“ศรีตรัง” ทำสถิติกำไร 1.58 หมื่นล้าน ขยายลงทุน 14 โปรเจ็กต์ปั๊มยอด

ศรีตรัง โกล์ฟ

ตลาดยางพาราฟื้น “ศรีตรัง” กวาดกำไร 1.58 หมื่นล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทุ่ม 1.6 หมื่นล้าน ลงทุน 14 โครงการ เร่งเครื่องเพิ่มกำลังการผลิต “ยางแท่ง-น้ำยาง-ถุงมือยาง” รับตลาดโตต่อเนื่อง เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ถุงมือยางการแพทย์-กัญชงลอตแรก เม.ย.นี้ ป้อนลูกค้าโรงงานเครื่องดื่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคายางปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้น 27% จากปี 2563 โดยปัจจุบันน้ำยางสดอยู่ที่ประมาณ 71 บาท/กิโลกรัม, ยางแผ่นรมควันชั้นสาม 68 บาท, ยางแผ่นดิบ 65.5 บาท เป็นแรงส่งให้ธุรกิจกลุ่มยางธรรมชาติ (ยางแท่ง ยางแผ่น และน้ำยางข้น) และถุงมือยางของบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ทำรายได้ถึง 1.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.7% และมีกำไรสุทธิ 15,846 ล้านบาท เติบโต 66.3%

ถือเป็นการทำสถิติกำไรสุทธิสูงสุดในรอบ 34 ปีนับตั้งแต่เปิดบริษัทมา ขณะที่สถานการณ์วิกฤตยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ แน่นอนว่าส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกกลุ่มรวมถึงยางคึกคักตามไปด้วย

กำไรทำสถิติสูงสุด

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้บริษัทมองว่าในเชิงปริมาณการขายธุรกิจยางธรรมชาติจะเติบโต 23% หรือประมาณ 1.6 ล้านตัน ส่วนถุงมือยางคาดว่าจะเติบโต 36% จากปีก่อนที่ได้ 27,000 ล้านชิ้น เพิ่มเป็น 37,000 ล้านชิ้น ถือว่าเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ภาพรวมศรีตรังมียอดขายเพิ่มขึ้น 57% ในส่วนของยอดขายยางธรรมชาติเติบโต 25% โดยบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยประมาณ 30% และในตลาดโลก 10% ส่วนปริมาณการขายถุงมือยางเพิ่มขึ้น 21%

“ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 15,846 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์กว่า 34 ปี ทั้งที่เผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์ค่าระวางปรับสูงขึ้น ความหนาแน่นของท่าเรือขนส่งสินค้า และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในโรงงาน แต่ยังเติบโตจากการที่บริษัทได้รับการสั่งซื้อจากกลุ่มผู้ผลิตล้อยาง (รถยนต์)

ส่วนหนึ่งเพราะที่เคยเป็นลูกค้าของอินโดนีเซียหันมาสั่งซื้อจากไทยแทน ตั้งแต่ประมาณปลายปี เพราะอินโดนีเซียประสบปัญหาเรื่องโรคใบร่วงทำให้ซัพพลายลดลงจาก 3.5 ล้านตัน เหลือ 2.8 ล้านตัน และราคาขายของอินโดนีเซียแพงกว่าไทย กก.ละ 6 บาท ทำให้เป็นปีที่ยางธรรมชาติฟื้นตัว เราไม่เห็นราคายาง 3 กิโล 100 บาทเลย”

วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล

จับตาวิกฤตยูเครน-เฟด

นายวีรสิทธิ์ระบุว่า สำหรับปีนี้ยอดขายอาจจะต้องมองเป็นเดือนต่อเดือน จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน ทั้งจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ปีนี้เฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 5-7 ครั้ง หากปรับจริงก็จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงยางพาราด้วย

อย่างไรก็ตามประเมินว่าราคายางน่าจะยังเป็น “ขาขึ้น” อยู่ในแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หวือหวาเหมือนราคาถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือทองคำ ล่าสุด ณ วันนี้เห็นราคายางไป 180 เซนต์ต่อกิโลกรัมแล้ว จากปีก่อน 130-140 เซนต์ต่อกิโลกรัม จึงมองว่าปีนี้คงไม่ต่ำกว่า 170 เซนต์ต่อกิโลกรัม

โดยบริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จากยางธรรมชาติจะโตดีต่อเนื่อง จากตลาดยานยนต์เติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วน 90% ซึ่งตลาดหลักทั้งสหรัฐ จีน เติบโตสูง ส่วนรายได้จากถุงมือยางอาจจะเติบโตแต่จะชะลอตัวลงบ้าง เพราะปริมาณการขายเพิ่ม แต่ราคาถุงมือยางเริ่มอ่อนตัว

“กรณีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกระทบแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากกว่า หากมีวิกฤตแต่ยังสามารถค้าขายกันได้ปกติ ส่วนผลกระทบต่อราคาโภคภัณฑ์บางตัว อย่างก๊าซธรรมชาติโดนก่อน เพราะรัสเซียจะถูกแซงก์ชั่นจากสหรัฐ ยุโรป ทำให้ราคาน้ำมันเห็น 100 เหรียญสหรัฐแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องการเก็งกำไรมากกว่า แต่จะอยู่ในระดับนี้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับจะมีการเก็งกำไรเพิ่มไหม ส่วนค่าระวางเรืออาจจะปรับขึ้นอีก โดยที่ผ่านมามีปัญหาจากความแน่นของสายเดินเรือ เพราะโควิดทำให้คนต้องหยุดงานไม่สามารถมาโอเปอเรตได้ ซึ่งตอนนี้เริ่มคลายขึ้นมากแล้ว”

เข้มแผนคุมโควิด

นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนราคายางในประเทศขณะนี้ที่ยังปรับสูงขึ้น เพราะยังเป็นช่วง “ฤดูกาลปิดกรีด” (ก.พ.-พ.ค.) ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย ซึ่งแนวโน้มผลผลิตยางของไทยปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% หรือ 4.9-5.0 ล้านตัน จากเดิมตั้งแต่ปี 2012-2020 ราคายางของไทยตกต่ำลงมาตลอดทำให้ 10 ปีที่ผ่านมาชาวสวน “โค่นยาง” ไปปลูกทุเรียนหรือพืชอื่นมากขึ้น ซัพพลายใหม่จึงมีปริมาณเพิ่มไม่มาก

สำหรับในส่วนของโรงงานยางแท่งและน้ำยาง ปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยประมาณ 75% จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับส่วนหนึ่งติดเรื่องการแพร่ระบาดโควิดทำให้ต้องหยุดบางโรงงาน อย่างไรก็ตามปีนี้ทุกโรงงานมีความพร้อมเรื่องการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด โดยมีทีมงานดูแลและติดตามต่อเนื่อง

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโอมิครอนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีพนักงานติดเชื้อโควิดเพิ่ม แต่บริษัทก็ไม่ประมาท โดยมีการจัดหาและฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับพนักงานและครอบครัวและซัพพลายเออร์ไปแล้ว 11,000 โดส ติดต่อโรงพยาบาลหรือศูนย์การแพทย์พร้อมทำการรักษาเลย และยังมีโรงพยาบาลสนามของเราด้วย

ทุ่ม 1.6 หมื่นล้านขยายโรงงาน

นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า ในปี 2565-2567 กลุ่มศรีตรังมีแผนการขยายโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการขยายในพื้นที่เดิม รวม 14 โครงการ ซึ่งตามแผนจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 43% เป็นปริมาณ 4.16 ล้านตัน และสามารถขยายกำลังการผลิตได้เต็มที่ถึง 5-6 ล้านตัน

สำหรับในปี 2564 ศรีตรังวางงบประมาณเพื่อขยายการลงทุนโรงงานยางแท่ง น้ำยาง และถุงมือยางไว้ที่ 16,000 ล้านบาท (ยางแท่ง/น้ำยาง 6,000 ล้าน ถุงมือ 10,000 ล้าน) โดยกระบวนการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 คาดว่าในปีนี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างน้อย 10 โครงการ อาทิ โรงงานยางแท่งในจังหวัดสกลนคร พิษณุโลก ตรัง บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ สระแก้ว บึงกาฬ และโรงงานน้ำยาง จ. สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ และนราธิวาส

ส่วนโรงงานถุงมือยาง มีการขยายการลงทุนเพิ่ม 10,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตถึง 1 แสนล้านชิ้นในปี 2569 อีกประมาณ 4 ปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 48,000 ล้านชิ้น เป็นการขยายการลงทุนโรงงานตรัง 3, สงขลา และชุมพร ส่วนในปีหน้าจะมีตรัง 4 และตรัง 5 เป็นโครงการต่อเนื่อง

