“โรงสี” เหลือไม่ถึงพันราย การค้าเปลี่ยน-ทายาทไม่รับไม้ต่อ

สัมภาษณ์พิเศษ

ในช่วงของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวถือเป็นยุคทองของผู้ประกอบการโรงสี ที่มีการลงทุนเพิ่มกำลังผลิตจนมากกว่ากำลังการผลิตข้าวถึง 3 เท่า แต่ภายหลังเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายการรับจำนำถูกยกเลิก ธุรกิจโรงสีที่มีจำนวนมากต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด ด้วยการแย่งซื้อข้าวด้วยราคาที่สูง เพื่อให้มีวัตถุดิบมาสีขาย หลายรายเริ่มประสบภาวะขาดสภาพคล่อง ขาดทุนหมุนเวียน หลายรายขาดทายาทสืบต่อ

ส่วนผู้ประกอบการโรงสีข้าวที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ต้องผันตัวสู่การทำ “ธุรกิจเสริม” มากขึ้น เพื่อต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ โดยคนรุ่นใหม่ที่เข้ามารับไม้สานต่อธุรกิจโรงสีเดิมที่ปู่ ย่า ตา ยาย สร้างมา ถึงรุ่นพ่อ แม่ เพราะหากยังทำธุรกิจเหมือนเดิมไม่ปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลาด ผู้ซื้อก็ยากที่จะอยู่รอดได้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นายรังสรรค์ สบายเมือง” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการโรงสีในปี 2565 นี้

โรงสีปัจจุบันเหลือหลักร้อย

ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโรงสีมีจำนวนลดลง หากนับจำนวนที่มีอยู่ในสมาชิกของสมาคมโรงสีข้าวไทย ประมาณกว่า 400 ราย และอยู่นอกสมาคมประมาณ 100 ราย ลดลงต่อเนื่องจากจำนวน 1,000 ราย ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าวเป็นช่วงที่มีจำนวนผู้ประกอบการโรงสีที่มีมากที่สุด ภายหลังไม่มีโครงการผู้ประกอบการก็ลดจำนวนลงจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการเลิกกิจการโรงสีจากไม่มีโครงการจำนำข้าวแล้ว การลดลงยังมาจากปัจจัยการแข่งขันการซื้อ-ขายที่ยังคงสูงทุกปี บางรายเลิกกิจการเพราะหากยังดำเนินการต่อไปก็ไม่คุ้มกับการลงทุนหรือรายได้ที่จะเข้ามา เลิกกิจการจากปัญหาขาดทุน ขาดเงินหมุนเวียนในการรับซื้อข้าว เลิกกิจการเพราะต้องการไปทำกิจการ ธุรกิจอื่น หรือแม้กระทั่งไม่มีการสืบทอดกิจการจากคนรุ่นใหม่ เป็นต้น โดยที่ผู้ประกอบการโรงสีที่ยังคงดำเนินกิจการได้ก็เพราะการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ การแข่งขันหรือเป็นกิจการที่ตกทอดรุ่นสู่รุ่น

“แม้ว่ากิจการโรงสีปัจจุบันก็ยังกระจายทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องซื้อเฉพาะในเขตพื้นที่ตัวเอง แต่อนาคตจะมีการประกอบกิจการโรงสีเพิ่มขึ้นไหม ตอบไม่ได้”

คนรุ่นใหม่สู่กิจการเสริม

ผู้ประกอบการโรงสีที่ผันตัวประกอบกิจการอื่น ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น มีทั้งที่เป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม เช่น การผันตัวจากผู้ประกอบการโรงสีไปเป็นผู้ส่งออกข้าว ก็มีให้เห็นมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นก็มีการผันตัวไปทำกิจการอื่นเพิ่มเติม โดยนำวัตถุดิบที่ตัวเองมีมาผลิตเป็นสินค้าเพื่อขาย ส่งออก การเข้าไปส่งเสริมให้มีผลผลิตมากขึ้น เช่น การทำนาหยอด เป็นต้น

