ถ่านหินราคาพุ่ง ‘บ้านปู’ อู้ฟู่ ลุยต่อยอดเหมืองแร่ใหม่รับพลังงานอนาคต

ถ่านหิน

สถานการณ์ราคาถ่านหินในตลาดโลกเริ่มทะยานขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2564 โดยบวกขึ้นไป 122% จากช่วงต้นปี ปัจจัยหลังจากความต้องการใช้สูงขึ้นในช่วงเข้าสู่หน้าหนาว จนเกิดวิกฤตพลังงานในจีน ไฟฟ้าดับหลายเมือง รวมถึงในยุโรปบางประเทศ นับจากนั้นเป็นต้นมา ราคาถ่านหินก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

กระทั่งราคาตลาดถ่านหินในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ตามดัชนีราคาถ่านหินของ The Newcastle Export Index (NEX) ทะลุไปถึง 249.5 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีราคา 99.7 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลดีต่อธุรกิจถ่านหินทั่วโลก

ราคาถ่านหินสูงขึ้นส่งผลดีต่อธุรกิจบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ “บ้านปู” ในปี 2564 ทำรายได้จากการขาย 4,124 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้น 81% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรายได้จาก “ธุรกิจถ่านหิน” เป็นธุรกิจหลักสูงถึง 2,909 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 55% หรือเพิ่มขึ้น 1,031 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากความต้องการใช้และราคาถ่านหินที่สูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจก๊าซมีมูลค่า 891 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 636% จากราคาขายที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้รายได้จากธุรกิจก๊าซในประเทศสหรัฐ ธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำ มีมูลค่า 244 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24%

ตลาดถ่านหินเติบโตต่อเนื่อง

นายจามร จ่าเมือง ผู้อำนวยการสายวิศวกรรมเหมือง บ้านปู เปิดเผยว่า ภาพรวมความต้องการถ่านหินปี 2565 นี้ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในส่วนของจีนได้มีความพยายามในการลดการนำเข้าถ่านหิน

และมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานภายในประเทศ แต่ความต้องการใช้ถ่านหินยังคงสูงเมื่อเทียบกับการผลิตเอง ขณะที่ทางการจีนได้มีนโยบายในการควบคุมราคาถ่านหินให้อยู่ในกรอบตามที่รัฐบาลกำหนด

ขณะที่อินเดียปีนี้ คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้น ทั้งเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งยังมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นต่อเนื่องจากความหนาวเย็นของสภาพอากาศที่ปกคลุม ยิ่งไปกว่านั้นทางเกาหลีใต้ยังได้มีแผนเตรียมการสต๊อกถ่านหินเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในกรณีปัญหารัสเซีย-ยูเครน

แนวโน้มราคา “ขาขึ้น”

ฝั่งซัพพลายในปีนี้ ภาพรวมการผลิตและส่งออกถ่านหินค่อนข้าง “ตึง” เพราะประเทศผู้ส่งออกหลักยังติดปัญหาเรื่องการผลิตและการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ราคาถ่านหินสูงขึ้น

โดยนับแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานอินโดนีเซีย ประกาศห้ามส่งออก (export ban) เพื่อเพิ่มสต๊อกถ่านหินสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศ เป็นผลทำให้การส่งออกถ่านหินของอินโดนีเซียลดลงอย่างมาก

ในส่วนของออสเตรเลียก็ประสบปัญหาเรื่องสภาพอากาศและโควิดที่แพร่ระบาด ทำให้การผลิตและการขนส่งถ่านหินลดลง

“ราคาถ่านหินสูงขึ้นต่อเนื่องจากในปีที่แล้วทั้งปี ที่เริ่มจากประมาณ 100 เหรียญสหรัฐต่อตันในต้นปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึงในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 249 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเทรนด์ราคาถ่านหินอยู่ในแนวบวกจากปัจจัยต่าง ๆ ด้านดีมานด์และซัพพลาย”

กวาดคำสั่งซื้อ

นายจามรเล่าต่อว่า รายได้จากการขายถ่านหินในปีที่ผ่านมารวมอยู่ที่ 36 ล้านตัน แยกเป็นในแหล่งผลิตที่อินโดนีเซีย 20.2 ล้านตัน ออสเตรเลีย 9.8 ล้านตัน และจีน 6 ล้านตัน ในส่วนของแผนการขายในปี 2022 นี้ คาดว่าอินโดนีเซียอยู่ที่ 22.1 ล้านตัน

ซึ่งมีสัดส่วน 67% ทำสัญญาไปแล้ว และใน 47% ของจำนวนนี้เป็นการทำสัญญาลิงก์กับโกลบอลอินเด็กซ์ ส่วนออสเตรเลียมีแผนการขายถ่านหินที่ 11.7 ล้านตัน โดยมีการทำสัญญาไปแล้ว 78% ส่วนที่ 22% ยังอันโซล ซึ่งเรายังคงมองหาตลาด โอกาสทำสัญญาขายถ่านหินต่อไป

“ธุรกิจถ่านหินในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายการผลิตที่ 40 ล้านตัน โดยจะซื้อถ่านหินจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมเพื่อนำมาผสมให้ได้ถ่านหินคุณภาพดีอีก 2-3 ล้านตัน ทำให้ทั้งปี 2565 บริษัทตั้งเป้าขายถ่านหินที่ 42-43 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 36 ล้านตัน”

ลุยเหมืองใหม่

สำหรับในปีนี้ “บ้านปู” เตรียมงบฯลงทุนในธุรกิจแหล่งพลังงานในธุรกิจก๊าซและถ่านหิน รวม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากงบฯลงทุนทั้งหมดรวม 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ้านปู กล่าวว่า ในด้านธุรกิจเหมือง เราจะมุ่งเน้น “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการต้นทุน” เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด และที่สำคัญอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจแร่แห่งอนาคต (strategic minerals) อาทิ นิกเกิล ลิเทียม อะลูมินัม คอปเปอร์ โกลด์ ในแหล่งที่บริษัทได้มีการลงทุนอยู่แล้วเพื่อต่อยอดการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

“ปี 2021 เรามีรายได้เพิ่มมา 4,124 ล้านเหรียญ จากราคาแก๊สและถ่านหินที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าการดำเนินงานที่จัดสรรไว้จะสร้างกระแสเงินสดให้เราเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าหงสาของบ้านปูไม่ต้องซื้อถ่านหิน เพราะมีถ่านหินของเราเอง ซึ่งจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นมีผลให้รายได้ดีขึ้น แต่ก็มีต้นทุนที่เราบริหารต่อไปเช่นกัน แต่การตอบสนองของเราจากภาวะวิกฤตทั้งโรคระบาดและสงครามอย่างรวดเร็ว แม้มีความเสี่ยง เราบริหารได้”