3 อดีตขุนคลังแนะรัฐกู้เงินเพิ่มอีก 1.5 ล้านล้านบาท ฟื้นเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ
Photo by Jack TAYLOR / AFP

“อุตตม” ชี้ทางออกดูแลเศรษฐกิจ แนะรัฐกู้เงิน-ทบทวนงบประมาณปี’65-66 เพิ่มกระสุนดูแลเศรษฐกิจ รับมือโควิด-สงครามรัสเซียและยูเครน ด้าน “ทนง” แนะกู้เงินเพิ่มอีก 1.5 ล้านล้านบาท ฟื้นเศรษฐกิจ 2 ปีข้างหน้า ปลุกคนไทยออกจากอาการซึมเศร้า ด้าน “กรณ์” เผยรัฐควรเตรียมเงิน Reboot เศรษฐกิจ ดูแลกลุ่มเปราะบาง

วันที่ 23 มีนาคม 2565 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วิกฤตที่เผชิญอยู่ขณะนี้เป็นวิกฤตเชิงซ้อน ซึ่งสถานการณ์โควิดทำให้เศรษฐกิจเปราะบาง เมื่อสงครามรัสเซียและยูเครนเข้ามา ส่งผลให้มีความซ้ำซ้อนไปอีก

โดยมองว่ารัฐบาลจะต้องเร่งเยียวยา และแสดงแนวทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทันทีว่าจะทำอะไรบ้าง ที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากภาวะปัจจุบัน และก้าวไปข้างหน้า

ทั้งนี้ มีความเห็นว่ารัฐบาลความจะต้องมีการกู้เงินเพื่อเพิ่มกระสุนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เนื่องจากมองว่าหากไม่มีสงคราม ก็ยังมีสถานการณ์น่าเป็นห่วงจากโควิด เพราะไม่รู้จะจบอย่างไร และยังไม่รู้ว่าคลื่นลูกใหม่จะมาอย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีอีกช่องทางหนึ่งในการดูแล คือการทบทวนงบประมาณในปี’65 และงบประมาณปี’66 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เพื่อเพิ่มกระสุนเข้าไปดูแลเศรษฐกิจ

“ในภาวะที่สถานการณ์ไม่ปกติ การแก้วิกฤตก็ต้องทำในรูปแบบที่ไม่ปกติ มองว่าช่องทางการเพิ่มกระสุนยังมีช่องจากการทบทวนงบประมาณได้ ซึ่งสามารถทบทวนกันใหม่ได้ เพื่อเตรียมกระสุนไปกระชากเศรษฐกิจที่ติดหล่มในปัจจุบันมา เช่น

โครงการที่จะต้องมาลำดับความสัมพันธ์ทั้งผูกพันและไม่ผูกพัน เป็นต้น ส่วนงบฯที่ใช้สำหรับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ส่วนนั้นจะไม่ยุ่งเกี่ยวกันอยู่แล้ว และในปีงบฯ 66 ก็ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในภาวะไม่ปกติ ดูว่าวันนี้หน้าตักมีเท่าไหร่ พยายามใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”

ขณะที่แนวทางในการดูแลราคาพลังงานนั้น มองว่าการเยียวยาจำเป็นต้องทำ และทำให้ถูกกลุ่ม เหมาะสม และต้องเชื่อมโยงไประยะยาว ซึ่งประเทศไทยต้องทบทวนโครงสร้างการใช้พลังงานทั้งหมด โดยที่ผ่านมามีการพูดกันมากว่าเราอิงการคำนวณสูตรน้ำมันตามสิงคโปร์และบวกค่าขนส่ง FIL ก็เป็นปกติ แต่สูตรนี้ใช้มานานแล้ว มองว่าเมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ จะต้องมีการเปลี่ยนสูตรน้ำมัน เพราะเราก็มีกำลังกลั่น ฉะนั้น จะต้องมีการทบทวนสูตร อย่างน้อย FIL ยังต้องมี แล้วคิดราคาที่หน้าโรงกลั่น นาน 3 เดือน เพื่อคำนึงถึงประโชยน์ประชาชน

แนะรัฐออก พ.ร.ก. กู้เงินอีก 1.5 ล้านล้านบาท เยียวยาเศรษฐกิจ 2 ปี

ด้านนายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ซึมเศร้า ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนเงียบเหงา โดยเฉพาะภาคคนจน เป็นผู้แบกรับภาระ โดยมองว่ามาตรการแจกเงินที่รัฐช่วย ก็ยังไม่มีนโยบายที่จัดเจน เพราะยังไม่สามารถกระตุ้นให้มีงานใหม่ขึ้นมา และอุตสาหกรรมในประเทศ ยังมีการบริโภคน้อย เพราะประชาชนยังไม่มีความสามารถถสร้างรายได้

จึงมองว่าควรออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่ม เพื่อเร่งสปีดการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รองรับการท่องเที่ยวกำลังมา อุตสาหกรรมที่หดตัว เอสเอ็มอีที่เพิ่มความสามารถในการลงทุน เพื่อให้คนเร่งมีงานทำ เพิ่มความสามารถในการบริโภค