เทคโนโลยี การค้าเปลี่ยนไป ส่งผลให้ลูกหลานที่เข้ามารับช่วงต่อกิจการจากรุ่นพ่อ แม่ คิดว่าจะเพิ่มอะไรได้ ต่อยอดจากสินค้าที่มีอยู่อย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้เข้ามามากที่สุด ทุกคนก็ต้องมีการปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม การแข่งขันที่มี

“สมัยก่อนเครื่องสีข้าวก็จะไม่ทันสมัย สีที่มีฝุ่นเยอะ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว มีการพัฒนาเครื่องสีข้าวที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีฝุ่น ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงหันมาใช้ไฟฟ้ามากขึ้น การทำโซลาร์รูฟท็อปมาใช้งาน เพื่อประหยัดไฟฟ้าในโรงสีข้าว จะเห็นว่าผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเองให้อยู่รอดและแข่งขันได้”

โรงสีน้อยลงแต่ยังแข่งขันสูง

ตอนนี้การแข่งขันของผู้ประกอบการโรงสีในการรับซื้อ-ขายข้าวยังเป็นเรื่องปกติ หากต้องการซื้อก็ต้องแข่งขันกันด้วยราคา ปัจจุบันยังยืนยันว่าผู้ประกอบการโรงสีข้าว พร้อมรับซื้อข้าวจากชาวนาทุกเม็ด สภาพคล่องของผู้ประกอบการก็ยังมี มีเงินเพียงพอจะรับซื้อข้าวจากชาวนา

“แม้การรับซื้อข้าวจากชาวนาแต่ละครั้งนั้นจะใช้เงินทุนสูง และแต่ละครั้งใช้เงินสด ต่างจากการขายข้าวให้ผู้ส่งออกที่ซื้อ-ขายในลักษณะสินเชื่อ ตั้งแต่ 5-60 วัน เป็นต้น ก็จะมีผลต่อสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อ-ขายข้าวบ้าง แต่หากโรงสีบริหารจัดการดี การรับซื้อ-ขายข้าวก็ยังคงดำเนินการได้ สภาพคล่องของโรงสีปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่มีปัญหา สถาบันทางการเงินเองก็ยังคงปล่อยกู้ให้กับโรงสี แม้จะมีเงื่อนไขที่เข้มงวดมาก แต่ยังคงเชื่อว่าหากโรงสีจัดการดี มีวินัย การเข้ากู้เงินจากธนาคารก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะโรงสีกับธนาคารทำงานร่วมกันมานาน”

เตรียมรับ “ข้าวนาปรัง”

การเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 2564/2565 ตอนนี้มีการเก็บเกี่ยวไปหมดแล้ว ข้าวออกสู่ตลาดแทบจะไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่ข้าวจะอยู่ในมือชาวนาที่ยังคงเก็บไว้ข้าว โดยรอดูจังหวะข้าวราคาขึ้นและเก็บไว้กินบ้าง และอีกส่วนก็อยู่กับโรงสี ผู้ส่งออกแต่คาดว่ามีไม่มากแล้ว

“ตอนนี้เริ่มเข้าสู่การเพาะปลูกข้าวนาปรังครอปแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่ชลประทาน พื้นที่ที่มีน้ำ หลายพื้นที่ก็ปลูกกันไปเยอะแล้ว ส่วนคาดการณ์ผลผลิตจะออกมาเท่าไร ราคาเป็นอย่างไร อาจจะต้องรอประเมินกันในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นมีนาคม 2565 ได้ ตอนนี้ยังคาดการณ์ลำบาก”

“ราคาข้าวนั้นถือว่าปรับตัวขึ้นมาจากตั้งแต่ปลายปี 2564 เล็กน้อย โดยราคาข้าวขาว ความชื้น 15% อยู่ที่ 8,200-8,300 บาทต่อตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจาก 7,200-7,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก ข้าวหอมมะลิ ความชื้น 15% อยู่ที่ 12,000-12,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจาก 9,800-10,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก ข้าวเหนียว อยู่ที่ 12,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจาก 7,500-8,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก”

อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด-19 นั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อชาวนามากนัก มีเพียงปัญหาการดำเนินชีวิต การต้องไปสถานที่ราชการต่าง ๆ บ้าง แต่สิ่งที่จะกระทบคงเป็นเรื่องของค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล