“อาคม” หวังปรับเพดานหนี้ ม.28 เหลือ 30% แนะลดวงเงินประกันรายได้ข้าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รมว.คลัง หวังปรับเพดานหนี้ มาตรา 28 ลดลงมา เหลือ 30% แนะลดวงเงินประกันรายได้ข้าวให้เป็นไปตามกรอบ ชี้ไม่อยากให้ใช้เงินล่วงหน้ามากเกินไป ตั้งงบฯชำระหนี้คืนไม่ครบ กระทบกรอบวงเงินเต็ม

วันที่ 19 เมษายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ มาตรา 28 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 จากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มขึ้นเป็น 35% ซึ่งจะครบกำหนดสิ้นเดือน ก.ย. 65 จะสามารถปรับไปยังกรอบเดิมได้หรือไม่นั้น ต้องไปดูงบประมาณของปี’66 ซึ่งจะเริ่มใช้เม็ดเงินในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ว่ามีเม็ดเงินที่ตั้งชดเชยไว้ให้อย่างไร ก็จะทำให้เห็นยอดเงินของมาตรา 28

อย่างไรก็ดี จะต้องไปดูจาก 2 ประด็นด้วย คือ โครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ สามารถปิดโครงการใดได้แล้วบ้าง ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องไปไล่ดูเพื่อปิดโครงการ และส่งเงินคืนกลับมา ส่วนที่ 2 คือ โครงการที่จะดำเนินในปี’65 และ ปี’66 นั้น จะต้องไปดูในเรื่องของความเหมาะสม หรือขนาดของโครงการ เช่น โครงการประกันรายได้ข้าว ที่ควรจะต้องปรับลดวงเงินลงมาให้อยู่ในกรอบของการใช้เงินตาม มาตรา 28

“ดังนั้น จะมีเงินจากวงเงินงบประมาณปี’66 ที่จำเข้ามาส่วนหนึ่ง จากการปิดโครงการส่วนหนึ่ง และขนาดของวงเงินที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่ากรอบเพดานหนี้ มาตรา 28 ในสัดส่วน 35% หรือ 30% นั้น เราจะปรับลดกลับลงมาได้หรือไม่ แต่เราอยากให้กลับมา เพราะไม่อยากให้ใช้เงินล่วงหน้าให้มากเกินไป เพราะเงินที่กลับมาถ้าตั้งเต็มตามที่โครงการกำหนดก็จะไม่มีปัญหา”

นายอาคมกล่าวว่า ส่วนใหญ่เวลาไปตั้งงบฯชำระหนี้คืนในงบประมาณ สำนักงบประมาณก็จะตั้งให้ไม่ครบ ทำให้พอกพูน ทำให้กรอบวงเงินไม่มีเหลือ แต่หากมีการตั้งงบฯเติมเข้ามาให้เต็ม เช่น เมื่อมีการใช้จ่ายไป 100 บาท และมีการตั้งงบประมาณชดเชยคืนมาให้ 100 บาทในปีงบประมาณถัดไป ก็จะไม่มีปัญหาเลย แต่ขณะนี้เงินที่ใช้จ่ายไปล่วงหน้ามีการสะสม จากการตั้งงบประมาณคืนมาให้น้อยกว่าที่ใช้ ในขณะที่โครงการยังต้องดำเนินการยังต้องใช้จ่ายเงินอยู่ ทำให้รายจ่ายมันโปร่ง

ด้านโครงการชดเชยรายได้เกษตรกร เช่น โครงการประกันรายได้ข้าวนั้น กระทรวงการคลังอยากให้มีการนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ แต่อาจมีข้อจำกัดว่าในการตั้งงบประมาณจะต้องมีรายละเอียด และความชัดเจนในการจ่ายชดเชยให้เกษตร เช่น เกณฑ์การจ่ายเงิน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการเสนอรายละเอียดมา จึงเข้าใจว่าอาจจะมีการขอใช้งบฯตามมาตรา 28 เหมือนเดิม

“กระทรวงการคลังก็จะเข้าไปดูในเรื่องของหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยให้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งยังต้องดูราคาสินค้าในตลาดขณะนั้นด้วย โดยขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรขึ้นเกือบทุกตัว ยกเว้นข้าวที่ราคายังไม่ปรับขึ้น ก็จะต้องไปดูเรื่องของซัพพลาย หรือจำกัดปริมาณการผลิต ไม่เช่นนั้นข้าวก็จะล้นตลาดไปเรื่อย ส่งผลต่อราคาให้ตกลงตลอด ซึ่งมีกลไกของ นบข. ที่จะเข้าไปดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว”