โครงการประกันรายได้ จ่ายให้เกษตรกรแล้ว กว่า 6.25 ล้านครัวเรือน

สินค้าเกษตร

“สินิตย์” ลงพื้นที่ติดตามนโยบายประกันรายได้ 5 สินค้า ในเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และร้อยเอ็ด ล่าสุดประกันรายได้จ่ายแล้วกว่า 6.25 ล้านครัวเรือน

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2565 ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้มาติดตามนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนาน โดยในครั้งนี้ได้ลงพื้นที่ ณ อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร และอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี

สินิตย์ เลิศไกร
สินิตย์ เลิศไกร

ทั้งนี้ นโยบายประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานนี้ช่วยให้เกษตรกรมีหลักประกันในรายได้ หากราคาตลาดต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกษตรกรก็จะได้รับรายได้ 2 ทาง

คือ 1) รายได้ที่ได้จากการจำหน่ายผลผลิต และ 2) ส่วนต่างระหว่างราคาที่จำหน่ายกับราคาเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศ

นายสินิตย์เปิดเผยต่อไปว่าขณะนี้ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว มีเกษตรกรมีสิทธิเข้าร่วมโครงการ รวมกว่า 7.92 ล้านครัวเรือน มีการโอนเงินให้เกษตรกรแล้วกว่า 6.25 ล้านครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 88,400 ล้านบาท ซึ่งได้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสำหรับสินค้าเกษตร 5 ชนิด แล้ว

ดังนี้ ข้าว ประกาศแล้ว 29 งวด มันสำปะหลัง ประกาศแล้ว 6 งวด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกาศแล้ว 6 งวด ปาล์มน้ำมัน ประกาศแล้ว 8 งวด และยางพารา ประกาศแล้ว 6 งวด

สำหรับโครงการประกันรายได้ในปี 3 (ปีการผลิต 2564/65) นี้ กำหนดราคาประกันสินค้าเกษตรเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 14 ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 16 ตัน) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 25 ตัน) ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 30 ตัน) ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 16 ตัน)

มันสำปะหลัง กำหนดราคาประกัน 2.50 บาท/กก. (ไม่เกิน 100 ตัน/ครัวเรือน) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดราคาประกัน 8.50 บาท/กก. (ไม่เกิน 30 ไร่/ครัวเรือน) ปาล์มน้ำมัน กำหนดราคาประกัน 4.00 บาท/กก. (ไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน อายุ 3 ปีขึ้นไป) และยางพารา กำหนดราคาประกัน สำหรับยางดิบ 60 บาท/กก. (ไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน) น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. (ไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน) และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. (ไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน)

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินมาตรการคู่ขนานควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้เพื่อให้มีการซื้อผลผลิตเก็บในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากไม่ให้ราคาตลาดตกต่ำ ซึ่งจะช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณในการประกันรายได้ อาทิ ให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง ได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ให้สหกรณ์และผู้ประกอบการ (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) เร่งรับซื้อเก็บสต๊อกโดยช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% เป็นต้น และสำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่