รถไฟจีน-ลาวแผลงฤทธิ์ ผักผลไม้ทะลักท่วมตลาด

ไฮสปีดเทรนลาว-จีนพ่นพิษ “สภาเกษตรฯ” แฉ “ผัก-ผลไม้จีน” จาก “คุนหมิง” ถึง “ตลาดไท” ไม่เกิน 2 วันทะลักท่วมตลาด หวั่นทุบราคาผลผลิตร่วง ห่วงอนาคตเกษตรกรไทยเสียเปรียบต้นทุนผลิตจี้รัฐเร่งตั้งการ์ดคุมเข้มสุขอนามัย ด้านสมาพันธ์ SME ชี้ 9 เดือนแรก SMEs ไทยขาดดุลการค้าจีน 2.7 แสนล้าน เร่งช่วยรายย่อยเสริมความสามารถแข่งขันรับมือสินค้าจีนถล่มตลาดในอนาคต

รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (คุนหมิง-เวียงจันทน์) จัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ใช่เพียงสินค้าและบริการจากไทยจะรุกเข้าไปยังตลาดจีนที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนเท่านั้น

แต่อีกด้านหนึ่ง “สินค้าจีน” ซึ่งเป็นฐานการผลิตระดับโลกก็ทะลักมาที่ไทยเช่นกัน เพราะเส้นทางรถไฟช่วยให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากจีนมาถึงลาวใช้เวลาเพียง 24 ชม. หรือประมาณ 1 วัน และหากข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวมาที่ไทย โดยใช้รถบรรทุกขนส่งจากหนองคายก็จะใช้เวลาเพียงไม่เกิน 12 ชั่วโมงเท่านั้น

จีนรับประโยชน์เต็ม ๆ

รายงานข่าวจากด่านค้าชายแดนหนองคายระบุว่า ปัจจุบันการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยเข้าไปจีนผ่านทางรถไฟลาว-จีนยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดให้มีการนำเข้าสินค้าได้เพียง 3 ประเภทเท่านั้นคือ ยางพารา-มันสำปะหลัง และสินแร่ ประกอบกับการเชื่อมต่อกับทางรถไฟไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ระยะที่ 2 ระหว่างท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะทาง 7.5 กม. ก็ยังติดปัญหาส่งมอบ ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางปี 2565

แต่ด้านการเจรจาการค้าไทย/อาเซียน กับจีน กลับมี “ความคืบหน้าไปมากกว่า” จนถึงขั้นลงนามในข้อตกลงพิธีสารเกี่ยวกับการส่งออก-นำเข้าผลไม้ทางบกผ่านประเทศที่ 3 กับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ลดภาษีเป็น 0 มาตั้งแต่ปี 2546 แต่ในทางกลับกันยังไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค

“ในทางปฏิบัติแม้จะมีข้อตกลงระหว่างกัน แต่ด่านการค้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ที่เชื่อมต่อเพื่อขนสินค้าเข้าไปยังถุูกปิดอยู่กว่าครึ่งหนึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาล สปป.ลาวจำกัดการเปิดด่านให้เหลือแขวงละ 1 ด่าน เฉพาะด่านสากล (บึงกาฬ-นครพนม-มุกดาหาร-เลย-หนองคาย)

ส่วนด่านจุดผ่านแดน จุดผ่อนปรน ยังปิดให้บริการ ส่งผลให้สินค้าผักและผลไม้จากไทย แม้ผ่านเข้าไปยัง สปป.ลาวได้ก็จะต้องผ่านพิธีการศุลกากรเข้าไปยังจีน เฉพาะที่ด่านโมฮาน-บ่อเต็น เพียงช่องทางเดียว แต่ก็ติดเรื่องด่านที่นั้นยังไม่พร้อม ที่ผ่านมาทำให้รถขนส่งสินค้าเข้าไปตกค้างจำนวนมาก และยังติดขั้นตอนการสอบโควิด-19 ของฝั่งจีนอีก” แหล่งข่าวกล่าว

ดังนั้นการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีนที่ฝ่ายไทยหวังว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านลาวเข้าไปยังจีน เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่า ในช่วงแรก “จีน” ได้ใช้ประโยชน์ขนส่งสินค้าผ่าน สปป.ลาวมายังประเทศไทยก่อน ล่าสุดตามข้อมูลศุลกากรพบว่า มีการนำสินค้าผักจากจีนเข้ามาแล้ว 33 ตู้ (บรรจุตู้ละ 20 ตัน) ในสัปดาห์แรกของการเปิดเดินรถไฟเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

