บูมลงทุน พลังงานสะอาด จ่อคลอดแผนพลังงานแห่งชาติ

การพัฒนาสู่พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว เป็นนโยบายหลักที่ “กระทรวงพลังงาน” ประกาศว่ารุกดำเนินการในปี 2565 โดยภายหลังจากระดับผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 เมื่อปี 2564 ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ว่า

ประเทศไทยจะบรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality” ในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการเป็นประเทศ Net Zero Emission ในปี ค.ศ. 2065 โดยแผนหลักต้องมีการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan 2022) และแผนพลังงานรายสาขา ปี 2561-2580 ใหม่ เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ดังกล่าว

ดึงลงทุนพลังงานสะอาด

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ และแผนพลังงานรายสาขา ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 2022 (2565) ซึ่งจะเสร็จในปีนี้ มีแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้มากที่สุด

โดย 10 ปีแรก คือเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งตอนนี้บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนสนใจ ก็พยายามโปรโมตเรื่องนี้ทั้งเรื่องพลังงานสะอาดรวมถึงเรื่องโซลาร์ด้วย ส่วนแผนไฟฟ้าที่เราเร่งทำ คือ กรีนและพลังงานสะอาด ซึ่งยังมองถึงเรื่องการนำเข้าไฟฟ้าจากการผลิตที่เขื่อนจากลาวที่มีต้นทุนไม่สูงนัก

“พลังงานหมุนเวียน หลักการคือ ราคาต้องไม่สูงจากการค้าปลีกของราคาการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หน่วยละ 2.80 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีบางอย่างที่ราคาสูงกว่านิดหน่อย อย่างเช่น ไบโอแมส ชีวมวล ไบโอแก๊ส โรงไฟฟ้าชุมชน แต่ภาพรวมมีประโยชน์หรือเรื่องของบีซีจีโมเดล แต่เราก็จะพยายามคอนโทรลไม่ให้สูง”

คู่ค้าโลกเรียกร้องพลังงานสะอาด

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันหากผู้ใดต้องการใช้พลังงานสะอาดแล้วยอมหรือยินดีจ่ายแพง นั่นคือเรื่องความต้องการของเขา ซึ่งเราต้องเข้าใจบริบทของภาพรวมร่วมด้วยว่าทิศทางพลังงานสะอาดต่อไปจะเป็นองค์ประกอบของการค้าขาย

เพราะในแต่ละประเทศที่เขามีการกำหนดกติกาชัดว่า ต้องการจะเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น ใครจะค้าขายกับเขาต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน เพราะถ้าท่านไม่เหมือนเขาจะค้าขายไม่ได้ ฉะนั้นผู้ประกอบการต่าง ๆ มีหน้าที่ต้องหันกลับมา “ลดก๊าซเรือนกระจก”

“ประเทศร่ำรวยเหล่านั้น เขายินดีที่จ่ายของแพงขึ้น เพื่อประโยชน์ที่จะลดปัญหาสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งถ้าเราไม่ประสบเหตุการณ์แบบประเทศเหล่านั้นจึงไม่รู้สึก เหมือนคนที่เจอสึนามิ ก็รู้ดีว่าสึนามิอันตรายขนาดไหน และไม่อยากให้มันเกิด เมื่อประเทศเหล่านั้นเขาเห็นแล้ว เช่น ล่าสุดที่เคนทักกีมีทอร์นาโด 30 กว่าลูกเข้ามา คนเสียชีวิตเป็นร้อย

ประเทศตะวันตกเหล่านั้นเขาเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมีมูลค่าความเสียหายเกินกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ ต่อไป หากเรายังจะใช้การบริโภคแบบนี้ด้วยวิธีการแบบนี้เขาจึงกำหนดเป็นกติกามา ทุกอย่างต้องยึดติดบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จะยึดแบบเดิมไม่ได้ หากผู้ประกอบการไทยยังยึดแบบเดิม การค้าขายก็ยังคงทำได้ แต่คงยากขึ้น”

ในปี 2565 เราจะก้าวสู่ “ยุคพลังงานสะอาด” ต้องร่วมมือพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการทำงานจากนี้ไปต้องทำงานกัน เช่น ไฟฟ้าจะเกิดไม่ได้ถ้ากระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรมไม่ทำงานร่วมกัน อุตสาหกรรมต้องมีการกำหนดสเป็กมาตรฐานเกี่ยวกับไฟฟ้า 100 กว่าชนิด เพื่อที่จะให้คนไทยได้มีโอกาสใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

วันนี้ทำไปแล้ว 90 กว่าชนิด เรื่องของการซื้อขายคาร์บอน เรื่องการปลูกป่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้มีพลังงานสะอาด ได้มั่นใจ เพื่อจะได้ไปยืนยันได้ว่ามีพลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต

ลุยต่อโรงไฟฟ้าชุมชน 400 MW

“ไม่ได้บอกว่าเราจะหลับหูหลับตาทำพลังงานสะอาดทำของแพง แต่เรามีการนำเรื่องการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านที่ราคาไม่แพงมาถัวต้นทุนพลังงานสะอาดด้วย หรือการผลิตไฟฟ้าชุมชนที่ผลิตออกมาราคาไม่สูงมาก หน่วยละ 3.18 บาท ปีหน้าจะเดินต่อโครงการนี้ในเฟส 2

แต่จะต้องรอดูการดำเนินงานก่อนว่า สำหรับโครงการเฟสแรกที่เซ็นไปแล้ว 43 ราย กำลังการผลิต 149.50 เมกะวัตต์ (MW) ที่มีการดำเนินการจริงร่วมมือกันจริง การปลูกพืช โดยเรามีเป้าหมายรวม 400 เมกะวัตต์ ใน 4 ปี”

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่ใช้พลังงานแก้ปัญหาของภาคเกษตร ซึ่งในช่วงก่อนสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)

ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรื่องการปลูกพืชพลังงานทำโรงไฟฟ้าชุมชน มีการวางแผนตั้งแต่ต้นว่ามีการใช้โมเดลแบบนี้จะทำให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ทำให้ปลูกพืชมีรายได้ เป็นการเริ่มต้นและบูรณาการ

เกษตรกรขายเชื้อเพลิง 33,000 ล้าน

สำหรับมีผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) 43 ราย คิดเป็นการผลิตไฟฟ้ารวม 149.50 เมกะวัตต์ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล 16 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์

ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็นภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคอีสาน 13 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง และภาคใต้ 9 แห่ง ทั้งนี้ ทุกโรงมีกำหนดวันจ่ายไฟเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ภายใน 36 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา หรือ 21 มกราคม 2568 โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นเวลา 20 ปี

ทั้งนี้ คาดว่าภาพรวมจากการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในระยะที่ 1 จำนวน 43 โครงการ จะช่วยสร้างเงินหมุนเวียนให้กับระบบเศรษฐกิจ 27,000 ล้านบาท ในเวลา 20 ปี ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมประโยชน์ในการสร้างอาชีพ 23,000 อัตรา ช่วยลดการย้ายถิ่นฐาน เกษตรกรมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงระยะเวลา 20 ปี 33,000 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 480,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี


นอกจากนี้ยังมีแผนจับมือชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่ชุมชน โดยกระจายการลงทุนทั่วประเทศ 1,900 ล้านบาท ในพื้นที่ 76 จังหวัด ซึ่งจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนด้วย