ราคายางพาราพุ่งยกแผงทำสถิติ 70 บาท/กก.

ยางพารา

ราคายางพาราขยับขึ้นยกแผง กก.ละ 5 บาท ทำสถิตินิวไฮ เอฟโอบีส่งออก 70 บ./กก.-น้ำยางสด 65 บ./กก. สูงแซงราคาประกันแล้ว ล่าสุด กยท.ไฟเขียวขยายมาตรการหนุนสินเชื่อเอกชนผลิตภัณฑ์ยาง 2.5 หมื่นล้าน ยาวถึงสิ้นปี’65

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะยางพาราขยับสูงขึ้นตาม โดยล่าสุดวันที่ 15 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา สถานการณ์ยางแผ่นดิบกก.ละ 60.68 บาท ถือเป็นระดับราคาที่สูงสุดในรอบปี 2565 หรือปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 5 บาท จากที่เปิดปี 2565 มีราคา กก.ละ 55 บาท ราคาน้ำยางสดปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 65 บาท สูงสุดในรอบปีเช่นเดียวกัน

ขณะที่ราคายางแผนรมควันชั้น 3 กก.ละ 63.90 บาท ส่วนราคาเอฟโอบี ส่งออกยางปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 70 บาท สูงสุดในรอบปี หรือปรับขึ้น กก.ละ 5-6 บาท จากราคาเปิดปี 2565 ที่ กก.ละ 65.70 บาท ทั้งนี้ ราคายางดังกล่าวสูงกว่าราคาประกันรายได้ที่กำหนดไว้ ทั้งราคายางแผ่นดิบ กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด (DRC 100%) กก.ละ 57 บาท

ดร.กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.ขยายเวลาในการรับสมัครเข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท จาก 31 ธ.ค. 2564 ไปเป็น ธ.ค. 2565 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบกิจการยางขั้นปลายน้ำ ในการขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต โดยต้องเป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่าง ๆ

รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3% ต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี (2559-2569) ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 60,000 ตัน/ปี เป็น 100,000 ตัน/ปี

“การขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 25,000 ล้านบาทนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การดูดซับยางออกจากระบบ เกิดการขยายกำลังการผลิต การแปรรูปยาง ผลักดันราคายางให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ”

ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3% ตลอดอายุโครงการ 10 ปี (พ.ศ. 2559-2569) ไม่เกินปี พ.ศ. 2569 ซึ่งเป็นสินเชื่อทั้งจากธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารรัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ได้ทุกธนาคาร

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาวงสินเชื่อตามโครงการ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง จึงให้ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละรายได้ไม่เกิน 40% ของวงเงินสินเชื่อตามโครงการ ภายใต้วงเงินสินเชื่อคงเหลือ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เป็นการกระจายให้เอกชนแต่ละรายสามารถสมัครเข้าโครงการได้ และทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีเอกชนให้ความสนใจประมาณ 15 บริษัท