โดยผักเหล่านี้จะถูกขนส่งขึ้นรถบรรทุกจากหนองคายมายัง “ตลาดไท” ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุด มีคนจีนเป็นเจ้าของพื้นที่เช่าเพื่อกระจายสินค้าในตลาดมากกว่า 20 เจ้า โดยสินค้าผักจะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีก 40-60 ตู้ และไม่เพียงแค่ผัก-ผลไม้เท่านั้น แต่มีสินค้าอื่น ๆ ที่จีนจะส่งผ่านทางรถไฟเข้ามาด้วย

โดยอัตราค่าบริการขนส่งสินค้าขนาด 20 ฟุตจะตกตู้ละ 11,444 หยวน หรือประมาณ 50,000-60,000 บาท ตู้สินค้า 40 ฟุต อัตราตู้ละ 15,921 หยวน หรือ 70,000-80,000 บาท เทียบกับการขนส่งทางเรือเข้ามาที่ด่านเชียงแสน ปรากฏมีการปรับค่าระวางขึ้นไปสูงมากกว่า 100% และยังเสียเวลามากกว่าการขนส่งขึ้นรถไฟลาว-จีน และส่งต่อเข้ามายังประเทศไทย

“ผักผลไม้จากคุนหมิงส่งขึ้นรถไฟจีน-ลาวมายังเวียงจันทน์ ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. รวมระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมงถึงชายแดนไทยที่หนองคาย ส่วนการขนส่งมาทางเรือขึ้นที่ด่านเชียงแสน อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 วัน นั้นแสดงให้เห็นว่าการขนส่งทางรถไฟช่วยประหยัดเวลามากกว่า”

ทั้งนี้ สถิติจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า การค้าข้ามพรมแดนจากจีน แยกเฉพาะที่นำเข้าผ่านทางด้าน สปป.ลาว ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2564 มีมูลค่า 139,395 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 61.74% โดยสินค้าหลักที่นำเข้าจากจีน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์-เทปแม่เหล็ก, เคมีภัณฑ์, ผลไม้และของปรุงแต่ง, วงจรพิมพ์, ส่วนประกอบและอุปกรณ์ตัวถัง เป็นต้น

24 ชม. ผักจีนมาถึงตลาดไท

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากเปิดรถไฟจีน-ลาวทำให้การส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากลาวเข้ามาใช้บริการรถบรรทุกมากขึ้น เท่าที่ประเมินเส้นทางรถไฟจีน-ลาวใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง และข้ามมาไทยอีก 1 ชั่วโมง จากนั้นรถบรรทุกจะขนตู้คอนเทนเนอร์ใช้เวลาเดินทางมาถึง “ตลาดไท” อีกไม่เกินครึ่งวัน แต่ช่วงนี้ยังไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น ดังนั้นจึงยังประเมินชัด ๆ ไม่ได้ และยังติดขัดเรื่องด่านเพราะมีสินค้าตกค้างที่ด่านโมฮานฝั่งจีนเป็นจำนวนมาก

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรฯมีความเป็นห่วงถึงปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ “ผักและผลไม้จากจีน” หลังจากเส้นทางโลจิสติกส์เปิดกว้างสะดวกมากขึ้น ทำให้สินค้าจีนสามารถส่งผ่านเข้ามาขายในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาเพียง 1 วัน และเดินทางข้ามพรมแดนแค่ 1 ชม. ส่งผ่านมาขายในตลาดไทด้วยการขนส่งด้วยรถหัวลากคอนเทนเนอร์เข้ามาได้เลย ทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย

เพราะเท่าที่เคยลงพื้นที่สำรวจการผลิตสินค้าเกษตรของจีนพบว่า สินค้าเกษตรจีนมีความได้เปรียบสินค้าเกษตรไทยทั้งด้านต้นทุนและการผลิต จีนมีการผลิตปุ๋ยเอง รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และมีพื้นที่ปลูกที่สภาพอากาศดียิ่งกว่าเมืองหนาวของไทย ส่งผลให้สินค้าผัก-ผลไม้เมืองหนาวไทยยากจะแข่งขันกับจีนได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ไทยจะกลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรเมืองหนาวจากจีน โดยเฉพาะบร็อกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง รวมถึงผลไม้ ส้ม, สตรอว์เบอรี่, สาลี่, องุ่น, แอปเปิล หรือลำไย ส่วนที่เป็นสินค้าส่งออกของไทยก็มีปลูกในพื้นที่ทางตอนใต้