โดยมองว่ารัฐบาลยังมีอำนาจออก พ.ร.บ.กู้เงินได้อีก ซึ่งมองว่าสัดส่วนที่เหมาะสมคือ 1.5 ล้านล้านบาท เยียวยาประชาชนเพิ่มอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้น คนตกงานกลับมาเข้ามาระบบใหม่ แทนที่จะให้คนละ 5,000 บาท แต่อัดเงินเข้าไปเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเปิดประเทศให้คนกลับมามีงานทำจะดีกว่า เพราะหากความมั่นใจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ห่วงโซ่การฟื้นฟูจะกลับมาเร็ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีการฟื้นฟูกลับมาเลย การเติมเงิน 5,000 บาท เป็นเพียงยาแก้เครียด เพราะยังไม่อะไรเติบโตขึ้นมา

“ตอนนี้นอกจากโควิด เรายังถูกซ้ำเติมด้วยเงินเฟ้อ ในแง่อาหาร และราคาพลังงาน ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นของคนจน แม้ตัวเลขยังในภาพรวมยังไม่ได้สูง แต่สัดส่วนเงินเฟ้อของอาหารและพลังงาน ขึ้นไป 20% หากยังไม่ได้รับการดูแลเศรษฐกิจจะมีปัญหาตามมาอีก นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือนตามมา ซึ่งหากเพิ่มเพื่อบริโภคไม่เป็นไร แต่เพิ่มเพื่อการชำระหนี้ เป็นสิ่งที่น่าห่วง”

แนะรัฐเตรียมเงิน Reboot เศรษฐกิจ ดูแลกลุ่มเปราะบาง

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยกลุ่มเปราะบาง โดยมองว่าผู้ที่จะเข้ามาช่วยได้ ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน และกล้าหาญ รัฐบาลต้องสนใจช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้สิน เพราะรายได้หายไปจากช่วงโควิด แต่ภาระหนี้สินเพิ่ม เพราะค่าครองชีพสูง นอกจากนั้น จะต้องดูแลภาคผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย เพราะหากเศรษฐกิจฟื้น เอสเอ็มอีจะกลับมาค้าขายไม่ได้ อย่างโรงแรมที่ต้องปิดจะเปิดรับนักท่องเที่ยวใหม่ต้องใช้เงินลงทุน

“รัฐต้องเตรียมเงินเพื่อ Reboot ให้ผู้ประกอบการฟื้นได้ ในจังหวะเหมาสม โดยระดับมหภาคกำลังเงินยังอยู่ระดับที่ดีมาก และข้อมูลจากข้อเสนองบปี 66 ที่ตั้งชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้น หรือภาระหนี้ต่องบประมาณ คิดสัดส่วนเพียง 9% ยังค่อนข้างต่ำอยู่ จากเกณฑ์ที่กำหนดไม่ให้เกิน 15%

จึงมองว่าปัจจุบันยังสามารถแบกรับหนี้สินรัฐบาลได้อีก ซึ่งยังมีความสามารถในการกู้เงินได้อีก และรัฐจะต้องกู้เงินเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ ลดภาระหนี้ให้กับประชาชนที่มีแนวโน้มสูง”

ทั้งนี้ มองว่ามาตรการที่ออกมาในปีแรก ด้วยการเยียวยาประชาชนผ่านพงร.ก.กู้เงิน ยิงเงินตรงให้ประชาชน เหมาะสมและถูกต้อง แต่ยังมีโครงการทางการเมืองมาฉวยโอกาสในตัวพ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับ ฉะนั้น จากนี้ไปใช้เงินกู้ต้องฟื้นฟูโอกาสการฟื้นคืนชีพภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ช่วยประชาชนทำมาหากิน เพราะจะมีนโยบายเปิดประเทศแล้ว ไม่ได้กังวลเรื่องโควิดแล้ว จะต้องทำให้ภาคธุรกิจของไทยทำมาค้าขายได้ เกิดการลงทุน

ส่วนการแก้ปัญหาสภาวะหนี้สินนั้น มองว่าสิ่งที่ควรทำ คือ การตั้งกองทุน Reboot หรือการเริ่มใหม่ให้กับหลายธุรกิจ เช่น โรงแรมที่ปิดตัวไปช่วงโควิด ถ้าเปิดกิจการเมื่อไหร่ไม่มีเงินปรับปรุงสถานประกอบการ ก็จัดตั้งกองทุนขึ้นมา และใช้โครงสร้างลักษณะฝากขาย เช่น

เอาหุ้นมาฝากขายไว้กับกองทุน บริหารแล้วได้เงินไป โดยรัฐไม่เกี่ยวข้อง แล้ว 5 ปี กลับมาซื้อหุ้นคืนไปในราคาเดิม เขาจะได้ทุนไป ระหว่างช่วงฟื้นรัฐก็จะได้ประโยชน์ช่วงถือหุ้นด้วย ดีกว่าการจัดการในรูปของหนี้ เพราะหนี้ผู้ประกอบการบานอยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มหนี้ให้เขา จะต้องเพิ่มการลงทุน และเพิ่มทุนให้ผู้ประกอบการ