โรงงานทอผ้าไทย ปี’65 ฟื้น เปิดประเทศหนุน-ออร์เดอร์ล่วงหน้าพุ่ง

สัมภาษณ์พิเศษ

ภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในปี 2565 มีโอกาสเติบโต 10-15% จากการฟื้นตัวและกำลังซื้อที่กำลังกลับมา แม้ว่าทั่วโลกจะเจอปัญหาสงคราม โควิด-19 แต่สินค้ากลุ่มนี้ถือเป็นสินค้าจำเป็นที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทอผ้าไทย หรือกลุ่มผ้าผืน ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นายอัมรินทร์ ศรีสุภรวาณิชย์” นายกสมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทยถึงทิศทางของอุตสาหกรรม ปี 2565

ภาพรวมอุตสาหกรรมทอผ้า

อุตสาหกรรมผ้าจะแบ่งเป็นผ้าผืน ซึ่งผลิตออกมาในรูปแบบชุดยูนิฟอร์ม เครื่องนอน และผ้าถัก ที่ผลิตออกมาในรูปแบบเสื้อยืด เสื้อกีฬา สำหรับอุตสาหกรรมทอผ้าจะดูผ้าผืนเป็นหลัก

ในเมืองไทยซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตผ้า 400 บริษัท เป็นสมาชิกสมาคม 70 บริษัท โดยกระจายไปอยู่ในสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายที่มีการตัดเย็บจะอยู่ในสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ที่ผ่านมาโชคดีที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบการแข็งแกร่งผ่านปัญหาอุปสรรคมานาน ยังคงยืนหยัดได้จนถึงปัจจุบัน

แม้จะมีบางรายที่ต้องเลิกกิจการ หรือปรับตัวทำธุรกิจใหม่มากขึ้น ปรับปรุง เปลี่ยนเครื่องจักร นำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน 80-90% เป็นธุรกิจของครอบครัวทั้งสิ้นและมีการสืบทอดธุรกิจมา หากมีการสืบทอดธุรกิจก็จะเดินหน้าต่อ หรือเห็นช่องทางอื่น นอกจากนี้ในธุรกิจทอผ้าบางรายเองก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ การร่วมลงทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งก็มีหลายบริษัทที่ดำเนินการเพื่อการเติบโตทางธุรกิจด้วย

“ธุรกิจทอผ้าไทยยังเป็นธุรกิจที่แข่งขันไม่สูงและแข่งขันได้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

โรงงานทอผ้าไทยจะใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องแรงงานเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่ใช้แรงงานตัดเย็บจำนวนมากโดยภาพรวมการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 2 แสนคน จากทั้งหมด 7 แสนคนเทียบกับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่ตัดเย็บจะใช้แรงงาน 5 แสนคน

ด้วยความที่เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่จึงปักหลักอยู่ที่ประเทศไทย ไม่ได้ขยายการลงทุนออกไป เพราะการย้ายเครื่องจักร เทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโรงงานทอผ้าเป็นเรื่องยากอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปี และใช้เงินทุนสูงถึง 1,000 ล้านบาท จะมีเพียงกลุ่มที่ขยายการลงทุนออกไปบ้างเฉพาะกลุ่มที่มีการตัดเย็บ

โควิดฉุดตลาดซบ 2 ปี

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีช่วงที่เรียกว่าขาลง โดยเฉพาะปี 2562-2563 ชะลอตัวทั้งโลก เนื่องจากในตลาดมีการผลิตออกมาค่อนข้างเยอะ ความต้องการที่ไม่ได้เติบโต ทำให้ของที่ออกมาล้นตลาด

“ตั้งแต่มีปัญหาของโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกลดลง ทำให้ผู้ซื้อ-ขายไม่สามารถเดินทางติดต่อกันได้ ประกอบกับบางประเทศล็อกดาวน์ ผู้ผลิตต้องหยุดการผลิต ปิดโรงงาน หรือมีการกักตัว ส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าวมีความต้องการใช้ผ้าเพิ่ม แต่จำนวนผู้ผลิตมีปริมาณน้อยลง แต่ในส่วนอุตสาหกรรมทอผ้าไทยยังคงสามารถผลิตได้เนื่องจากรัฐบาลยังให้โรงงานที่สำคัญเปิดการผลิตสินค้าได้ปกติ เพียงต้องติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด”

