“จุรินทร์” โชว์ผลงานแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีน

“จุรินทร์” ตอบกระทู้สดกลางประชุมสภา โชว์ผลงานแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ ล่าสุดเร่งหารือจีนจนเปิดทดลองระบบรถขนส่งผลไม้ผ่านด่านโม่ฮาน คาดเปิดเต็มรูปแบบต้นปี 65

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการตอบกระทู้ถามสดเกี่ยวกับปัญหาการส่งออกผลไม้และราคาผลไม้ กลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญประจําปีครั้งที่ 2) ณ ห้องประชุมชั้น 2 รัฐสภา ว่า การส่งออกผลไม้ไทยในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) ตลาดจีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด มีสัดส่วน 85%

ซึ่งแม้จะมีปัญหาอุปสรรคในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และมีปัญหาการปิดด่าน แต่การส่งออกก็ยังขยายตัวได้ถึง 86% เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลายครั้ง โดยเฉพาะด่านสำคัญ คือ ด่านโหย่วอี้กวนกับด่านโม่ฮาน ซึ่งโม่ฮานเป็นด่านใหญ่ เป็นด่านสำรองในการช่วยเวลาเกิดปัญหาที่ด่านโหย่วอี้กวน ให้สามารถมีช่องทางส่งผลไม้เข้าจีน

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างล่าสุด จีนได้ปิดด่านโม่ฮาน วันที่ 5 ต.ค.2564 จากมาตรการป้องกันโควิด-19 ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์และทูตเกษตร เจรจากับทางการจีนขอผ่อนปรนมาตรการ และวันที่ 1 พ.ย.2564 ได้พบกับเอกอัครราชทูตจีนคนใหม่ ฝากข้อความไปยังรัฐบาลจีนและผู้รับผิดชอบเร่งรัดเปิดด่าน เพียง 2 สัปดาห์ วันที่ 15 พ.ย.2564 ได้เริ่มเปิดทดลองระบบ และให้สินค้าไทยข้ามด่านโม่ฮานไปจีนได้ ภายใต้มาตรการคุมเข้ม ให้รถจากไทยเข้าไปจีนได้ไม่เกิน 150 คันต่อวัน และรถจากจีนเข้าไทยได้ไม่เกิน 180 คันต่อวัน มีการนำตู้คอนเทนเนอร์ติดรถกลับมาด้วย ทำให้มีตู้ส่งผลไม้กลับไปจีนได้

สำหรับผลการเปิดทดลองระบบ วันที่ 1-14 ธ.ค.2564 มีรถจากไทยส่งสินค้าไปจีนแล้ว 212 คัน มีทั้งลำไย ส้มโอ ทุเรียน กล้วยไข่ และวันที่ 11 ธ.ค.2564 ทูตพาณิชย์ไทยประจำคุนหมิง พบกับ Mr.Ai Zhen ผู้อำนวยการสำนักกิจการต่างประเทศของจีน หารือเร่งรัดการเปิดด่าน ซึ่งจีนพยายามผ่อนปรนและมีกำหนดเบื้องต้นว่าจะเปิดด่านเต็มรูปแบบให้ได้ในช่วงต้นปี 2565

ในด้านการป้องกันการปนเปื้อนโควิด-19 ในการส่งออกผลไม้ไปจีน ได้ดำเนินการคุมเข้ม ไม่เฉพาะทุเรียนกับลำไย แต่รวมผลไม้อื่น ๆ ทุกชนิด ตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง เอาผลไม้ขึ้นตู้ เข้าตู้ ปิดตู้ ก็จะมีการฉีดพ่นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงด่านชายแดน จะมีการตรวจสอบให้สินค้าปลอดเชื้อโควิด-19 รวมถึงผลไม้กระป๋องและอาหารทะเลกระป๋อง ดำเนินการตั้งแต่เกิดโควิด-19 ไม่เช่นนั้นตัวเลขการส่งออก ไม่บวกมหาศาลขนาดนี้ เพราะตระหนักว่าในสถานการณ์โควิด-19 ที่สำคัญที่สุด คือ สินค้าไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทั่วโลกได้ และสามารถออกใบรับรองให้ได้ มีมาตรการที่ครบถ้วน จึงสามารถนำเข้าจีนได้ เพราะนโยบายซีโร่โควิด-19 ที่เข้มงวด

ส่วนมาตรการดูแลผลไม้ปี 2565 ได้มีมาตรการเชิงรุกออกมาชัดเจนก่อนที่ผลไม้จะออก โดยมีมาตรการ 17+1 หรือ 18 มาตรการ โดยมาตรการ +1 เป็นมาตรการทางภาคใต้ ที่เพิ่มเข้ามา โดยมีมาตรการหลากหลาย ทั้งช่วยเหลือสนับสนุนผู้รวบรวมผลไม้ หรือล้ง กิโลกรัมละ 3 บาท ผู้ส่งออกกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อเร่งรัดส่งออก มีมาตรการหาตลาดล่วงหน้า การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อหาตลาดให้ผลไม้ล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ มีผู้นำเข้ากว่า 10 ประเทศ มาเจรจากับผู้ส่งออกไทย 180 บริษัท คาดว่าจะตกลงซื้อขายกันได้มาก

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เป็นข้อเท็จจริง แต่ไม่ขาดเฉพาะไทย ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทั่วโลก เป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศในโลก ซึ่งได้จับมือกับภาคเอกชนประชุม กรอ.พาณิชย์ แก้ปัญหาเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ช่วงหลังคลี่คลายขึ้น โดยปี 2563 สามารถสร้างจุดสมดุลได้ ความต้องการใช้ 1,100,000 ตู้ แต่มี 1,200,000 ตู้ แต่บางช่วงขาด เพราะบางเดือนใช้ตู้เยอะ เป็นอุปสรรคทั่วโลก ขณะเดียวกันประเทศยักษ์ใหญ่ที่สามารถจ่ายค่าตู้นำเข้าได้เยอะก็จะได้เปรียบ ซึ่งถือว่าแก้ปัญหาในภาพรวมได้ดี ถ้าไม่ดี การส่งออกไม่บวกขนาดนี้ 10 เดือนบวกเกือบ 40% ขณะที่เจอวิกฤตมากมาย รวมทั้งโควิด-19