สุพันธุ์ มงคลสุธี ปั้น SMEs ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สุพันธุ์ มงคลสุธี

ก่อนกระบวนการเลือกตั้ง ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ครั้งใหม่ จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมสามัญประจำปี 2565 และเลือกตั้ง คณะกรรมการ ส.อ.ท. วาระปี 2565-2567 เพื่อที่คณะกรรมการจะเลือกตั้ง ประธาน ส.อ.ท. ในวันที่ 22 เม.ย. 2565

ในรอบนี้ ส.อ.ท.ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว ไร้ภาพความขัดแย้งเช่นในอดีต ด้วยการวางยุทธศาสตร์ของ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท. คนที่ 15 ที่กุมบังเหียนมาถึง 3 สมัย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวทางการทำงานของ ส.อ.ท. ก่อนส่งไม้ต่อว่า

เกิดจากเอสเอ็มอีรู้ปัญหา

ผมเกิดจากการเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจเครื่องเขียน แต้เกียงเซ้ง ก่อนที่จะพัฒนาธุรกิจเติบโตขึ้นมา จึงรู้ถึงการทำงาน และคอขวดของเอสเอ็มอีว่าคืออะไร สิ่งที่เน้นย้ำมาตลอดคือการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีจำนวนมากขึ้น จะช่วยให้ประเทศเกิดความเข้มแข็ง

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เสนอแนวทางให้บีโอไอปรับบทบาท มุ่งวางนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนให้กับกลุ่ม SMEs มากขึ้น

“ปัจจุบันแม้ว่าทางบีโอไอจะมีมาตรการส่งเสริม SMEs ออกมา แต่ยังไม่เพียงพอ เราเข้าใจการทำงานของภาครัฐที่ต้องผูกโยงกับเป้าหมายการส่งเสริมการลงทุน ปีหนึ่งต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนปีละ 600,000-700,000 ล้านบาท ซึ่งการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายหนึ่งวงเงินไม่มาก อาจจะเพียงแค่ 50-100 ล้านบาท เทียบไม่ได้กับการดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่รายเดียวที่ลงทุนเป็นพันล้าน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

ตัวเลขการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้ แต่เรามองว่าการส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศ คนไทยได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เทียบกับรายได้ส่งออกที่มีสัดส่วนหลักมาจากรายใหญ่ หรือบริษัทข้ามชาติ รัฐต้องดูรายได้ต่อหัวประชากร มุ่งลดระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำจาก 90 ต้องเหลือ 60 เป็นสิ่งที่ต้องมุ่งไปโฟกัส”

แนวทางที่เสนอไป ขอให้มีการส่งเสริมเอสเอ็มอีคู่ขนานไปด้วย เช่นว่าแต่ละปีมีเป้าหมายส่งเสริมเอสเอ็มอีกี่ราย มูลค่าเท่าไร หรือการส่งเสริมลงทุนต่างประเทศ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ซัพพลายเชน ให้มีโอกาสขยายการลงทุนออกไปพร้อมกับรายใหญ่ โดยรัฐวางบทบาทตัวเองเหมือนกับ JETRO สร้างโอกาสให้กับรายย่อยออกไปลงทุนต่างประเทศให้มากกว่านี้

ช่วยหาตลาดใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เพราะดึงซัพพลายเชนออกไปสู่ตลาดข้างนอกด้วย ส่วนการสร้างตลาดให้เอสเอ็มอีอย่างโครงการเมดอินไทยแลนด์ ซึ่งได้ดำเนินมาต่อเนื่อง ควรจะต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าประธานท่านใหม่น่าจะเดินหน้าต่ออยู่แล้ว

ชูเกษตร-ท่องเที่ยว

อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในการส่งเสริมการลงทุน ควรเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น อิตาลีส่งเสริมเรื่องแฟชั่น ไทยต้องอาศัยเรื่องเกษตร เรื่องท่องเที่ยว มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยว ชูเรื่องการวางระบบรักษาพยาบาลดี การกินดีอยู่ดี เพียงแค่นี้เชื่อว่าคนก็จะมา

ส่วนการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจะช่วยสร้างกลไกในการดูแลราคาสินค้าเกษตร เช่น โครงการแปลงใหญ่ 2 ล้านไร่ ที่ ส.อ.ท.ทำเพื่อลดต้นทุนพืชเกษตรลง เมื่อป้อนเข้าโรงงานนำมาผลิตแล้วจะแข่งขันได้ ส่งผลดีต่อซัพพลายเชนภาคเกษตร อย่างผลไม้กระป๋อง อาหารแปรรูป ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

“สิ่งสำคัญต้องไปช่วยเกษตรกรลดต้นทุนให้ถูกลง ถือเป็นการแก้เรื่องเกษตรกรติดกับดักการแจกเงิน” รวมถึงต้องเปิดกว้างการส่งเสริมการลงทุนในบางอุตสาหกรรม เช่น เรื่องเหล้า เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นที่ให้ลงทุนเรื่องนี้ได้

ปรับยุทธศาสตร์บีโอไอ

ตอนนี้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน แต่จากการประเมินบรรยากาศการลงทุน ไทยยังเป็นที่สนใจและยังเป็นประเทศที่เป็นชัยภูมิที่ดีที่สุดของการลงทุน