“ผมห่วงที่สินค้าจีนจะทะลักเข้ามามาก เพราะรัฐบาลไทยไม่มีการตั้งรับเลย ไม่เห็นมีใครพูดถึงเรื่องนี้ การตั้งการ์ดก็ยังไม่ชัดเจน ไม่เหมือนที่ฝั่งจีนเค้ามีมาตรการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าจากไทยเข้มงวดมาก ในลักษณะคล้ายมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTB มีการสุ่มตรวจอย่าง ลำไย เจอเพลี้ยตัวเดียวก็ต้องหยุดส่งออก ไทยไม่ต่อรองอะไรเลย ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องวางมาตรการแบบนี้บ้าง การตรวจสอบสุขอนามัยพืช ทางกรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการอาหารและยา ต้องเข้มงวด ซึ่งไม่ใช่เพียงช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังช่วยประชาชนให้ได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยด้วย อย่างน้อยก็ต้องทำให้ชะลอไว้” นายประพัฒน์กล่าว

พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะว่า 1) รัฐบาลต้องตั้งการ์ดดูแลตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้มาตรฐาน 2) เกษตรกรต้องปรับตัวปรับการผลิตสินค้าเกษตรหนีตาย อย่าไปผลิตอะไรที่จีนผลิตได้ในจำนวนมาก โดยเกษตรกรไทยต้องปรับไปปลูกพืชเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปศุสัตว์สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือการปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูง เช่น ประดู่ แดง ชิงชัน ไผ่ ซึ่งจะส่งผลดีระยะยาว 3) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมในการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต 4) มาตรการเยียวยาผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งในกรณีสินค้าผักอาจจะไม่เหมาะที่จะใช้ประกันรายได้เพราะเป็นพืชอายุสั้นแค่ 40-45 วัน แต่มีความอ่อนไหวสูงมาก คำนวณส่วนต่างราคายาก ดังนั้นควรจะปรับมาเป็นการจ่ายเยียวยาความเสียหายไปเลยจะดีกว่า

SMEs ไทยขาดดุลการค้าจีนบาน

ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่า SMEs จะได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ซึ่งจะมีการระบายสินค้าจากจีนมาไทย และประเทศทางแถบเอเชีย เนื่องจากผลกระทบที่กำลังเผชิญปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐ ทำให้การเติบโตและขยายตลาดของสินค้าราคาถูกต้นทุนต่ำจากจีนทะลักเข้ามายังประเทศไทย ทั้งจากช่องทางปกติและ e-Commerce โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา, สินค้ามือถือและอุปกรณ์, สินค้าเครื่องกีฬาและอุปกรณ์กลางแจ้ง, สินค้าประเภทเกมและงานอดิเรก เป็นต้น

“ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจที่ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ ขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย จากข้อมูลภาพรวมการส่งออกของไทยไปประเทศจีนทั้งหมดในช่วง 9 เดือน ปรากฏมีมูลค่า 940,549 ล้านบาท โดยเป็น SMEs ไทยส่งออกไปประเทศจีนมูลค่า 184,493 ล้านบาท หรือ 19.6% แต่มีการนำเข้าของไทยจากจีนมีมูลค่า 1,720,646 ล้านบาท โดย SMEs นำเข้าจากจีน 454,891 ล้านบาท หรือ 26.44% เท่ากับ SMEs ไทยขาดดุลการค้าจีนถึง 270,398 ล้านบาท จากภาพรวมการค้าไทยที่ขาดดุลการค้ากับจีนถึง 780,097 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาคการผลิต 891,793 ล้านบาท ภาคการค้า 661,724 ล้านบาท ภาคการบริการ 123,966 ล้านบาท และภาคธุรกิจเกษตร 783 ล้านบาท” นายแสงชัยกล่าว

ดังนั้นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้านการส่งออกต้องเร่งดำเนินการปรับตัวและพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมมาปรับใช้ในภาคการผลิต เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถลดการนำเข้าสินค้าทุน ปัจจัยการผลิต วัตถุดิบจากจีน และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มไปในตลาดจีนมากขึ้น รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศทางการค้าที่ไม่ให้สินค้าจีนมี “แต้มต่อ” ทางภาษี เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าที่ไทยผลิตเอง


“การรุกหนักของสินค้าจีนในตลาดไทยส่งผลกระทบทั้งในแง่ของการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านช่องทาง e-Commerce ระบบโลจิสติกส์ก็มีนักลงทุนจีนเข้ามาสร้างศูนย์กระจายสินค้า รวมทั้ง e-Commerce platform ต่าง ๆ สัญชาติจีนที่ทะลักเข้ามา ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องร่วมกันทบทวนผลกระทบจากการรุกคืบครั้งนี้ของจีน ไม่ให้เศรษฐกิจฐานรากของไทยและตลาดของ SMEs ไทยต้องถูกทำลายลงไป” นายแสงชัยกล่าว