ปรับสูตรต้นทุนค่าเอฟทีใหม่ เบรกใช้ LNG สกัดค่าไฟพุ่ง

ค่าไฟฟ้า-728x485

สงครามรัสเซีย-ยูเครนสะเทือนการจัดหาแหล่งพลังงานไทย หลังน้ำมันดิบใกล้ทะลุ 120 เหรียญ/บาร์เรล ดันราคา Spot LNG เชื้อเพลิงหลักในโรงไฟฟ้าพุ่งพรวดถึง 30 เหรียญ/ล้าน BTU หรือแพงกว่าปกติ 4 เท่าตัว ส่งผล ก.คลัง-พลังงานหาสูตรใหม่เพื่อลดค่าไฟ ด้วยการเสนอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล-น้ำมันเตาเป็นการเฉพาะให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. หวังสกัดค่า Ft พุ่ง

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่อเค้าบานปลายและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ล่าสุดได้มีการยิงถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย จนเกิดเพลิงไหม้ ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน-ตลาดทุน และพลังงาน โดยราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นใกล้จะถึง 120 เหรียญ/บาร์เรล (เวสต์เทกซัส 107 เหรียญ-เบรนต์ 110 เหรียญ-ดูไบ 116 เหรียญ/บาร์เรล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2565)

ขณะที่ราคาก๊าซในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าในประเทศและคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในไตรมาส 2/2565 แน่นอน

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการดูแลค่าพลังงานต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 นับจากที่ได้หารือไปเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 แล้ว 1 รอบ โดยนายกฯได้มอบโจทย์ให้หามาตรการดูแลค่าครองชีพแบ่งเบาภาระประชาชนจากราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม และราคาก๊าซธรรมชาติ สูงขึ้นจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน

ลดภาษีดีเซล-เตาในโรงไฟฟ้า

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่จะต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอนจากราคาก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงไฟฟ้าปรับราคาสูงขึ้นได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ ปรากฏทางกระทรวงพลังงานกับกระทรวงการคลังได้มีการหารือร่วมกัน

และมีแนวคิดที่จะให้โรงไฟฟ้าเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น อาทิ น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันเตา โดยจะให้กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ใช้ในโรงไฟฟ้าเป็นการเฉพาะ “ขณะนี้กำลังมีการพิจารณาเรื่องลดภาษีกันอยู่”

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันเบนซินเพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพว่า เจ้าหน้าที่หารือกันอยู่เรื่องภาระลดค่าใช้จ่ายต้องรอกระทรวงพลังงาน

ส่วนความเป็นไปได้จะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินหรือไม่นั้น “ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงาน ต้องดูภาพรวมทั้งหมดก่อน” จะช่วยเหลือเท่าใด และเป็นเวลากี่เดือน คงจะสรุปในเร็ว ๆ นี้ รวมไปถึงการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม อาทิ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางมีรายได้น้อยก็ต้องรอผลการหารือของกระทรวงพลังงานเช่นกัน

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท/ลิตร เพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร “มาตรการนี้ยังใช้ได้อยู่ แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะผันผวนมาก แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนราคาดีเซลยังมีช่องทางที่จะกู้เงินจำนวน 20,000 ล้านบาทได้อยู่

ดังนั้น รัฐบาลจะดูแลในเรื่องของราคาพลังงานในบางกรณี หรืออุดหนุนให้บางกลุ่ม ส่วนการลดภาษีสรรพสามิตอีกหรือไม่จะเป็นลำดับสุดท้าย เพราะกองทุนน้ำมันฯก็ยังมีความสามารถในการพยุงราคาน้ำมันเบนซินได้” แหล่งข่าวกล่าว

สบน.เคลียร์ปมเงินกู้กองทุน

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่สามารถขยายกรอบเงินกู้ได้อีก 10,000 ล้านบาท ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 แล้ว “ตอนนี้ทางกองทุนยังไม่ได้มีการกู้เลย ซึ่งกองทุนน้ำมันฯก็ติดต่อมา ขอให้ สบน.ช่วยหารือร่วมกับสถาบันการเงิน เราก็ช่วยคุยให้ แต่แบงก์จะปล่อยสินเชื่อให้หรือไม่นั้นก็เป็นการตัดสินใจของแบงก์ โดยการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน แต่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ และเวลาชำระหนี้คืน กองทุนน้ำมันฯจะเป็นผู้ดำเนินการชำระหนี้เอง” นางแพตริเซียกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวเข้ามาว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับรองงบดุลของกองทุนน้ำมันฯเรียบร้อยแล้ว และกองทุนสามารถดำเนินการกู้เงินได้ทันที เบื้องต้นกองทุนน้ำมันฯจะขอกู้ 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ระหว่าง 2-3%

ก๊าซ LNG ราคาพุ่งพรวด

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft งวดแรก (ม.ค.-เม.ย.) ไปแล้ว 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จากต้นทุนราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าปรับสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 พร้อมกับคาดการณ์ว่า กกพ.จะต้องปรับขึ้นค่า Ft ต่อเนื่องเป็นขั้นบันไดอีก 3 รอบ รอบละไม่ต่ำกว่า 16 สตางค์

