ผวาข้าวนุ่มกัมพูชารุกตลาดอียูไร้โควตาภาษี 0%

“ข้าวนุ่มกัมพูชา” ผงาดคว้าสิทธิส่งออกอียู เสรีไร้โควตาภาษี หวั่นส่งออกข้าวไทยเดี้ยง เร่งแก้เกมดึงตลาดสหรัฐ ฮ่องกง จีน ด้านสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแนะปรับรูปแบบขนส่งไม่ต้องรอค่าระวางเรือ คาดปัจจัยเสี่ยงตู้คอนเทนเนอร์ยังขาดยาวถึงไตรมาส 2

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด หรือข้าวตราฉัตรกล่าวว่า การแข่งขันส่งออกข้าวปี 2565 มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น เพราะขณะนี้กัมพูชาจะได้รับการผ่อนผันให้ส่งออกข้าวขาวพื้นนุ่มไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU)

โดยไม่มีภาษี และไม่จำกัดจำนวน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยจะมีโควตาส่งออกข้าวไปตลาดอียูเป็นปกติปีละ 26,000 ตัน

ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันเร่งรัดหาทางดึงส่วนแบ่งตลาดสหรัฐ ฮ่องกง จีนกลับมาให้มากขึ้น เพื่อชดเชยไม่ให้เสียส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกไป

ขณะเดียวกัน ไทยต้องการพัฒนาพันธุ์ข้าวซึ่งนับเป็นจุดอ่อนของไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดปรับปรุงอย่างมาก หากมองแต่ละชนิด อาทิ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวไวแสง สามารถปลูกได้ครั้งเดียว ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 340 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ ต้นทุนต่อไร่สูง นั่นทำให้ราคาส่งออกเฉลี่ยสูง 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นเหตุที่การส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยจึงนิ่งอยู่ปีละ 1.4 ล้านตัน

เทียบกับข้าวขาวพื้นนุ่มของเวียดนามที่เริ่มพัฒนาคุณภาพ มีกลิ่นหอมคล้ายหอมมะลิของไทย ราคาส่งออกเฉลี่ยเพียง 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้น ภาพการแข่งขันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถขยายการส่งออกกลุ่มข้าวนุ่มได้มากขึ้น

สามารถแย่งตลาดส่งออกในกลุ่มแอฟริกาตะวันตก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไปได้มากขึ้น และยิ่งที่มีการผ่อนผันให้กัมพูชาส่งเข้าตลาดอียูได้ยิ่งทำให้ไทยต้องเพิ่มความระมัดระวังที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาด

โดยเฉพาะตลาดข้าวขาว เช่น แอฟริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เริ่มหันมานิยมข้าวนุ่มมากขึ้น ราคาใกล้เคียงข้าวขาวไทย แต่ความหอมคล้ายกับข้าวหอมมะลิไทย

แนวทางปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขัน ไทยควรเร่งพัฒนาข้าวนุ่มราคาไม่สูงมาก ส่งเสริมพันธุ์หอมพวงที่มีผลผลิตสูงมาก แต่ยังไม่ได้รับการรับรองให้สามารถได้รับการรับรองและออกมาทำตลาดเพื่อดึงส่วนแบ่งตลาดข้าวนุ่มกลับมา 1.6-2 ล้านตัน จากเวียดนามที่จากเดิมไทยเคยเป็นผู้ครองตลาด

ขณะที่ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไทยต้องให้ความสำคัญอย่างมากหลังจากนี้ คือ นโยบายเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าชเรือนกระจก การผลิตที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไทยมีการทำนา

โดยวิธีการปล่อยน้ำขัง นั้นอาจมีการปล่อยก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศสูงมาก ซึ่งรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ถ้าไทยไม่ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายก๊าซเรือนกระจกของอียูทั้งหมดใน 3-5 ปีนี้การส่งออกจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกันสายการเดินเรือที่เริ่มจ่ายเนื่องจากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วยังมีก๊าซมีเทนที่รุนแรงกว่า คาดว่าจะส่งผลให้ไทยต้องจ่ายในส่วนของข้าวมหาศาลประมาณตันละ 200-300 เหรียญสหรัฐ ทั้งหมดนี้หากผู้นำเข้าตั้งเงื่อนไขและเกิดการเปรียบเทียบกับการทำนาของประเทศอื่นจะเป็นข้อจำกัด จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังและควรติดตามอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยจะจัดการควบรวมแปลงใหญ่ ต้องปรับโครงสร้าง เพาะปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นการปรับระบบชลประทานให้มีทางเข้า-ออกของน้ำที่ชัดเจน เพื่อทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการปล่อยก๊าซในบางช่วง ป้องกันผลกระทบกับการส่งออกของไทยในทุกสินค้าอีกด้วย

ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยยังคงเผชิญปัญหาค่าระวางเรือซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้วไม่ใช่แค่ไทย และประเมินกรณีแย่ที่สุดน่าจะเผชิญลักษณะนี้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม

ขณะที่แนวโน้มส่งออกปีนี้ (2565) คาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 5% ถ้าปัญหาระวางเรือสามารถแก้ไขได้ ตลาดเปิด ไทยจะโตขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม สรท.มีข้อเสนอแนะ 5 ข้อสำหรับผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าข้าว 1.ควรวางแผนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยไม่ต้องรีรอ 2.ทำ service contract กับสายเรือและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อยืนยันการนำเข้า-ส่งออก

3.ปรับปรุงการขนส่งให้มีทางเลือกที่หลากหลาย 4.ใช้รูปแบบ incoterm ให้เหมาะสมกับธุรกิจ 5.เลือกใช้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพรวดเร็ว บริการบริหารจัดการต้นทุนขนส่งต่อเนื่อง

พร้อมทั้งขอให้ผู้ประกอบการทุกสินค้าระมัดระวัง 3 แพง 1.วัตถุดิบแพง 2.ค่าพลังงาน การขนส่งแพง 3.ค่าแรงงานแพงขาดแคลนแรงงานสูง ประกอบกับต้องเฝ้าระวังเงินเฟ้อว่าจะรุนแรงระดับใด