อ่วมราคาวัตถุดิบฝ้ายพุ่ง

วัตถุดิบที่ใช้จะแยกเป็นแบบใยธรรมชาติและเส้นใยประดิษฐ์ สัดส่วนอย่างละ 50% สำหรับใยธรรมชาติ โดยหลักจะเป็นใยฝ้าย และ 100% ประเทศไทยต้องนำเข้า เพราะไทยเองไม่เหมาะกับการปลูกฝ้าย

“ต้นทุนวัตถุดิบฝ้ายปรับสูงขึ้นจากโควิด ทำให้คนงานเก็บฝ้ายหายไป เก็บฝ้ายไม่ได้ ราคาฝ้ายตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันปรับขึ้นมา 1 เท่าตัว เกือบ 100% จาก 60 เซนต์ต่อปอนด์ ตอนนี้ขยับขึ้นมา 130 เซนต์ต่อปอนด์ ไทยนำเข้าหลักฝ้ายจากสหรัฐ แอฟริกา บราซิล และอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกรายใหญ่ ส่วนในปีนี้ต้องติดตามการรายงานผู้ผลิตจากต่างประเทศ แต่แนวโน้มราคาผ้าผืนปี 2565 น่าจะปรับขึ้นไปอีก เพราะนอกจากราคาวัตถุดิบแล้ว ค่าขนส่งก็ยังเพิ่มขึ้น”

ขณะที่เส้นใยประดิษฐ์มีทั้งแบบที่ได้มาจากใยธรรมชาติ อย่างเปลือกไม้ และอีกส่วนมาจากน้ำมัน คือโพลีเอสเตอร์ ซึ่งประเทศไทยมีฐานการผลิตปิโตรเคมีเยอะ ทำให้ไทยมีวัตถุดิบชนิดนี้เพียงพอ และราคาดี ซึ่งเส้นใยประดิษฐ์จะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้ากีฬาซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีชื่อเสียงมานาน

ปี’65 ตลาดฟื้นตัว

ขณะนี้ความต้องการเริ่มขยับขึ้น ซึ่งจากการติดตามคำสั่งซื้อปัจจุบัน ผู้ผลิตผ้าผืนรับคำสั่งซื้อยาวถึง 6 เดือนแล้ว โดยตลาดผ้าของเราจะเป็นตลาดส่งออก 60% ไปยังจีน สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และ 40% ขายในประเทศ

“ตลาดในประเทศที่กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงจากผลกระทบโควิดหลายธุรกิจปิดตัว การกระตุ้นของภาครัฐอาจมีข้อจำกัด แต่นับจากเมื่อปลายปี 2564 ตอนนี้สัญญาณการเติบโตเศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจโรงแรมเริ่มเตรียมความพร้อมรับการท่องเที่ยว จึงสั่งซื้อชุดยูนิฟอร์มใหม่ กำลังซื้อเริ่มกลับมาพอสมควร”

ส่วนการส่งออกปีนี้ยังมองว่าเติบโต เนื่องจากที่ผ่านมาหลายประเทศเจอปัญหาโควิด ผลิตสินค้าไม่ได้ ทำให้ผู้นำเข้าหันมาซื้อกับไทยเพิ่ม แม้จะเทียบประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างจีน อินเดียไม่ได้ แต่การส่งออกปีนี้ก็ยังมองว่าเติบโตไปได้

ดังนั้น ภาพการผลิต โรงงานผู้ผลิตสิ่งทอไทยเริ่มฟื้นตัว 60-80% อาจยังไม่ครบ 100% แต่ก็ถือว่าการผลิตสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ โดยผู้ประกอบการยังติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รายได้

“ตอนนี้มีคำสั่งซื้อแต่หลังจากนี้คำสั่งซื้อจะเป็นอย่างไรยังตอบยาก ภายใต้ปัจจัยที่เกิดขึ้น ผู้ผลิตต้องวางแผนเพื่อลดปัญหาผลกระทบการขาดทุน ทั้งเรื่องการสั่งซื้อ-นำเข้าวัตถุดิบ ราคาซื้อ-ขาย ค่าระวางเรือ โดยเฉพาะเส้นทางยุโรปยังสูงมากเป็นอุปสรรคด้านการส่งออก”