จากเหตุผลเดิมที่ว่ากำลังอยู่ระหว่างแผนการผลิตไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน แหล่งเอราวัณ (G1) ไม่สามารถผลิตก๊าซได้เต็มกำลังในทันที จนต้องมีการนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาเสริมด้วยการซื้อในราคา spot ในตลาดจรนั้น

ล่าสุดสถานการณ์การจัดหาก๊าซ LNG ได้เปลี่ยนไปจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้ราคา spot LNG จากที่เคยคาดการณ์ค่าเฉลี่ยประมาณ 18 เหรียญ/ล้าน BTU ในปี 2564 ได้พุ่งขึ้นไปจนต้องปรับราคาคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2565 ไว้ที่ 30 เหรียญ/ล้าน BTU เฉพาะไตรมาส 1/2565 ราคาก๊าซ LNG ก็พุ่งไปถึง 30 เหรียญ/ล้าน BTU แล้ว และราคาล่าสุดในตลาดล่วงหน้าก็ได้ปรับไปถึง 40-50 เหรียญ/ล้าน BTU หรือราคาพุ่งขึ้นไปมากกว่า 4 เท่า

น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า วิกฤตยูเครน-รัสเซียทำให้เกิดปัญหาราคา LNG นำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมาก และจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานร่วมกับ บมจ.ปตท. และ กฟผ. ได้มีการหารือเพื่อเตรียมการรับมือวิกฤตพลังงานครั้งนี้ โดยได้จัดทำ “แผนบริหารจัดการเพื่อรองรับสถานการณ์” ด้วยการใช้เชื้อเพลิงอื่นแทน เช่น น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล หรือใช้ถ่านหินลิกไนต์ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 เห็นชอบแนวทางในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในปี 2565 เพื่อลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่มาจากก๊าซ LNG มีราคาแพง ด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เข้ามาเพิ่มเติม,

การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 ขนาด 300 MW ไปจนถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าการนำเข้า LNG, การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายเดิม, การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทน LNG ราคาแพง และการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ สปป.ลาวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ประมาณ 33.64% หรือ 15,520.32 MW ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ IPP สัดส่วน 33.60% หรือ 15,498.50 MW, โรงไฟฟ้า SPP สัดส่วน 20.37% มีกำลังการผลิต 9,396.95 MW และการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว สัดส่วน 12.39% หรือ 5,720.60 MW ขณะที่ภาพรวมการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศในเดือนมกราคม 2565 ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ 21,887.43 ล้าน ลบ.ฟุต., ลิกไนต์ 1,183 ล้านตัน และน้ำมันดีเซล 25.62 ล้านลิตร

กกพ.ย้ำ Ft รอบหน้าขึ้นแน่

นายคมกริช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีการพิจารณาแผนบริหารจัดการเพื่อรองรับสถานการณ์ LNG ปรับสูงขึ้น เพื่อลดบรรเทาผลกระทบต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่า Ft

โดยที่ประชุมมีมติให้การขยายโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งขยายการรับซื้อชีวมวลส่วนเกิน และการนำแนวทางในการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาผสมเฉลี่ยต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้หากเปรียบเทียบกันแล้ว ปรากฏราคาน้ำมัน “ถูกกว่า” ราคาก๊าซ โดยเตรียมจะเสนอที่ประชุม กพช. ในวันที่ 9 มีนาคมนี้

“โดยปกติโรงไฟฟ้าจะสามารถเลือกใช้ก๊าซหรือน้ำมันก็ได้ แต่ที่ผ่านมาระบบถูกออกแบบให้ใช้ก๊าซไม่ใช่น้ำมัน เพราะราคาก๊าซถูกกว่า แต่เราจะใช้น้ำมันก็เมื่อแหล่งก๊าซปิดซ่อม 1-2 วัน ถึงแม้ว่าราคาก๊าซในตลาดโลกจะแพงขึ้น แต่ราคาก๊าซในอ่าวถูกกว่า แต่ช่วงที่ราคาก๊าซ LNG สูงมาก ๆ อย่างช่วงนี้ก็มีคำถามว่า ควรจะนำเข้าหรือไม่ ส่วนตัวผมมองว่า ไม่ควร

เพราะว่าราคา LNG แพงขึ้นจากปีก่อนถึง 4 เท่า เป็น 40-50 เหรียญ/ล้าน BTU มันแพงเกินไป ถ้าเราตัดลดปริมาณการใช้ก๊าซลงก็ไม่ต้องนำเข้า แล้วหันมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมัน ซึ่งอาจจะต้องแบกรับ ถ้าราคาน้ำมันแพงกว่า GAS pool ในอ่าว ซึ่งเราเคยให้ความเห็นไปใน กบง. เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ไปว่า สามารถใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าในระยะสั้นได้

