ปตท.สผ. เตรียมรับไม้ต่อแหล่งเอราวัณ ทุ่ม 700 ล้านเหรียญ ฟื้นการผลิต

ปตท.สผ.กางแผนรับมือการเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณ G1/61 หลังรับไม้ต่อจากเชฟรอน เม.ย. 65 คาดต้องชัตดาวน์ 3 แท่น ปรับปรุง ลุยเจาะหลุมเพิ่ม ใช้เวลาอีก 24 เดือนฟื้นการผลิตจาก 200 เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตตามสัญญา PSC วางงบฯลงทุน 700 ล้านเหรียญ

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) ร่วมลงนามในข้อตกลง 3 ฉบับ ในการเข้าพื้นที่เพื่อโอนถ่ายการดำเนินงาน ส่งมอบการปฏิบัติงานของแหล่งเอราวัณ G1/61 ให้กับ PTTEP ED อย่างปลอดภัยในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งเชฟรอนจะหมดสัญญา

ปตท.สผ. คาดได้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณต้นปี’65 หลังล่าช้ากว่า 2 ปี

ทั้งนี้ข้อตกลงที่ลงนามมีทั้งหมด 3 ฉบับ

คือ ข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 (Site Access Agreement 2 หรือ SAA2) ข้อตกลงการโอนถ่ายการดำเนินงาน (Operations Transfer Agreement : OTA) และข้อตกลงการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน (Asset Retirement Access Agreement หรือ ARAA)

“การเข้าพื้นที่ในระยะที่สอง คือ การเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่น 8 แท่นใหม่ที่สร้างเสร็จแล้ว และเจาะหลุมต่อท่อเพิ่มจากที่สำรวจไว้ในระยะแรก เพื่อจะสานต่อการผลิตให้เป็นไปตามสัญญา PSC วันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่จากการเจรจาล่าช้ามาเป็นระยะเวลาสองปีนับจากทำสัญญา PSC ในปี’62 ทางเชฟรอนมีการผลิตก๊าซธรรมชาติ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ก็ลดกำลังการผลิตลงเรื่อย ๆ จาก 1,000 เป็น 620 และปัจจุบันอยู่ที่ 560 คาดว่าจนถึงเดือนเมษายนจะมีการผลิตอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิทธิ์ที่เชฟรอนสามารถลดกำลังการผลิตได้เพราะจะหมดสัมปทานแล้วและมีหนังสือแจ้งเรื่องการลดกำลังการผลิตเป็นขั้นบันได ให้กับคู่สัญญา ปตท. ซึ่งเป็นผู้รับซื้ออยู่แล้ว”

ADVERTISMENT

นายมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของความล่าช้าที่เกิดขึ้น 2 ปีและการลดกำลังการผลิตของเชฟรอน จาก 1,200 เหลือ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้อัตราการผลิตในปัจจุบัน ต่ำมากจนปริมาณแก๊สอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย (safety limit) ที่จะผลิตต่อหรือที่เรียกว่าทำให้เกิดช่องว่าง “ชอตฟลอร์” ในบางแท่น

ดังนั้นในการเข้าไปรับช่วงการผลิตในเดือนเมษายนนี้ ทาง ปตท.สผ.จำเป็นต้องชัตดาวน์แท่น 3 แท่น ซึ่งจะเหลือการผลิต 5 แท่นหลัก พร้อมทั้งต้องเร่งเจาะหลุมเพิ่ม ซึ่งปีแรกทำให้เราผลิตได้แค่ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรืออาจจะขยายกำลังการผลิตได้เล็กน้อยหากไม่กระทบกับความปลอดภัย ทั้งนี้ บริษัทจะใช้เวลาปรับปรุงการผลิต คาดว่าจะสามารถเพิ่มการผลิตให้กลับมาสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ภายใน 24 เดือนนับจาก เม.ย. 65

