มาม่า ผงซักฟอก ขอขึ้นราคา เปิดเกณฑ์ขึ้นราคาสินค้าควบคุม 56 รายการ

เครือสหพัฒน์ขอขึ้นราคามาม่า ผงซักฟอก เผยยื่นกระทรวงพาณิชย์แล้วหลายเดือน รมว.พาณิชย์ ขอเก็บข้อเสนอไว้ที่ราคาเดิม 

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 หลังประธานเครือสหพัฒน์ ประกาศขอขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และผงซักฟอก โดยระบุว่า สถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 3 เดือน ส่งผลกระทบในแง่ของราคาวัตถุดิบ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เกิดเอฟเฟ็กต์กับราคามากที่สุด

“โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าบะหมี่สำเร็จรูป จากแป้งสาลี น้ำมันปาล์มขึ้นหมด ถ้าไม่ขยับราคา บริษัทก็อยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีผงซักฟอก ที่จะต้องปรับราคาขึ้น ซึ่งต้องคุยกับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะปรับขึ้นได้เท่าไหร่ รวมถึงสินค้าอีกหลายรายการที่ต้นทุนปรับขึ้น โดยถ้าเป็นสินค้าควบคุม ต้องขอกระทรวงพาณิชย์ในการปรับราคาสินค้า”

จากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า “กรณีกระแสสหพัฒน์ขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  ยืนยันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งขายอยู่ปัจจุบันซองละ 6 บาท โดยก่อนหน้านี้ได้มีการร้องขอปรับราคามาหลายเดือน แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา”

รมว.พาณิชย์ ระบุว่า “ทราบว่าหลังจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมากเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต้นทุนการผลิตอาหารเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ขอความร่วมมือให้ช่วยกันตรึงราคาสำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใช้เวลาตรึงราคามาหลายเดือน”

ในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ทยอยขึ้นราคาเกือบทุกวัน-ทุกสัปดาห์ และมีอีกหลายรายการอยู่ในระหว่างการขอความเห็นชอบจากกรมการค้าภายใน นานหลายเดือนเพื่อปรับขึ้นราคาอีกหลายรายการ

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอวิธีการดูแลและกำกับสินค้าควบคุม ขั้นตอนกว่าสินค้าจะขึ้นราคาได้ ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอาเปรียบ การกักตุน และการค้ากำไรเกินควร

เกณฑ์ตั้งราคาสินค้า

การดูแลราคาสินค้าเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 รวมทั้งได้ยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้รัฐสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม และได้กำหนดกรอบนโยบายในการดูแลสินค้า คือ

  •  ราคาสินค้าต้องเป็นธรรม
  • มีปริมาณสินค้าเพียงพอกับความต้องการ
  • ปริมาณครบถ้วน ถูกต้องและตรงตามที่ระบุไว้
  • ไม่มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชน

สินค้าที่เข้าหลักเกณฑ์ควบคุมมีอะไรบ้าง

กลุ่มสินค้าที่เข้าหลักเกณฑ์การควบคุมราคา ภายใต้อำนาจคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้เป็นสินค้าควบคุม ดังนี้

1.เป็นสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ
2.เป็นสินค้าที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิตต่อเนื่อง
3.โครงสร้างตลาดมีผู้ผลิตหรือผู้ขายน้อยราย
4.สภาพตลาดไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร
5.เป็นสินค้าที่มีเทคนิคการผลิตและการลงทุนสูง
6.ส่งผลให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ค่อนข้างยาก
7.เป็นสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวด้านราคาบ่อยครั้งหรือขึ้นผิดปกติ และปริมาณขาดแคลนในบางครั้ง
8.เป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาในตลาดโลก

คุมราคาสินค้า กรมการค้าภายในมีอำนาจอะไรบ้าง

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะทำหน้าที่การสอดส่องติดตามสถานการณ์ภาวะราคาและปริมาณสินค้าอย่างใกล้ชิด ป้องกันมิให้มีการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบ และจำหน่ายสินค้าราคาโดยไม่เป็นธรรม โดยมีแนวทางมาตรการกำกับดูแลราคาและปริมาณสินค้า ดังนี้

การตรวจสอบราคาสินค้า

1.ตรวจสอบราคาและพฤติกรรมการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การครองชีพ สินค้าเกษตร และการให้บริการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อป้องกันและปราบปรามการฉวยโอกาสขึ้นราคา การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและเกษตรกร การปฏิบัติการการค้าที่ไม่เป็นธรรม ดูแลให้สินค้ามีปริมาณเพียงพอต่อผู้บริโภค โดยทำการตรวจสอบแบบเชิงรุก เพื่อเฝ้าระวังและเป็นการคาดการณ์ เตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่สินค้าและบริการจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น

2.ตรวจสอบตามคำร้องเรียน ผ่านศูนย์รับร้องเรียนราคาสินค้ากรมการค้าภายใน “สายด่วน 1569” เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

3.การตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ประจำจุดเป้าหมายตามแหล่งย่านการค้าและชุมชนต่าง ๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ย่านประตูน้ำ เป็นต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัตงานได้ทันทีเมื่อมีการร้องเรียนผ่าน “สายด่วน 1569”

สินค้าควบคุมตามกฎหมายต้องทำอะไรบ้าง

1.การปิดป้ายเเสดงราคาจำหน่าย ตรวจสอบเเละแนะนำให้ผู้จำหน่ายปลีกสินค้า 232 รายการ และผู้ให้บริการ 48 รายการ ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายสินค้าและค่าบริการ รวมทั้งผู้ประกอบการรับซื้อสินค้าเกษตร 30 รายการ ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย

