ลุ้นรถไฟจีนลาวดันส่งออก จุรินทร์ ถกปัญหา 2 ประเทศ

Photo by various sources / AFP

ไทยไม่ยอมตกขบวนรถไฟจีน-ลาว “จุรินทร์” นับ 1 ถก กรอ.-พาณิชย์ภูมิภาค-ผู้ส่งออก ดันสินค้าไทยขึ้นรถไฟให้ได้ ลั่นพร้อมหารือสองประเทศ เผยเปิดวิ่ง 1 สัปดาห์จีนขนส่งเฉพาะแร่โพแทช-มันสำปะหลัง-ยางผ่านลาวเท่านั้น สินค้าเกษตร 8 กลุ่มสำคัญยังส่งไม่ได้ สภาธุรกิจไทย-ลาวประเมินการค้าจะโต 15%

หลังจากที่มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว จากนครหลวงเวียงจันทน์-คุนหมิง ที่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การค้าชายแดนและการค้าข้ามพรมแดนส่งสัญญาณกลับมาคึกคักมากขึ้น

จากในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2564 ยอดค้าชายแดนไทย-ลาวมีมูลค่า 62,481 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.75% โดยไทยส่งออก 53,005.54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 37.79% และนำเข้า 9,476.40 ล้านบาท หรือลดลง 21.18%

ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 43,529.14 ล้านบาท จากยอดค้าชายแดนและค้าผ่านแดนภาพรวมของไทยที่มีมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 31.72% และคาดว่าทั้งปีนี้จะขยายตัวถึง 30% มีแนวโน้มจะดีต่อเนื่องถึงปี 2565 มีโอกาสจะเติบโต 6-8%

“จุรินทร์” มาแล้วสั่งลุยเจรจา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยได้สั่งการไปแล้วว่า ต้องการจะให้ประเทศไทยสามารถใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีนให้เป็นประโยชน์ที่สุด

นอกจากการเดินทางของคนไทยแล้ว หากสามารถดำเนินการเรื่องของการค้าชายแดนและข้ามแดนได้จะให้เร่งทำ โดยจะนับ 1 จากการที่จะเชิญผู้ส่งออก ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) มาหารือกันที่ จ.หนองคาย เพื่อประเมินว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

ในขณะที่เส้นทางที่เชื่อมต่อมาประเทศไทยของเรายังดำเนินการไม่เสร็จ “มี 5 ถึง 10 เรื่องที่ต้องทำ เช่น ต้องไปเจรจากับลาว-จีน ต้องตกลงเรื่องค่าขนส่งสินค้า จะให้ส่งหรือไม่ หรือจะให้ส่งคนอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้ทันกับฤดูกาลผลิตผลไม้ของไทยในปี’65”

ขณะที่ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะจัดประชุมที่จังหวัดหนองคายในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ โดย “หนองคาย” จะเป็นจุดเชื่อมต่อหลักเพื่อไปใช้ประโยชน์เส้นทางผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยกำลังเจรจากับหน่วยงานของจีน เพื่อจะทำ MOU อำนวยความสะดวกให้สินค้าไทย รถไฟจะช่วยลดต้นทุนเรื่องการขนส่งจากคุนหมิงมาถึงหนองคาย ใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง จากเดิมถ้าใช้รถก็จะใช้เวลาจากคุนหมิงมาถึงเชียงรายถึง 2 วัน

ส่วนการท่องเที่ยวก็จะเติบโตพร้อมกับรถไฟ นักท่องเที่ยวจีน-ลาวจะเดินทางมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งปีหน้าลาวมีแผนจะเปิดประเทศจะช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ 3 กลุ่มใหญ่ เช่น กลุ่มบริการสุขภาพ, กลุ่มห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และกลุ่มสถานศึกษา

