ส.โรงสีข้าว ค้านยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพด 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน

ข้าว

สมาคมโรงสีข้าว ออกโรงต้านรัฐยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพด 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หวังปกป้องเกษตรกรไทยตามคำร้องสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย พร้อมเสนอให้ใช้วัตถุดิบในประเทศแทน “ข้าว” ไทยราคาต่ำกว่าข้าวสาลี หากช่วยเกษตรกร รัฐไม่ต้องสูญเสียงบประกันรายได้

วันที่ 14 มีนาคม 2565 นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าตามที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้ทำหนังสือแจ้งต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้ยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าสาลี 1 ส่วน (หรือมาตรการ 3:1) นั้น

ทางสมาคมโรงสีไม่เห็นด้วย เพราะถึงจะมีการยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 ในช่วง 4-5 เดือนนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ เพราะราคาธัญพืชทั่วโลกปรับราคาสูงขึ้นจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจึงทำให้ธัญพืชมีราคาสูงกว่าพืชในประเทศ

ดังนั้น ทางสมาคมจึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับวัตถุดิบทดแทนที่ผลิตได้ภายในประเทศ โดยเฉพาะข้าว เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรไทย โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศชาติ รวมไปถึงเศรษฐกิจต่อเนื่อง

“วันนี้เราจะแก้ไขอะไรข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ อาหารสัตว์ ประเทศไทยก็ราคาต่ำกว่าทั้งโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีจากยูเครน ราคาสูงขึ้นกว่า 15-16 บาท/กก. แพงกว่าข้าว 5% ไทยที่มีราคา 13 บาท/กก. แต่จะมาแก้ปัญหากันตอนนี้คงทำไม่ได้ เพราะสินค้าเกษตรทั่วโลกราคาขึ้นหมด แม้เราจะเปลี่ยนแปลงในวันนี้คนที่จะแก้ปัญหาใน 4-5 เดือน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะวิกฤตทั้งโลกเกิดจากรัสเซียถล่มยูเครนผลิตผลของต่างประเทศแพงกว่าไทยเกือบหมด”

ดังนั้น ไทยควรดำเนินมาตรการ 3 ต่อ 1 ต่อไป เพื่อปกป้องเกษตรกร เพราะหากย้อนกลับไปในอดีตในปี 2558-2559 ไทยนำเข้าข้าวสาลีทะลุเพดาน 4.5 ล้านตันต่อปี มากเป็นประวัติศาสตร์ ผลจากการนำเข้าครั้งมโหฬาร หลังจากปลดล็อกภาษีนำเข้าจาก 27% เหลือ 0% แต่พอเปิดฟรีภาษีข้าวสาลีที่นำเข้าทำให้ราคาพืชเกษตรไทย ตั้งแต่ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปลายข้าว และรำราคาตกต่ำลง

“ปัจจุบันประเทศไทยยังมีวัตถุดิบข้าว ที่ประสบปัญหาจากการส่งออกลดลงต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละ 4 ล้านตัน ทำให้ข้าวสารมีราคาข้าวถูกกว่าราคาข้าวโพดซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพราะเราผลิตได้เองแต่เราก็ส่งออกไปไม่ได้ตามเป้า กระทรวงพาณิชย์หาตลาดในการส่งออกที่จะหาตลาดวันนี้ไม่ได้ หากรัฐพิจารณาส่งเสริมให้นำไปใช้ผลิตอาหารสัตว์ จะช่วยลดงบประมาณในการจ่ายชดเชยประกันราคาข้าวเปลือก

โดยเฉพาะเมื่อเริ่มฤดูการเก็บเกี่ยวจะเกิดปัญหาหนัก โดยเฉพาะข้าวนาปรัง แต่ถ้าเรานำเข้าข้าวสาลีโดยไม่จำกัด ในปีหน้าก็จะทำลายระบบเกษตรจะไปเอาเงินตรงไหนมาจ่ายประกันรายได้ เพราะอย่างในปีที่ผ่านมาตั้งงบจ่ายเรื่องข้าวเปลือกไปเกือบ 1.8 แสนล้าน ทางสมาคมโรงสีข้าวพร้อมที่จะเข้าประชุมเสนอความคิดที่เหมาะสมในปัญหาใหญ่ของประเทศการชะลอการนำเข้ามีมาตรการภาษี และข้อกำหนด 3 : 1 ในข้าวสาลี ถ้าแก้ไขแล้วไปไม่ถูกต้องสงครามยูเครนสงบรัฐจะไม่เหลืออะไรในการป้องกันเลย”

รายงานข่าว ระบุว่า ช่วงต้นปี 2565 ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคา 7,500 บาท ส่งผลให้รัฐบาลต้องชดเชยราคาข้าวเปลือกข้าวเจ้าสูงถึงตันละ 2,500 บาท แต่ในช่วง 2 สัปดาห์นี้นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% กลับมาขึ้นสูงตันละ 8,500 บาทเศษ ส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังที่ไม่มีโครงการประกันรายได้ ได้รับผลดีจากราคาจำหน่ายข้าว และสินค้าทั้งรำ ปลายข้าวหัก ปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น และส่งผลให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินประกันรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว