ไทยยูเนี่ยนเตรียมเปิดโรงงานโปรตีนจากแมลงแห่งแรก

Flying spark

ไทยยูเนี่ยนรุกตลาดสินค้านวัตกรรมเต็มสูบ เตรียมเดินเครื่อง “ฟลายอิ้ง สปาร์ค” โรงงานโปรตีนจากแมลงโชว์เคสแห่งแรก กำลังผลิตโปรตีนพรีเมี่ยม 100 ตัน ชูจุดแข็งเลี้ยงง่าย-ต้นทุนต่ำ พร้อมประกาศรายได้ Q1 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 36,272 ล้านบาท โต 16.5% ผุดบริษัท อาร์บีเอฟ-ทียู ฟู้ด อินกรีเดียนท์ ไพรเวท จ่อรุกตลาด “อินกรีเดียนต์” คุณภาพสูงในอินเดีย

นายอีแรน โกรนิช ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศการลงทุนครั้งแรกกับฟลายอิ้ง สปาร์ค สตาร์ตอัพด้านโปรตีนทางเลือกจากอิสราเอลเมื่อปี 2562 ด้วยเงินลงทุน 150 ล้านบาท โดยได้สร้างโรงงานขึ้นในประเทศไทย ใช้เวลาประมาณ 3 ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 มีกำลังการผลิตโปรตีนเกรดพรีเมี่ยมมากกว่า 100 ตัน และโปรตีนจากสัตว์น้ำมากกว่า 1,000 ตันต่อเดือน

“ฟลายอิ้ง สปาร์คใช้ตัวอ่อนแมลงที่กินผลไม้เป็นอาหาร ซึ่งแมลงชนิดนี้จะสามารถเติบโตได้ถึง 250 เท่าในวงจรชีวิตเพียงแค่ 7 วัน และด้วยเทคโนโลยีของฟลายอิ้ง สปาร์ค ทำให้การผลิตเพาะเลี้ยงทำได้ง่ายและต้นทุนต่ำ และช่วยลดขยะเหลือเกือบศูนย์ เพราะทุกส่วนของแมลงได้ถูกนำมาใช้ ทำให้ฟลายอิ้ง สปาร์คล้ำหน้าแหล่งโปรตีนแบบดั้งเดิม ที่ได้จากเนื้อสัตว์และพืช และแมลงอื่น ๆ เช่น จิ้งหรีดและตั๊กแตน”

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยยูเนี่ยนมุ่งพัฒนาสินค้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และอาจเห็นการลงทุนเพิ่มขึ้นจากนี้ต่อไปด้วย เราหยุดไม่ได้ที่จะลงทุนเรื่องนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายว่านวัตกรรมจะต้องมากขึ้น เร็วขึ้น และใหญ่ขึ้นทุกรูปแบบ

ซึ่งล่าสุดการก่อสร้างโรงงานโปรตีนจากแมลงซึ่งจะเป็นโชว์เคสที่เกิดขึ้นที่ จ.สมุทรสาคร ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 โดยแมลงที่ใช้เป็นแมลงวันหัวทอง กินผลไม้ เพาะเลี้ยงเองในระบบปิดเหมือนกับเลี้ยงผึ้ง แต่ว่ามีความทันสมัยมากกว่า ความท้าทายของโปรตีนจากแมลง คือเรื่องต้นทุน จะต้องดูช่วงที่สเกลอัพว่า ต้นทุนจะลดลงมาเหมาะสมที่จะใช้ทดแทนโปรตีนจากธรรมชาติหรือไม่

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนมีแผนจะมุ่งขยายตลาดสินค้ากลุ่มโปรตีนจากพืช (plant base) ภายใต้แบรนด์ OMG ที่พัฒนาออกมาก่อนหน้านี้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงขายในประเทศ แต่สินค้านี้เน้นการส่งออก มีตลาดอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และในเอเชีย เช่น ฮ่องกง ซึ่งเพิ่งเริ่มต้น

“OMG รสชาติดี แต่ว่ายังมียอดขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีการขายผ่านรีเทล เพียงแต่คนที่อยากจะทานอาหารประเภทนี้ยังไม่ได้กว้างขวางเหมือนในต่างประเทศ เราเน้นการส่งออกและการรับจ้างการผลิต ทำให้เรามีสเกลการผลิตที่ใหญ่มากขึ้น ทำเรื่องต้นทุนให้ดีขึ้น ส่วนราคาจะเทียบเท่าโปรตีนปกติก็คงต้องใช้เวลาอีก ความยากของมันคือใคร ๆ ก็ทำได้ ให้ใครคิดว่าทำได้ และโดดเข้ามาทำ ฝุ่นตลบมาก สุดท้ายก็ต้องไปดูตอนหลังว่าใครจะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่ากัน เราค่อย ๆ คัดกรองผู้เล่นที่มีศักยภาพที่จะอยู่ต่อไปในอนาคต”

ทั้งนี้ ทียูได้รายงานผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2565 ยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 36,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้กำไรขั้นต้น 6,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.4% จากปัจจัยบวกอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า ความต้องการสินค้าทั่วโลกสูงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศได้กลับสู่สภาวะปกติและผ่อนคลายมาตรการป้องการการแพร่ระบาดต่าง ๆ การบริหารจัดการต้นทุน

ประกอบกับผู้บริโภคเชื่อมั่นและต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ดี ด้วยแรงกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อและอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งทั่วโลก ทำให้กำไรสุทธิลดลง 3.2% อยู่ที่ 1,746 ล้านบาท

โดยธุรกิจหลัก 3 ส่วนของบริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋อง ยอดขายเพิ่มขึ้น 14.3% อยู่ที่ 15,527 ล้านบาท ปัจจัยบวกจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ส่งผลบวกต่อธุรกิจ และราคาขายของสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น ยอดขายเพิ่มขึ้น 14.2% อยู่ที่ 13,790 ล้านบาท

จากความต้องการที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย ที่มีความต้องการสินค้าประเภทกุ้งสูงขึ้น อีกทั้งธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มทยอยฟื้นตัว และเช่นเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ส่งผลบวกต่อยอดขาย นอกจากนี้บริษัทยังได้นำระบบเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาใช้ในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริหารจัดการต้นทุนต่อหน่วย

และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าเพิ่มมูลค่า ยอดขาย 6,955 ล้านบาท พุ่งสูงขึ้น 27.2% จากการที่ผู้คนใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และบริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังมียอดขายที่สูงขึ้นด้วย

“ในไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทได้ขยายธุรกิจจัดจำหน่ายส่วนผสมในอาหาร (อินกรีเดียนต์) คุณภาพสูงในประเทศอินเดีย โดยตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกับบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) และบริษัท Srinivasa Cystine Private Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออะแวนติ กรุ๊ป โดยใช้ชื่อบริษัท อาร์บีเอฟ-ทียู ฟู้ด อินกรีเดียนท์ ไพรเวท จำกัด”

พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยจัดตั้งบริษัท แปซิฟิค ทียูเอ็ม โคลด์ สโตเรจ จำกัด บริษัทร่วมทุนแห่งใหม่กับบริษัทแปซิฟิค ห้องเย็น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างคลังสินค้าห้องเย็นใน จ.สมุทรสาคร เพื่อรองรับการจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น