รอด่านโม่ฮานเปิดเต็มปี’65

นายกวิน วิริยพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ กล่าวว่า ได้ติดตามการขนส่งสินค้าทางรถไฟเข้าจีนตรงทาง “ด่านโม่ฮาน” ฝ่ายลาวสามารถให้บริการได้แต่งานด้านการตรวจสอบ, การตรวจโรคพืช, งานด้านศุลกากร

ในขณะที่งานด้านสินค้าโดยเฉพาะสินค้า 8 กลุ่มสำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์, ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง, ธัญพืช, ผลไม้, สัตว์น้ำเพื่อการบริโภค, ต้นกล้า, ไม้ซุง และสินค้าสัตว์และพืชที่มีความเสี่ยงสูง ทางจีนยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม

คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 โดยผู้ส่งออกไทยจะสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้ทันที โดยเฉพาะ “ผักและผลไม้” ที่สามารถขนส่งผ่านแดนไปยังประเทศจีนได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (joint commission : JC) ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว ครั้งที่ 22 เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการความร่วมมือ ผลักดันความร่วมมือเพิ่มเติมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนจากโควิด-19 ของทั้งสองประเทศไปแล้ว

“ผู้ส่งออกไทยต้องศึกษาเส้นทางการขนส่ง รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ดี เนื่องจากช่วงนี้แม้จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ แต่ก็ยังอยู่ในช่วงที่ทดลองให้บริการ ทดลองระบบ ดังนั้น ตารางเดินรถ-ช่วงเวลาการขนส่งจึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ เนื่องจากหัวรถไฟจะไปเปลี่ยนหัวรถจักรที่สถานีท่าบก ท่านาแล้ง ก่อนจะขนส่งเข้าจีน ไม่ได้วิ่งตรงถึงจีนในทันที และต้องให้เต็มขบวนก่อนจะเดินทาง” นายกวินกล่าว

ส่วนการนำสินค้าเข้าผ่านทางรถไฟลาว-จีนพบว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม มีการนำเข้าสินค้าผักจากจีนมาประมาณ 33 ตู้คอนเทนเนอร์ (40 ฟุต) มาเปลี่ยนถ่ายขนส่งทางรถผ่านด่านหนองคาย เข้ามาประเทศไทย และล่าสุดจะมีสินค้าในกลุ่มอะไหล่รถยนต์เข้ามาไทยด้วย “ขณะนี้อยู่ระหว่างการขนส่ง”

สภาธุรกิจยันไทยไม่ตกขบวน

ด้าน ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ประเมินเบื้องต้นว่า การปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบรางนี้จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ 67% ส่งผลดีต่อต้นทุนสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งในปี 2565 หากการใช้รถไฟเริ่มลงตัวแล้วก็มีโอกาสที่การค้าไทย-ลาวจะเติบโต 15% ไม่นับรวมการค้าผ่านแดนไปจีน

“เรายังไม่ตกขบวน” แต่อาจช้าอยู่บ้าง ในด้านการเตรียมการขนส่งระบบราง โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งที่ 2 ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เร็วเพื่อลดปัญหา missing ling เพราะการก่อสร้างจะใช้เวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมามีการหารือทั้ง 3 ประเทศ ไทย-ลาว-จีนแล้ว

แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ปัญหาเรื่องความแตกต่างของขนาดรางรถไฟที่ฝั่งไทยใช้ขนาด 1 เมตร ฝั่งลาวใช้ขนาด 1.43 เมตร ทำให้ต้องยกเครนขนของจากตู้เพื่อสลับขบวน กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาอีก

“หลังจากที่มีการเปิดบริการรถไฟลาว-จีน มีผู้ประกอบการสอบถามเข้ามาที่สภามาก ล่าสุดกลุ่มสมาคมทุเรียน สมาคมการเกษตรระหว่างประเทศ ได้เข้ามาหารือเพื่อเตรียมการใช้ประโยชน์รองรับผลผลิตปีหน้า กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจเลี้ยงกุ้งก็มองถึงโอกาสเข้าไปลงทุนทำฟาร์มกุ้งในลาว เพื่อนำกุ้งขึ้นรถไฟผ่านไปจีน” ดร.จตุรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีนจะเห็นภาพการนำเข้ามากกว่าการส่งออก เนื่องจากทางจีนมุ่งใช้รถไฟขนส่ง “แร่โพแทสเซียม” จากลาวไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตปุ๋ยเป็นหลัก รองลงมาคือ มันสำปะหลัง จะเป็นการขนส่งแบบเทกอง

