พิษเศรษฐกิจซบ แห่ควบรวมกิจการ “ธุรกิจบริการ” ครองแชมป์สูงสุด

ส่องเทรนด์ควบรวมธุรกิจ ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจบีบกิจการทั่วโลก
ภาพจาก pixabay

สัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วมีแนวโน้มซึมยาวต่อเนื่องไปอีก

โดยล่าสุดทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกาศปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจปี 2565 กรอบสูงสุดที่เคยประเมินว่าจะโต 4.5% ลงเหลือเพียง 4.0% ขณะที่ภาวะหนี้ครัวก็เพิ่มสูงขึ้น หลายธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวโควิดก็ต้องมาเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากสงครามอีก แนวโน้มการประคองธุรกิจฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤตจึงทำให้เกิดสัญญาณ “การควบรวมธุรกิจ” มากขึ้น

ปัจจุบัน “การควบรวมกิจการ” ต้องเป็นไปตามมาตรา 51 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า หากการรวมกิจการมีผลให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญต้องแจ้งผลการควบรวมต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่การรวมธุรกิจ และหากการรวมธุรกิจนั้นจะก่อให้เกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดต้องได้รับอนุญาตจาก กขค.ก่อนจึงจะรวมธุรกิจได้

แห่ยื่นควบรวม 77 เรื่อง

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) พบว่า ภาคธุรกิจมีการเข้ามายื่นขออนุญาตและแจ้งเพื่อทราบในการควบรวมกิจการตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562

ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้เริ่มสถิติการรวมธุรกิจตั้งแต่ปี 2561 ที่ก่อตั้งสำนักงานจนถึงปัจจุบัน นับรวมเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี พบว่า มีเอกชนเข้ายื่นควบรวมกิจการ 77 เรื่อง ซึ่งเป็นการแจ้งหลังควบรวมกิจการ 68 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 11 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่ต้องมาแจ้งตามกฎหมาย เพื่อจะได้ติดตามโครงสร้างธุรกิจ และเพื่อเอาไว้พิจารณาด้วยว่าธุรกิจดังกล่าวนั้น มีโอกาสจะมีอำนาจเหนือตลาดด้วยหรือไม่ ส่วนการวมกิจการที่ต้องขออนุญาตควบรวมกิจการ 9 เรื่อง อยู่ในการพิจารณา 1 เรื่อง

“หากพิจารณาแล้วพบว่ามีอำนาจเหนือตลาดแล้วจำเป็นจะต้องเข้าสู่การขออนุญาตในการควบรวมกิจการ ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายที่จะต้องขออนุญาตควบรวมกิจการนั้น คือ ธุรกิจที่มีขยายใหญ่มีมูลค่าตลาด 1,000 ล้านบาท เป็นธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด มีผลกระทบอีกทั้งมีสัดส่วนในตลาด 50% เมื่อจะมีการควบรวมกิจการจำเป็นจะต้องเข้ามาขออนุญาตจากสำนักงานก่อน”

ควบรวม

ธุรกิจบริการควบรวมมากที่สุด

นายสกนธ์กล่าวว่า เมื่อดูลงไปในหลายละเอียดจะพบว่ากิจการที่ควบรวมมากที่สุดจะเป็นธุรกิจของคนไทยด้วยกันเองถึง 80% และอีก 20% เป็นต่างประเทศที่เข้ามาควบรวม ซื้อกิจการในไทย ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจจากยุโรป เช่น เยอรมนี ส่วนในเอเชียจะมีฮ่องกง จีน สิงคโปร์ ที่มีธุรกิจขนาดใหญ่

“การควบรวมที่เกิดขึ้นเหตุผลหลักเป็นเพราะธุรกิจขนาดเล็กไปต่อไม่ได้จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ต้องขายและเลิกกิจการ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ควบรวมเพื่อรักษากำไร ผลประกอบการ การรวมธุรกิจทำให้ฐานทรัพย์สินนั้นอยู่ได้ เมื่อรวมกิจการแล้วก็จะทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ ลดลง และไปเพิ่มผลกำไรให้ดีขึ้น มีกระแสเงินสดให้สามารถไปซื้อกิจการที่ทำมูลค่ากับมาให้ธุรกิจได้ หรือเป็นการยกระดับธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น”

