“จุรินทร์” โชว์วิชั่นเชิงรุก-ลึก ตั้งเป้ารายได้ปี’65 ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านล้านบาท

“จุรินทร์” โชว์วิชั่นเชิงรุก-ลึก ตั้งเป้าโกยรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 9 ล้านล้านบาท ลั่นราคาพืชเกษตรปีนี้ ดีเกือบทุกตัว เผยปมปาล์มน้ำมันแพง ต้องเจรจาให้เกิดความสมดุลทุกฝ่ายอยู่ร่วมกัน แม้เป็นเรื่องยาก ไม่ฟันธงระงับการส่งออก

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การสนับสนุนการค้าของไทยกับนานาชาติ” ในงานสัมมนาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “Enhance the Dots” ว่า ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ของการทำงาน ที่ผ่านมาถือว่าเราประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการทำงานร่วมกันกับกระทรวงพาณิชย์

ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจ โควิด-19 และมาเจอวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้อนมาอีก แต่ต้องย้ำว่าวิกฤตเหล่านี้ทั้งโลกก็เผชิญเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบ ดูได้จากตัวเลข IMF ก่อนเกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน คาดว่า GDP ปี 2565 จะโตได้ 4.4% แต่เมื่อมาเจอวิกฤตลดจาก 4.4% เหลือ 3.6%

สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าปี 2565 GDP จะโตประมาณ 3.5-4.5% แต่ล่าสุดประเมินเหลือ 3.5% การส่งออกยังจะคงเป็นพระเอกต่อไปในปี 2565 ปีที่แล้วการส่งออกคิดเป็น 58% ของ GDP ซึ่งเป็นสินค้า 53% บริการ 5% เดิมที่ตั้งเป้าส่งออกปี 2565 น่าจะโตได้ 3-4% แต่ตัวเลขส่งออกของไทยกลับกันกับ GDP โลก จะบวกเพิ่มขึ้น 6-8% แบงก์ชาติประมาณการว่าส่งออกน่าจะโตได้ถึง 6%

ซึ่งไตรมาสที่หนึ่งโตไป 15% แล้ว เดือน ม.ค.-มี.ค. สามารถนำเงินเข้าประเทศแล้ว 2.4 ล้านล้านบาท เฉพาะเดือน มี.ค.เดือนเดียวเป็น 20% สามารถทำเงินเข้าประเทศ 9.2 แสนล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าว่าจะนำเงินเข้าประเทศจากเดิม 8.5 ล้านล้านบาท ปีนี้จะทำให้ได้ 9 ล้านล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือ คือประสบความสำเร็จในการส่งออกไก่ จากนโยบาย “เชิงรุก-เชิงลึก” มา 1 ปีเต็ม ขณะนั้นที่เข้ามารับตำแหน่งได้หารือกรมการค้าต่างประเทศเร่งเจรจากับซาอุดีอาระเบีย กระทั่งตรวจโรงงานไก่ ส่งออกได้สำเร็จ และเมื่อท่านนายกฯฟื้นความสัมพันธ์หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์เราส่งออกไก่ลอตแรกในประวัติศาสตร์ในรอบ 20 ปี ขณะที่ข้าวปีที่แล้วส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน ปีนี้มีโอกาสส่งออกไปถึง 7-8 ตัน การส่งออกจึงยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยสำคัญอีกด้วย

ส่วนการท่องเที่ยวสำคัญมาก วันนี้เราเริ่มนับหนึ่งแล้วจะเป็นตัวช่วยในการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนโควิดท่องเที่ยวของไทยปี 2562 คิดเป็น 11% ของ GDP ปี’63 เหลือ 2.7% และปี’64 เหลือเพียง 0.9% จากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนช่วยกัน

โดยตั้งเป้าว่าปีนี้ จะนำนักท่องเที่ยวให้ได้ 20 ล้านคน คือความหวังที่จะนำการท่องเที่ยวมาเป็นตัวช่วยการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย นอกจากการลงทุนภาครัฐ-เอกชน การบริโภคและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีการบ้าน 3 ข้อ

1.ต้องผลักดันการส่งออกต่อไปให้เข้มข้นขึ้น

2.ต้องช่วยดูแลราคาพืชผลการเกษตร สำหรับคนตัวเล็กคือเกษตรกรที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ทำให้พวกเราเดินหน้าเศรษฐกิจฐานรากต่อไปได้

3.ดูแลค่าครองชีพของผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศ จากนี้เราต้องเดินหน้าด้วยนโยบาย 2 ข้อผสมผสาน

1.นโยบายเชิงรุก Proactive Trade Policy และ2.ต้องลึก ln-Depth Policy ทั้งเชิงรุกและเชิงลึกจะต้องไปด้วยกัน

นอกจากนี้ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ จะทำให้เดินเป้าหมายไปสู่การส่งออก และต่อไปต้องมี กรอ.พาณิชย์ในแต่ละภาค ซึ่งเกิด กรอ.พาณิชย์ภาคใต้แล้ว เน้นเฉพาะปัญหาในแต่ละภาค จึงรุกและลึกมากขึ้นและเรื่อง FTA ปัจจุบันมีกับ 18 ประเทศ 14 ฉบับ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าที่ไทยทำกับทั้งโลก แต่ต้องรุกและลึกมากขึ้น Mini-FTA ต้องเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม กับระดับรัฐและมณฑลหรือเมืองที่มีศักยภาพทางการค้า

