จตุรงค์ บุนนาค เร่ง “สะพานรถไฟไทย-ลาว”

ดร.จตุรงค์ บุนนาค
ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว
สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจาก สปป.ลาวได้ทำพิธีเปิดการใช้ทางรถไฟสายลาว-จีน อย่างเป็นทางการเป็นวันแรก เมื่อ 3 ธันวาคม 2564 เชื่อม 5 แขวงของ สปป.ลาว ไปถึงชายแดนจีนที่เมืองบ่อเต็น ด้วยระยะทาง 420 กม. ลิงก์เข้ากับทางรถไฟจีนไปจนถึงเมืองคุนหมิง เปิดช่องทางขนทั้งคนและสินค้าข้ามพรมแดนสะดวกและรวดเร็วขึ้น แต่ไทยพร้อม-ไม่พร้อมในการใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟเศรษฐกิจนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.จตุรงค์ บุนนาค” ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ถึงแนวทางการปรับตัวเพื่อรับโอกาสนี้

Q : รถไฟลาว-จีน 7 วันแรกเป็นอย่างไร

ช่วงแรกยังคลุมเครือ คือฮาร์ดแวร์สร้างเสร็จแล้ว แต่ซอฟต์แวร์ยังไม่พร้อม ทั้งกฎระเบียบและวิธีการยังมีความขลุกขลักในหลายเรื่อง

“ตอนนี้จะเป็นเฉพาะสินค้าผักที่เข้ามาทางหนองคาย ส่วนการส่งสินค้าไทยเท่าที่ได้รับข้อมูลด่านโมฮาน-บ่อเต็น วิธีการและเครื่องมือยังไม่พร้อม และมีมาตรการควบคุมโควิดซึ่งยังมีปัญหาและนโยบายจีนช่วงแรกเป็นการขนแร่ โดยเฉพาะโพแทชที่ผลิตในลาว สินค้ามันสำปะหลัง แบบเทกองไปก่อน ส่วนสินค้าจากไทยน่าจะส่งออกไปได้หลังสงกรานต์ หรืออย่างเร็วที่สุดหลังตรุษจีน น่าจะส่งออกได้”

Q : ผู้ส่งออกตื่นตัว

ก่อนหน้านี้ การขนส่งสินค้าบริเวณเส้นทางไทย-ลาวจะขึ้นอยู่กับสินค้า เช่น ถ้าเป็นการขนส่งสินค้าจากทางตะวันออกก็จะใช้เส้นทาง R12 เป็นหลัก เริ่มต้นจากด่านนครพนม ประเทศไทย ผ่าน สปป.ลาว ผ่านประเทศเวียดนาม และเข้าสู่ด่านในประเทศจีน แต่ถ้าเป็นสินค้าผักผลไม้ หรืออาหารสินค้าเกษตรทางภาคเหนือก็จะขนผ่านเส้นทาง R3A (เป็นทางหลวงนานาชาติที่เชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน ด้วยระยะทางประมาณ 1,240 กม. จากเชียงรายสู่คุนหมิง)

ผู้ส่งออกไทยตื่นตัวเตรียมจะใช้ประโยชน์อย่างมาก ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมทุเรียนไทยมีประชุมหารือกับสมาคมการค้าส่งเสริมเกษตรธุรกิจระหว่างประเทศ หรือ “IAPA” เพื่อเตรียมผลักดันการส่งออกผักและผลไม้ให้ได้ทันฤดูกาลปี 2565

ซึ่งปัจจุบันไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการลงนามในพิธีสารเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน 22 รายการ แต่ในส่วนของด่านโมฮาน-บ่อเต็น ยังมีอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อม การส่งออกยังติดขัด ต้องปลดล็อกก่อน

ซึ่งประเด็นนี้ กงสุลเกษตรที่จีนก็พยายามเร่งรัดจัดการแก้ไขปัญหาในเรื่องอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจสอบ คงได้หลังตรุษจีนหรือไม่ก็หลังสงกรานต์

Q : โอกาสในธุรกิจบริการ-การลงทุน

เรื่องการท่องเที่ยวหลัก ๆ คงต้องรอฝ่ายลาว และจีน มีการผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวออกมาเที่ยวได้ น่าจะหลังตรุษจีนเช่นกัน ดังนั้น ตอนนี้ก็ยังเป็นการท่องเที่ยวและการขนส่งในลาวเป็นหลัก เพราะนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางจากเวียงจันทน์ไปวังเวียงได้สะดวกขึ้น จากเดิมใช้รถก็จะใช้เวลา

แต่ช่วงแรกการเดินทางของคนก็ติดปัญหาระบบการซื้อตั๋ว (ซื้อปี้) ยังขลุกขลัก เพราะเหมือนยังอยู่ในระยะทดลอง ส่วนการเดินทางออกมาท่องเที่ยวประเทศไทยคงต้องรอหลังปี 2565 เช่นกัน

ขณะที่ภาคการลงทุนตอนนี้มีหลายธุรกิจที่กำลังมาพูดคุยกันถึงโอกาสการลงทุนในลาว เพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟไปจีน เช่น ธุรกิจบ่อกุ้ง กำลังเห็นโอกาสการลงทุนเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำกร่อยของลาว เพื่อส่งไปทางจีนตะวันตกซึ่งไม่มีทะเล นอกจากนั้นก็มีธุรกิจเกษตร ผัก ผลไม้ ที่น่าจะมีโอกาสลงทุน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในลาวเองมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความคืบหน้ามาก แต่ว่า 80-90% ของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนเป็นคนจีน ส่วนนักลงทุนไทยเองก็สนใจมากขึ้นที่จะไปลงทุนลาว ซึ่งตอนนี้สภามีสมาชิกประมาณ 100 ราย มีหลายจังหวัดที่ติดต่อขอทราบข้อมูลการลงทุนและขอให้สภาช่วยไปบรรยาย