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ปตท.สผ.ได้เตรียมหาแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองเพื่อมาชดเชยแหล่งเอราวัณแล้วคือ 1) แหล่งบงกช (G2) ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะขยายเพิ่มได้อีก 125 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 2) แหล่งอาทิตย์ ซึ่งมีกำลังการผลิต 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะขยายเพิ่มได้ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 3) โครงการไทย-มาเลเซีย ซึ่งจะขยายเพิ่มได้ 30-50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมแล้วประมาณ 250 ถึง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือที่จะเติมเต็มให้ถึง 800 นั้นจะต้องมีการนำเข้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

“สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่จัดสรรมาชดเชยนั้นจะได้ในราคาใกล้เคียงกับราคาที่ตกลงไว้ในสัญญา PSC ซึ่งราคาจากแหล่งบงกชจะได้ เท่ากับสัญญาเดิมของบงกช ส่วนราคาของไทย-มาเลเซียเป็นราคาที่ฟิกซ์ไว้อยู่แล้ว จะมีเพียงราคาจากแหล่งอาทิตย์ที่เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญ”

“ทุกฝ่ายพยายามเจรจาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปี ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการตีความในสัญญาที่แตกต่างกัน และไม่ได้มีการเตรียมหลักเกณฑ์เรื่องการรื้อถอนไว้ เรื่องการหรือถอนทรัพย์สินที่ใช้ในการผลิตเป็นหน้าที่ของผู้รับสัมปทานเดิม ซึ่งจะต้องส่งมอบคืนประมาณ 140 แท่น และรื้อถอน nontransfer asset อีก 50 แท่น ซึ่งตอนนี้ก็ล่าช้าออกมาด้วยเช่นกัน

ตอนนี้เหลือเวลาอีก 4-5 เดือนคงถอนไม่ทันจึงได้มีการทำสัญญาสามฉบับดังกล่าว เพื่อตกลงว่าหากเชฟรอนจะเข้าไปทำการหรือถอนแล้วทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับการผลิตตามสัญญา PSC ของบริษัท ปตท.สผ. ก็จะถือเป็นความรับผิดชอบของเชฟรอน ส่วนประเด็นข้อพิพาทเรื่องการรื้อถอนนั้นเป็นเรื่องระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและทางเชฟรอนไม่เกี่ยวกับ ปตท.สผ.”

ส่วนกรณีที่ทางบริษัทเชฟรอนลดกำลังการผลิต เป็นประเด็นที่เชฟรอนมีสัญญาส่งก๊าซให้กับ ปตท. ซึ่งได้มีการแจ้งไปที่คู่สัญญาแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับ ปตท.สผ.เช่นกัน

“ผลการเข้าไปในพื้นที่ล่าช้า 2 ปี ซึ่งอาจจะมีผลต่อการส่งมอบก๊าซธรรมชาติตามสัญญา PSC ที่กำหนดไว้ 10 ปีหรือไม่นั้น ทางกรมเชื้อเพลิงได้รับทราบประเด็นนี้เกิดจากปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม และมีการพิจารณามาโดยตลอด ประเด็นนี้สามารถขยายระยะเวลาได้อยู่แล้วเรื่องขยายสัญญาจึงไม่ใช่ประเด็น”

นายมนตรีกล่าวว่า แผนการลงทุนเพื่อเข้าไปเปลี่ยนผ่านแท่นผลิตเอราวัณ ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและยังคงใช้งบประมาณตามแผนเดิมที่วางไว้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพียงแต่เลื่อนออกมาจากกำหนดเวลาเดิมเท่านั้น

“ปี 2565 ปตท.สผ.คาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ 467,000 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะมียอดขายสูงสุดถึง 417,000 ล้านบาร์เรล”

อนึ่ง ปตท.สผ.ได้เข้าประมูล PSC ในแหล่งเอราวัณ ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2561 และทราบผลการประมูลวันที่ 14 ธันวาคม 2561 จากนั้นได้ลงนามในสัญญา PSC ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ทาง ปตท.สผ.และทางกระทรวงพลังงานได้มีการเจรจาเพื่อขอเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณมาตลอดแต่ก็เกิดอุปสรรคความล่าช้าดังกล่าว