ประเภทธุรกิจที่มีการควบรวมกิจการจำนวนมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ เช่น โลจิสติกส์ ประกันภัย และกลุ่มอาหารจะมีทั้งกลุ่มแปรรูป และร้านอาหาร จากเหตุที่ภาคธุรกิจบริการเป็นภาคธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มูลค่าตลาดโดยรวม 1.2 ล้านล้านบาท และกว่าครึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ ลักษณะการควบรวมที่เห็นจะเป็นการเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่ม ซื้อกิจการ เป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ หากดูสัดส่วนการเข้าซื้อกิจการ จะพบว่า 49% เป็นกิจการคนไทยซื้อกิจการคนไทยด้วยการเอง 36% เป็นต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการของต่างชาติ กรณีนี้คือต่างชาติมีการควบรวมกิจการของตัวเองในต่างประเทศ แต่มีผลเนื่องจากมีธุรกิจในประเทศไทยซึ่งจะต้องแจ้ง บางกรณีไม่ต้องแจ้งในการควบรวมกิจการ และ 16% เป็นต่างชาติเข้าซื้อกิจการในไทย

“ล่าสุดก็มีการเข้ามายื่นขออนุญาตควบรวมกิจการ 1 เรื่อง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี ส่วน 8 เรื่อง ที่มีการขอควบรวมก่อนหน้านี้อยู่ในกลุ่มธุรกิจ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ค่าปลีก รถบรรทุก โลจิสติกส์ โฆษณา เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจที่เข้ามาขอควบรวมกิจการมีความหลากหลาย”

ตั้งศูนย์ธุรกิจเชิงลึกให้คำปรึกษา

ในปี 2565 สำนักงานได้ประเมินว่า ธุรกิจมีแนวโน้มจะควบรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายควบรวมกิจการ ทำให้มีผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้

ล่าสุด สำนักงานจึงมีแนวคิดที่จะตั้งศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก (Business Intelligence Unit) เพื่อวิเคราะห์ เฝ้าระวังพฤติกรรมธุรกิจขึ้นมา โดยจะให้คำปรึกษาธุรกิจตั้งแต่ก่อนควบรวมกิจการว่าจะต้องขออนุญาตหรือแค่ยื่นแจ้งการรวมกิจการ ไปจนถึงกระบวนติดตามธุรกิจที่ควบรวมกิจการเมื่อควบรวมแล้วเป็นอย่างไร มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ รวมไปถึงการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น

พร้อมกันนี้ สำนักงานยังได้อำนวยความสะดวกโดยการแก้ไขแบบฟอร์มการแจ้งการควบรวมกิจการใหม่ เริ่มใช้เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งลดอุปสรรคในการทำงาน โดยมีเป้าหมายว่าที่จะลดระยะเวลาการยื่นแจ้ง และการกระบวนการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60-90 วัน

กลไกดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์

และที่สำคัญ กขค.ยังวางนโยบายการกำกับการแข่งขันทางการค้า ปี 2565 ให้ครอบคลุมในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) ทุกรูปแบบ เพราะธุรกิจดังกล่าวขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตามภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี 2564 ธุรกิจกลุ่มนี้มีมูลค่าตลาดมากถึง 4 ล้านล้านบาท โดยประเภทธุรกิจนี้มีทั้งการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (E-Marketplace) การขนส่งสินค้า (E-Logistic) การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก (OTA) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ

หลักสำคัญการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ (M&A) ต้องตามให้ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มการควบรวมกิจการเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนต้องเข้าไปให้การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถแข่งขันได้มากขึ้นด้วย