สำหรับแหล่งเงินลงทุน 16,000 ล้านบาท นำมาจากเงินไอพีโอที่เหลือ รวมถึงการเสนอขายหุ้นกู้และผลกำไรที่สร้างได้ระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งบริษัทพยายามกระจายแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง

บุกตลาดถุงมือการแพทย์

นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น “ถุงมือยางทางการแพทย์” (sergical) ในช่วงไตรมาส 4 ถุงมือยางชนิดนี้จะเป็นคนละเซ็กเมนต์กับถุงมือยางที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน โดยบริษัทได้วิจัยและพัฒนาคิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยาง และเพื่อรองรับความต้องการใช้ถุงมือทางการแพทย์ในประเทศ ซึ่งมีขนาดตลาดประมาณ 20 ล้านชิ้นต่อปี

ดังนั้นหากสามารถผลิตในประเทศได้ทั้งหมด ประเทศไทยก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าเพราะโรงงานของศรีตรังจะมีกำลังการผลิต 20 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารขออนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อวางจำหน่ายตลาดในประเทศ และในอนาคตมีแผนขยายไปสู่การส่งออก

“ถุงมือทางการแพทย์ถือเป็นก้าวใหม่ของเรา ตอนนี้ผลิตได้แล้วแต่กำลังอยู่ระหว่างรอเปเปอร์เวิร์กกับหน่วยงานต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือผ่าตัดก็ต้องรอนานกว่าปกติ คาดว่าจะเริ่มออกโปรดักต์และขายได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ด้วยกำลังการผลิตอยู่ที่ 20 ล้านชิ้น/ปี เป้าหมายเบื้องต้นจะเน้นตลาดในประเทศก่อน จากนั้นก็ค่อยพัฒนาไปสู่การส่งออก”

นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า ความพิเศษของถุงมือทางการแพทย์ชนิดนี้คนละเกรดกับถุงมือเอ็กซ์แซม ซึ่งมีราคาสูงกว่าและกำไรต่างกัน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางธรรมชาติ ด้วยจุดแข็งของบริษัท รวมทั้งจะช่วยประเทศลดการนำเข้า และยังเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกในอนาคตด้วย

ขยายแนวรบธุรกิจกัญชง

นอกจากนี้กลุ่มศรีตรังได้ขยายเข้าสู่ “ธุรกิจกัญชง” โดยนำร่องทดลองปลูกบนพื้นที่ 5 ไร่ อ.เถิน จ.ลำปาง คาดว่าเฟสแรกจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณสิ้นเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2565 เพื่อส่งจำหน่าย “เมล็ด-ใบ-ราก” ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่ม ซึ่งตลาดขณะนี้อยู่ในช่วงการทดลองออกสินค้าเช่นกัน หากตลาดทุกอย่างมีความเข้มแข็งแล้ว บริษัทก็พร้อมที่จะสเกลอัพขึ้นไป

สำหรับในช่วงแรกรายได้ธุรกิจกัญชงคิดเป็นสัดส่วนไม่มากหากเทียบกับรายได้ภาพรวมของศรีตรัง แต่ข้อดีของโครงการนี้คือ การสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัท รับเบอร์ แอนด์ แพลนเทชั่น บริษัทในเครือศรีตรัง ที่เป็นผู้ปลูกกัญชง ซึ่งแต่เดิมบริษัทนี้จะทำธุรกิจปลูกยาง ต้นสักซึ่งไม้ยืนต้นจะต้องใช้เวลานานกว่าจะเก็บเกี่ยวและสร้างรายได้ ประมาณ 25-30 ปี การปลูกกัญชงทำให้สามารถสร้างรายได้เสริมในระยะสั้นได้


พร้อมกันนี้บริษัทได้มีการนำระบบดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยการพัฒนาแอปพลิเคชั่นชื่อ “ศรีตรังเฟรนด์” เป็นช่องทางในการรับซื้อ-ขายยาง สัดส่วน 99% แล้ว ระบบนี้ช่วยลดต้นทุนการตั้งศูนย์ซื้อขาย จากในปี 2019 มี 70 ศูนย์ ปัจจุบันลดลงเหลือ 34 ศูนย์ ส่งผลให้ต้นทุนค่าเช่าที่ดินลดลงทำให้ลดต้นทุนลงได้เฉลี่ย 60 สตางค์ต่อกิโลกรัม