อีกทั้ง ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ทำแผนใหม่รุกและลึกขึ้น ปี 2565 พื้นที่ตลาดเป้าหมายจะเป็นเมืองไหนรัฐไหนหรือโซนไหนของประเทศที่จะทำตัวเลขพิเศษ เจาะสินค้า บริการ รวมทั้ง การค้าชายแดน เปิดด่านแล้ว 48 ด่าน จาก 97 ด่านทั่วประเทศ จากนี้ไปเจาะลึกมาก ต้องการนำเงินเข้าประเทศให้เร็วที่สุด

“ท้ายสุดคือ สร้างคนรุ่นใหม่ อบรมให้ความรู้หลักสูตรพิเศษ เพื่อให้โตเป็นนายตัวเอง โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO 2 ปีที่ผ่านมา ทำได้ 20,000 กว่าคน ปีนี้ทั้งปีจะทำให้ได้อีก 20,000 คน และมี CEO เชิงลึกสินค้า ทำให้เกิด CEO Gen Z ฮาลาล ที่จังหวัดชายแดนใต้ ปีนี้จะปั้นให้ได้ 1,000 คนเป็นแม่พักบุกตลาดฮาลาลในอนาคต ซึ่งนโยบายปี’65 รุก-ลึก ต้องดำเนินการเป็นรูปธรรม”

สำหรับราคาพืชเกษตรปีนี้ ดีเกือบทุกตัว เมื่อวานได้ประชุมส่งออกผลไม้เปลี่ยนแผนเพราะติดอุปสรรคการส่งทางบก เนื่องจากนโยบายซีโร่โควิดของจีน ซึ่งเรื่องหนึ่งที่แก้ไม่ได้คือการสั่งให้รัฐบาลจีนเปลี่ยนนโยบาย ต้องยอมรับว่านโยบายซีโร่โควิดยังอยู่กับเรา ตราบที่จีนยังไม่เปลี่ยนนโยบาย

ซึ่งภายในเงื่อนไขจำกัดนี้ เมื่อไหร่ที่ด่านปิดเรารีบเจรจาให้เปิด แผนการส่งออกปีนี้เปลี่ยนจากทางบก 48% มาเหลือ 10.5% และเพิ่มทางเรือจาก 52% เป็น 83% และทางอากาศจากไม่ถึง 1% เป็น 6.5%

และจากนี้ได้ตั้งวอร์รูมให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายมีการประชุมตลอด และตนได้เปิดพาณิชย์ Fruit Festival 2022 กว่า 10,092 จุดจำหน่ายผลไม้ในประเทศ และสุดท้ายเรื่องค่าครองชีพเป็นการบ้านข้อใหญ่ ซึ่งเจอกับทุกประเทศในโลก เนื่องจากเงินเฟ้อ ราคาขึ้นเพราะราคาน้ำมัน พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ต้องจับมือกันแก้ทั้งรัฐบาลและกระทรวงอื่น ๆ ทั้งภาคเอกชน

“ต่อไปนี้การทำงานของผมต้องร่วมทำงานคือ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราคาสินค้า 1.ต้นน้ำเกษตรกร 2.กลางน้ำผู้ประกอบการกับผู้ส่งออก 3.ปลายน้ำผู้บริโภค ซึ่งผลประโยชน์ย้อนแย้งกันอยู่ ผมจะใช้ วิน-วินโมเดล ทำอย่างไรให้ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่กันได้ด้วยดี แม้บางฝ่ายอาจจะต้องลดผลประโยชน์ลงไปบ้างแต่ให้อยู่ได้ ด้วยความยุติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ของประเทศ”

สำหรับประเด็น ราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันหลายพื้นที่พุ่งสูงขึ้นเกินกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลต่อราคาน้ำมันปาล์มขวดที่ใช้ประกอบอาหารราคาใกล้ขวดละ 70 บาทว่า กระทรวงพาณิชย์รับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันปาล์มเวลานี้ ได้สั่งการให้อธิบดีกรมการค้าภายใน เร่งเจรจาพูดคุยกับทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว ประกอบด้วยเกษตรกร โรงกลั่น ผู้ผลิตสินค้าน้ำมันปาล์มรวมถึงผู้บริโภค ต้องเจรจาให้เกิดความสมดุลและทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะมีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมไม่ใช่รัฐมนตรี ไม่มีอะไรในหัว แต่ไม่อยากตอบไปก่อนล่วงหน้า เพราะจะชี้นำตลาดและเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีการพูดคุยกับผู้ผลิตมาโดยตลอด ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มขวดยังขายอยู่ที่ราคาขวดละ 62-64 บาทได้ในระยะหนึ่ง

ซึ่งราคาตามโครงสร้างจริงน้ำมันปาล์มขวด ราคาเกือบแตะ 70 บาทแล้ว ที่ให้ไปคุยไม่ได้กำหนดกรอบเวลา แต่ก็ขอให้เร็วที่สุด ส่วนจะระงับการส่งออกปาล์มน้ำมันหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่อยากตอบ เดี๋ยวจะชี้นำตลาด ต้องรอให้คุยกันมาก่อน เราจะใช้นโยบาย วิน วิน โมเดล ที่ทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันได้” นายจุรินทร์กล่าว