ส่วนการขนส่งสินค้าจากไทยขณะนี้การใช้ประโยชน์ยังไม่สามารถทำได้ จะต้องรอหลังช่วงตรุษจีน 2565 ไปแล้ว เพราะยังมีข้อติดขัดเรื่องกฎระเบียบและวิธีการ เช่น บริเวณด่านหลักโม่ฮาน-บ่อเต็น ยังขนส่งไปไม่ได้ เพราะฝั่งนั้นขาดทั้งคนและอุปกรณ์ในการตรวจสอบ

ประกอบกับยังมีมาตรการคุมเข้มโควิด-19 อีกทั้งจีนได้กำหนดประเภทสินค้าที่ขนส่งได้ หลังจากที่ประเทศจากการที่ไทยลงนามในพิธีสารกับจีนเปิดให้นำเข้าสินค้าเกษตรได้ 22 รายการ แต่จีนให้กับ สปป.ลาวถึง 87 รายการ

ดังนั้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทยต้องเจรจาเพื่อขอเพิ่มจำนวนสินค้าเกษตรให้มากขึ้น นอกจากนี้ ลาวยังได้สิทธิประโยชน์โควตาสินค้าเกษตรในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ส่วนการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมลาวนั้น มีนักลงทุนจีนเข้าไปปักฐานการผลิตแล้วถึง 90%

หนองคายหนุนเปิด 2 ด่านผ่านแดน

นายวิโรจน์ พิเภก พาณิชย์จังหวัดหนองคาย ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในจังหวัดหนองคายช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 “มีความคึกคักมาก” โดยเพราะ 4 อำเภอนำร่องแซนด์บอกซ์ ประกอบกับมีการเปิดเดินรถไฟลาว-จีน ช่วยเสริมธุรกิจบริการ

โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมในหนองคาย พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจีนและลาวที่จะเปิดประเทศในปีหน้า ทางสำนักงานเตรียมจัดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการในช่วงวันที่ 20-21 ธ.ค.นี้

นายสุรชัย วิชาชัย ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟลาว-จีนขนส่งสินค้า 4 เที่ยวต่อวัน ขบวนละ 40 ตู้ ส่วนรถไฟไทย-ลาวขนส่งสินค้า 2-3 เที่ยวต่อสัปดาห์ ขบวนละ 20 ตู้ และเท่าที่ประเมินหลังเปิดเดินรถไฟลาว-จีนมาได้ 1 สัปดาห์

พบว่าจีนส่งสินค้าผักเข้ามา 33 ตู้ในสัปดาห์แรก และแนวโน้มจะมาเพิ่มอีก 40 ตู้ ในสัปดาห์ที่ 2 ขณะที่ด้านส่งออก จีนกำหนดเปิดนำเข้าสินค้า 3 กลุ่มในช่วงแรก คือ ยาง, มันสำปะหลัง และสินแร่ ส่วนสินค้าเกษตร-ผักผลไม้ของไทย ต้องส่งผ่านทาง “ด่านโม่ฮาน-บ่อเต็น” ซึ่งทางจีนกำหนดให้เป็นไปตามพิธีสาร 22 รายการ นับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทที่เป็นสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป “ยังไม่สามารถส่งเข้าไปได้” พร้อมทั้งการเร่งผลักดันให้มีการเพิ่มจำนวนด่าน 2 แห่ง คือ ด่านหนองคาย-ท่าสะเด็จ กับจุดผ่อนปรนบ้านหม้อ ซึ่งมีการส่งออกปีละหลายพันล้านบาท