาแล เมืองไซ แขวงอุดมไซ 3) สถานีแขวงหลวงพระบาง 4) สถานีวังเวียง 5) สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านอุโมงค์ 75 แห่ง ความยาวโดยรวมประมาณ198 กิโลเมตร และสะพานรถไฟ 163 แห่ง รวมระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร

“การเดินทางโดยใช้รถไฟความเร็วสูงจากลาวไปจีน ใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมงถึงจีน แต่หากเป็นการขนส่งสินค้าใช้เวลา 10-12 ชั่วโมง โดยประมาณ เป็นการใช้ระยะเวลาในการเดินทางปกติและขนส่งสินค้าได้เร็วมาก หากเมื่อเทียบจากการเดินทางโดยรถทั่วไป หรือรถขนส่งสินค้า ดังนั้นจะเห็นว่าจะทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น ไม่เพียงประชาชน นักท่องเที่ยว หรือการขนส่งสินค้าทั้งจากลาวไปจีน หรือจากจีนมาลาว”

นายกวินกล่าวอีกว่า ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ทางลาวได้จัดส่งบุคลากรที่ไปฝึกอบรมการให้บริการที่จีน 200-300 คน เพื่อเตรียมความพร้อมและให้มีองค์ความรู้ในการให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูง ส่วนการบริหารจัดการการให้บริการ รวมไปถึงการคิดค่าบริการ โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจีนที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในการจัดการทั้งหมด

รถไฟจีน-ลาว เกี่ยวกับไทยอย่างไร ?

จีนได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การก้าวเป็นชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative, BRI) ซึ่งเป็นหลักคิดในการสร้างเครื่องมือ ในการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางในรูปแบบของรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งในอนาคตจีนยังต้องการเชื่อมผ่านไทยลงไปถึงสิงคโปร์อีกด้วย

เมื่อปี 2560 มีการทำ MOU บันทึกความร่วมมือ 3 ประเทศระหว่าง ไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามแดนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ผ่านการขนส่งทั้งทางราง ทางถนน ทางอากาศและทางเรือ เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตของการส่งออกการนำเข้าของประเทศไทยต่อไปในอนาคตโดยมีอีสานเป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ (Esan New Economic Corridor)

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงจากจีน-ลาว ใช้เวลาก่อสร้างอีก 5-7 ปี และโครงการรถไฟทางคู่ที่จะไปเชื่อมต่อใช้ระยะเวลาพัฒนาอีก 4-5 ปี จะเกิดการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และไทยจะเป็นประตูการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค

นายมงคล วิศิษฎ์สตัมภ์ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยควรฉวยโอกาสนี้ขนส่งสินค้าข้ามแม่น้ำโขงจาก สปป.ลาว ไปจีน เพราะจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 6.4% มีประชากรกว่า 1,412 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อคนนับหมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่

การเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง จีน-สปป.ลาว ถือเป็นการพลิกโฉมภาคการขนส่ง ทั้งคนและสินค้าได้ภายใน 1 วัน ลดเวลาการขนส่งสินค้าทางถนนและทางเรือที่ใช้เวลามากกว่า ปัจจุบันสินค้าไทยที่ส่งไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและผลไม้ ถัดมาคือสินค้าสุขภาพและความงาม การขนส่งทางรางเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการส่งสินค้าที่ราคาถูกลง สะดวกและรวดเร็ว

การเตรียมความพร้อมเชื่อมโยงรถไฟไทย-ลาว-จีน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมรายงานว่า การเชื่อมทางรถไฟความเร็วสูงในส่วนของไทยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทาง 253 กม. กำหนดเปิดให้บริการ ปี 2569 สำหรับระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย มีระยะทาง 356 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ออกแบบรายละเอียดโดยมีกำหนดเปิดให้บริการ ปี 2571

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า มีการเตรียมความพร้อมสำหรับแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนี้

1.การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ โดยจะแยกเป็นสะพานเฉพาะสำหรับการเดินรถไฟเท่านั้น รวมทั้งการจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับปริมาณการขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

2.การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน เป็นการบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานเดิม (ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ

3.การพัฒนาพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ระยะเร่งด่วนและระยะยาว การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาพัฒนาพื้นที่รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่และเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาวและจีน

โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของลานขนถ่ายสินค้า สำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่าง ๆ รวมถึงอาคารสำนักงาน, คลังสินค้า และอาคารประกอบอื่น ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงศูนย์การเอกซเรย์ (X-ray) ตู้สินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบ One-Stop Service โดยจะพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) และย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard)

ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี

จุดอ่อน-จุดแข็ง

นายวราวุธ มีสายญาติ นายกสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว กล่าวว่า ภาคเอกชนไทยทั้งในลาวและในไทยเอง มองผลจากการเปิดรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนไว้ 3 ด้าน คือ ด้านการค้าสินค้า ซึ่งมีทั้งบวกและลบ โดยผลกระทบด้านลบคือโอกาสที่สินค้าจีนจะเข้ามาลาว หรือกระจายเข้ามาในไทย หรือประเทศในภูมิภาคจะง่ายขึ้น เพราะใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 15-15 ชั่วโมง จากปกติ 1-2 วัน

ต่อไปไทยจะรับมือสินค้าจีนอย่างไร ส่วนผลกระทบทางบวกการขนส่งสินค้าไทย โดยเฉพาะผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ไปจีนสะดวกและเร็วขึ้น ผลไม้มีความสดใหม่ การขนส่งสินค้าอื่น ๆ และจะช่วยเหลือในการลดต้นทุนค่าขนส่งออกไปด้วย

นอกจากนี้ ในเรื่องของการลงทุนและด้านการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่มองเป็นผลบวกมากกว่าผลกระทบ เมื่อรถไฟเปิดการลงทุนโดยรอบก็จะขยายตัว อีกทั้งลาวยังต้องการดึงนักลงทุน โดยเฉพาะไทยเข้าไปลงทุนในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกไปจีนด้วย ซึ่งเป็นโอกาสของไทยและสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ


ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทาง ซึ่งเชื่อว่าคนจีนจะใช้เส้นทางนี้เข้ามาท่องเที่ยวทั้งในลาว รวมไปถึงไทย โดยไทยจะดำเนินการอย่างไรเพื่อดึงโอกาสนี้ โดยเฉพาะจังหวัดหนองคายที่จะสร้างจุดเด่นเพื่อดึงการท่องเที่ยวจากคนจีนอย่างไร