เพราะว่าช่วยรักษาเรื่องความมั่นคง แต่ถ้าระยะยาว 5-6 เดือนหรือ 1 ปี มันจะเป็นภาระที่มาก็ต้องมาคิดกันใหม่ ปรับว่าตรงไหนที่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตด้วยน้ำมันก็เอามาเฉลี่ยกันด้วย มาหารกันเท่านั้นเอง ถ้า กพช.อนุมัติ สามารถสับสวิตช์ไปใช้น้ำมันได้เลย” นายคมกริชกล่าว

อย่างไรก็ตาม กกพ.เสนอให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการ “ยกเว้น” ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ณ หน้าโรงกลั่นเป็น 0 ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยการเว้นภาษีครั้งนี้จะไม่กระทบรายได้ของรัฐ เพราะภาษีประเภทนี้เป็นคนละชนิดกับภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ลดลงไปก่อนหน้านี้ 3 บาท/ลิตร

สำหรับสูตรการคำนวณการใช้น้ำมันแทนก๊าซครั้งนี้จะมีผลต่อการคำนวณค่า Ft ในงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.) 2565 ซึ่งเดิมทีได้มีการรวบรวมข้อมูลมีค่าประเมินที่ทำไว้แล้วจะต้องขึ้นค่า Ft จำนวน 16 สตางค์ 3 ครั้ง แต่ กกพ.คงไม่เปลี่ยนค่าประเมิน เพียงแต่ว่า “ค่าจริงอาจจะลดลงมา ตัวเลขมันอาจจะดีขึ้น” เนื่องจากประเมินบนสมมุติฐานราคาก๊าซธรรมชาติ 18 เหรียญ/ล้าน BTU แต่ตอนนี้ราคา spot ที่ ปตท.ซื้อ พุ่งขึ้นไปถึง 30 เหรียญ/ล้าน BTU แล้ว

“ถ้าเราใช้น้ำมันแทน (ราคา 25 เหรียญ มันก็จะลดไปได้ 5 เหรียญ) แม้ว่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 2564 ที่ 18 เหรียญ แต่อาจจะไม่ถึง 30 เหรียญก็ได้ ดังนั้นการประเมินค่า Ft ครั้งต่อไป ต้องปรับขึ้นแน่ และขึ้นมากกว่าครั้งที่แล้ว” แต่กำลังจะดูว่า จะบริหารจัดการอย่างไรให้ออกมาดีที่สุด

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ต้นทุนการคำนวณค่าไฟฟ้าแต่ละช่วงจะแตกต่างกัน เช่น กรณีราคาก๊าซ LNG พุ่งเกิน 25 เหรียญ การปรับมาซื้อน้ำมันเตา-น้ำมันดีเซลคุ้มกว่า แต่ปัจจุบันราคาก๊าซ LNG พุ่งขึ้นจาก 10 เหรียญขึ้นไป 40-50 เหรียญ เรียกว่า “แพงมาก” เทียบกับราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจาก 80 เหรียญ ไปเป็น 100-110 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนราคาก๊าซพูลในอ่าวไทยก็ปรับขึ้นอยู่บ้าง แต่ไม่แรงเท่ากับที่นำเข้า อาจปรับแค่ 10%

ปตท.รับภาระหาก๊าซ LNG

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน หากสถานการณ์สงครามยืดเยื้อจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

จากเดิมที่ ปตท.คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะเฉลี่ยที่ 81-86 เหรียญ/บาร์เรล หรือ “สูงกว่า” ปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 69.2 เหรียญ/บาร์เรล หากสามารถเจรจายุติสงครามลงได้ ราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลง แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะออกมาในรูปแบบใด “ปตท.ยืนยันว่า ไทยจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมัน”

ส่วนแนวโน้มก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาคเอเชียจะตึงตัวขึ้น จากสหรัฐและหลายประเทศได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย รวมทั้งบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ทั้งบีพี และเอ็กซอน ประกาศถอนตัวการลงทุนในรัสเซีย ในส่วนนี้จะมีผลทางจิตวิทยา ทำให้ราคา LNG ขยับขึ้น

ทั้งนี้จากราคา LNG ตลาดจร (spot) ปรับตัวสูงขึ้น ในฐานะที่ได้รับมอบหมายผู้นำเข้า LNG ตลาดจรเพิ่ม 4.5 ล้านตันในปีนี้ นอกเหนือจากปริมาณนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาว (long term) ของ ปตท.อีก 5.2 ล้านตันต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้น และรองรับรอยต่อปริมาณก๊าซที่หายไปส่วนหนึ่งจากแหล่งเอราวัณ

อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ด้วยราคาก๊าซ LNG ที่พุ่งขึ้นสูงขณะนี้ บริษัทเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตในการจัดหาและนำเข้า (shipper) ไม่น่าจะนำเข้า ดังนั้น ปตท.จึงได้นำเข้า LNG ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 อยู่ที่ 600,000 ตัน และส่วนเดือนมีนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาปริมาณการนำเข้า โดยราคา spot LNG เดือนมกราคมอยู่ที่ 30 เหรียญ/ล้านบีทียู และเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 26.5 เหรียญ/ล้านบีทียู