ถึงอย่างไรนักลงทุนต้องการเข้ามาลงทุน ยิ่งเกิดเหตุการปะทะกันของ 2 ประเทศ รัสเซีย-ยูเครน ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าไทยคือพื้นที่สำคัญ และยังคงเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญของโลก

ในปีนี้ 2565 บีโอไอตั้งเป้าขอรับส่งเสริมการลงทุน 700,000 ล้านบาท เหตุใดเราไม่ตั้งเป้าไปด้วยว่า ปีนี้เราส่งเสริมการลงทุน SMEs กี่ราย เพราะจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากกว่า ขณะที่การส่งเสริมการดึงนักลงทุนต่างชาติก็ปรับยุทธศาสตร์ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขไปด้วยว่า

นักลงทุนที่เข้ามาในประเทศไทยควรมีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ (know how) นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้กับประเทศไทยอย่างไรได้บ้าง เพราะการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เท่ากับการมาใช้ทรัพยากรในประเทศไทย กระบวนการผลิตต่าง ๆ ในบางอุตสาหกรรมอาจจะสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ก็สร้างมลพิษทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย

ขณะเดียวกันอีกเครื่องมือสำคัญคือการลงทุนในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะนี้แผ่วลงไปหากเทียบกับช่วงแรก อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการลงทุนในโครงการใน EEC ต้องเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่วางไว้ และเริ่มสร้างกันไปแล้ว

อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ CP ชนะการประมูล แต่ยังคงติดขัดปัญหาบางเรื่อง ซึ่งไม่ควรให้ประเด็นเหล่านั้นมาเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการเดินหน้าต่อของโครงการ หนทางออกควรเจรจาต่อรองเรื่องแลกเปลี่ยนเรื่องอื่นที่สามารถจะมาซัพพอร์ตซึ่งกันและกันได้ เช่นว่า รัฐควรทำสิ่งใดให้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมการลงทุนนี้

แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

สิ่งสำคัญที่รัฐควรมุ่งพัฒนาคือ คน เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้คนมีรายได้ดีขึ้น เมื่อมีรายได้ดีขึ้นจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นลดลงไปด้วย ปัญหาบ้านเราเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใหญ่ อย่างฮ่องกงเคยมีปัญหานี้เยอะ ๆ แต่พอพัฒนาคนมีรายได้เริ่มดี การคอร์รัปชั่นก็ลดลง

“ในการแก้ปัญหาผลักดันวาระที่เป็นประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการประชุม กรอ.รัฐร่วมกับเอกชน ซึ่งหากมีประชุมคณะนั้นจะสามารถบรรจุวาระของเอกชนได้ แต่เมื่อเป็นบอร์ดภาครัฐ งานต่าง ๆ ที่ถูกบรรจุในวาระจะเป็นเรื่องที่ภาครัฐกำหนดเป็นหลัก และจะรู้วาระตอนที่ใกล้กับการประชุม”

ภารกิจส่งไม้ต่อ “นวัตกรรม”

ภารกิจส่งท้ายที่ต้องดำเนินการคือ การเตรียมพร้อมการประชุมในฐานะประธานที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก หรือ ABAC ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพที่จัดขึ้นที่แคนาดา ปลายเดือนเมษายน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางรูปแบบการจัดว่าจะเป็นลักษณะอย่างไร ไฮบริดออนไลน์หรือไม่ มีประเทศสำคัญ ๆ ใดเข้าร่วมบ้าง

วาระในการหารือ ล่าสุดจะเดินทางไปสหรัฐเตรียมส่งไม้ต่อ เรื่องการส่งไม้ต่อประชุมเอเปกปีต่อไป ที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพต่อจากไทย ทางสหรัฐได้เชิญไปและจะมีการเชิญทางภาคเอกชนรายใหญ่มา เป็นโอกาสดีในการให้ข้อมูลถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ส่วนภารกิจ ส.อ.ท.นั้น ขอให้ประธานคนใหม่ทำให้ ส.อ.ท. เป็นศูนย์กลางในการดูแลสมาชิกให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น ด้วยการวอยซ์การสื่อสารข้อมูลของเอกชนไปยังภาครัฐ เพราะความร่วมมือของรัฐและเอกชนเป็นเรื่องจำเป็นต้องไปด้วยกัน หากต่างคนต่างไปเดี๋ยวไปไม่ได้ ต้องรวมกันให้ได้

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมว่าต้องสานต่อหลังจากนี้ให้ได้คือ การสร้างนวัตกรรม ทำให้งานวิจัยที่คิดขึ้นมาถูกเก็บอยู่บนหิ้งให้ขึ้นสู่ห้าง เราผลักดันกองทุนนวัตกรรม SMEs ขึ้นมา ตามที่ได้เห็นชอบกันคือ รัฐและเอกชนจะลงเงินฝั่งละ 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ซึ่งขณะนี้ได้จดทะเบียนจัดตั้งแล้ว ทางกระทรวง อว. ให้งบฯสนับสนุน 200 ล้านบาท

สิ่งที่จะทำต่อไปคือ การเพิ่มเงินเข้ามาในกองทุน และผลักดันให้เอกชนที่มีการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า จากปัจจุบันที่ทำได้ 2 เท่า เพื่อจูงใจให้มีการพัฒนานวัตกรรม เพราะท้ายที่สุดไม่ใช่แค่เอกชนจะได้นวัตกรรม แต่ประเทศก็จะได้ประโยชน์ด้วย