2.การค้ากำไรเกินควรและการกักตุนสินค้า ตรวจสอบมิให้มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าและคิดค่าบริการสูงเกินสมควร ทำการกักตุนสินค้าโดยปฏิเสธการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

3.การเเจ้งข้อมูล ตรวจสอบให้มีการเเจ้งข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุน ราคา ปริมาณ ปุ๋ยเคมี นม กาแฟผงสำเร็จรูป ผงซักฟอก ปูนซีเมนต์ สายไฟฟ้า เหล็ก รวมทั้งสุ่มตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ประกอบการแจ้งไว้ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

ประชาชนได้อะไรจากการตรวจสอบ

1.ประชาชนผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองให้สามารถซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การครองชีพได้ในราคาที่เป็นธรรม และผู้ประกอบการไม่สามารถฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หรือปรับลดขนาด และจำหน่ายในราคาเดิมได้ สินค้ามีปริมาณครบถ้วน และเพียงพอต่อการบริโภค รวมทั้งป้องปราบการกักตุนสินค้า

2.เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งช่วยป้องกันมิให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบด้านปริมาณ น้ำหนัก และการหักลดความชื้น

เปิดวิธีดูแลสินค้าควบคุม 3 กลุ่ม

กลุ่ม Sensitive List (SL)

เป็นสินค้าและบริการที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ติดตามราคาและภาวะทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นประจำทุกวัน พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่กองตรวจสอบและปฏิบัติการ ตรวจสอบราคาจำหน่ายเข้มงวดและต่อเนื่อง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และหากเกิดภาวะวิกฤต อาจกำหนด มาตรการเพิ่มเติม ดังนี้

1. กำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุมเพิ่มเติม
2. ควบคุมราคาจำหน่ายอย่างเข้มงวด
3. กำหนดให้มีการปันส่วนสินค้า
4. จัดหาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพและจัดระบบการจำหน่ายให้มีสินค้าเพียงพอกับความต้องการ

กลุ่ม Priority Watch List (PWL)

เป็นสินค้าที่ติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยให้เจ้าหน้าที่กองตรวจสอบและปฏิบัติการ ตรวจสอบราคาจำหน่าย และหากเกิดภาวะวิกฤตอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้

1.เชื่อมโยงให้ผู้จำหน่ายปลีกรับสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต/จำหน่าย
2.จัดระบบการผลิตและจำหน่ายสินค้า รวมถึงสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิต
3.ป้องกันมิให้มีการกักตุนสินค้า

กลุ่ม Watch List (WL)

ในภาวะปกติ ได้กำหนดมาตรการในการกำกับดูแล ดังนี้

1.ติดตามภาวะราคาสินค้าและสถานการณ์สินค้าและบริการเป็นประจำทุกปักษ์ รวมทั้งตรวจสอบ และกำกับดูแลมิให้มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค โดยกองตรวจสอบและปฏิบัติการ
2.เปิดสายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค

56 รายการสินค้าและบริการควบคุม ปี 2565

ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีสินค้าควบคุม ดังนี้

หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์

1. กระดาษทำลูกฟูกกระดาษเหนียว
2. กระดาษพิมพ์และเขียน
3. เศษกระดาษ และกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก

หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง
4. ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์
5. รถจักรยานยนต์ รถยนต์บรรทุก

หมวดปัจจัยทางการเกษตร
6. เครื่องสูบน้ำ
7. ปุ๋ย
8. ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช
9. รถเกี่ยวข้าว
10. รถไถนา
11. หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์
12. กากดีดีจีเอส (ส่วนที่เหลือจากการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์โดยการหมักเมล็ดธัญพืช)

หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
13. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว
14. น้ำมันเชื้อเพลิง
15. ใยสังเคราะห์ Polyprolylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย

หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์
16. ยารักษาโรค
17. เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค
18. หน้ากากอนามัย
19. ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ

หมวดวัสดุก่อสร้าง
20. ท่อพีวีซี
21. ปูนซีเมนต์
22. สายไฟฟ้า
23. เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น

หมวดสินค้าเกษตรที่สาคัญ
24. ข้าวเปลือก ข้าวสาร
25. ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์
26. ข้าวโพด
27. ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์
28. ผลปาล์มน้ำมัน
29. มะพร้าวผลแก่ และผลิตภัณฑ์
30. ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครป

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค
31. กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า
32. แชมพู
33. ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก
34. ผลิตภัณฑ์ล้างจาน
35. ผ้าอนามัย
36. ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็ก และผู้ใหญ่
37. สบู่ก้อน สบู่เหลว

หมวดอาหาร
38. กระเทียม
39. ไข่ไก่
40. ทุเรียน
41. นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว
42. น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้
43. แป้งสาลี
44. มังคุด
45. ลำไย
46. สุกร เนื้อสุกร
47.หัวหอมใหญ่
48. อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก
49. อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
50. ไก่ เนื้อไก่

หมวดอื่นๆ
51. เครื่องแบบนักเรียน

หมวดบริการ
52. การให้สิทธิ์ในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า
53. บริการซื้อขาย และหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์
54. บริการทางการเกษตร
55. บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค
56. บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