เช่น ล่าสุดผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดอันดามันสนใจจะไปลงทุน หรือส่งสินค้าอาหารทะเลไปขายในลาว นอกจากนี้ก็มีผู้ประกอบการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง ประสานเข้ามาเช่นกัน

Q : ตอนนี้ถือว่าไทยตกขบวน

“คงยังไม่ใช่ตกขบวน แต่ยอมรับว่าไทยอาจจะยังช้าอยู่ ถ้าเรามีการเตรียมการใช้การขนส่งระบบราง สะพานรถไฟเชื่อมต่อลาว-ไทยควรทำให้เร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง”

ถ้าจะเริ่มขยับตอนนี้ สิ่งแรกคือรางรถไฟปลายทางของรถไฟลาว-จีน ที่พยายามจะเชื่อมต่อไทย แต่ทำไม่ได้ เพราะขนาดรางซึ่งฝั่งไทยมีขนาด 1.00 เมตร ฝั่งลาวมีขนาด 1.43 เมตร ต้องเชื่อมต่อราง ตอนนี้ต้องขนสินค้าด้วยเครน สลับขบวน กลายเป็นต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น

“ไทย-ลาวต้องเร่งสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีปัญหา missing link หากเราตัดสินใจตอนนี้จะต้องใช้เวลาสร้าง 2-3 ปี ฉะนั้นต้องรีบตกผลึก ทราบว่าที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการ 3 ประเทศไทย-ลาว-จีน เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ แบบแปลนก็มีแล้ว ประชุมล่าสุดไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่คืบหน้า”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ประเทศ ไทย-จีน-ลาว ได้มีการประชุมกันไป ซึ่งตามแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ จะสร้างห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยจะแยกเป็นสะพานเฉพาะสำหรับการเดินรถไฟเท่านั้น สำหรับโครงสร้างสะพานจะเป็นรูปแบบสะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องก่อสร้างโดยวิธีคานยื่นสมดุล

โดยสะพานแห่งใหม่จะมีระยะทางก่อสร้างรถไฟข้ามแม่น้ำโขง 1,500 เมตร อยู่ในพื้นที่ฝั่งประเทศไทย 750 เมตร และพื้นที่ฝั่งประเทศลาว 750 เมตร ความกว้างของสะพานประมาณ 7 เมตร รางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร 1 ราง รางรถไฟขนาด 1 เมตร 1 ราง รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับปริมาณการขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

ประเด็นเรื่องข้อมูลการใช้ประโยชน์ยังมีความสับสนอยู่ เช่นว่า ไทยเอาสินค้าขึ้นสู่ระบบรางไปจีนเลยได้หรือไม่ รถไฟมีตู้แช่หรือไม่ ราคาค่าขนส่งเป็นอย่างไร เรายังไม่มีข้อมูล ไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ ข้อมูลที่เอกชนหามาได้มีจากหลายทางก็ยังสับสน อย่างเช่นเรื่องตู้เย็น ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามี และในขบวนมีตู้ที่ทำหน้าที่ซัพพลายกระแสไฟฟ้า น่าจะเป็นโอกาส

Q : ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค

ที่ผ่านมาไทยพยายามที่จะสร้างความเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค เป็นฮับทุกอย่าง แต่เราไม่ได้ศึกษาเรื่องโลจิสติกส์เพื่อนบ้านเลย และมองว่าเราเป็นฮับทุกอย่างทางราง ทางเครื่องบิน ซึ่งผมว่าถ้าเรามองอย่างใส่ใจ เน้นสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค อย่าไปมองว่าเราเป็นฮับทุกอย่าง

Q : หากเส้นทางนี้ใช้เต็มร้อยจะให้ประโยชน์ต่อการค้าไทยมากน้อยเพียงใด

เมื่อเชื่อมโยงระบบราง การขนส่งสมบูรณ์จะทำให้ไทยสามารถลดต้นทุนการขนส่งลงไปได้ 67% ช่วยทำให้สินค้าไทยแข่งขันกับคู่แข่งได้

อย่างไรก็ตาม อีกด้านต้องกลับมามองว่า ลาวได้โควตาส่งสินค้าไปจีนเพราะเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เช่น โควตาสินค้าเกษตร ข้าว 20,000 ตันต่อปี ซึ่งบางปีลาวผลิตไม่พอที่จะส่ง และไทยกับลาวมีความร่วมมือกัน จะทำให้สินค้ากสิกรรมมีโอกาสมาก

ส่วนการทำพิธีสารสินค้าเกษตรกับจีนที่อนุญาตให้สินค้าไทย 22 รายการก็จริง แต่จีนมีพิธีสารกับลาวเช่นกัน และมีจำนวนมากถึง 87 รายการ หากมีความเป็นไปได้ ไทยก็ควรเจรจาเพื่อเพิ่มจำนวนสินค้าให้มากขึ้น

“ปี 2565 การค้าเฉพาะไทย-ลาว น่าจะขยายตัวได้ 15% ไม่นับรวมการค้าข้ามพรมแดนไปจีน เพราะตอนนี้ด่านยังเปิด ๆ ปิด ๆ หลังโควิดยังเปิดด่านไม่ถึงครึ่ง ถ้าเปิดด่านมากขึ้น และขยายการค้า cross border trade มากขึ้น โดยเฉพาะการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไปจีน ก็มีโอกาสเติบโตสูง”