ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตสวนยางมาแรง กยท.สร้างมาตรฐาน ZERO CARBON

ยางพารา

กยท. เร่งเครื่องมาตรการ ZERO CARBON ผนึก อ.อ.ป. ลงนาม MOU ลดก๊าซเรือนกระจก เสริมรายได้ชาวสวนยาง ดันมาตรฐานสากล  FSCTM PEFCTM มุ่งสร้างโอกาสธุรกิจคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพารา เผยราคายางปีนี้ แนวโน้มดีไม่ต่ำกว่า 60 บาท/กก.

วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก หรือมาตรการ ZERO CARBON กยท. เริ่มเดินหน้า มาตรการ ZERO CARBON เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเกษตรภาคยางพารา พร้อมวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรชาวสวนยาง

ซึ่ง กยท. เล็งเห็นว่าโครงการนี้เป็นโอกาสใหม่ของเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ที่ได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ไปพร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ การยางแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการทำสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล และการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการจัดทำโครงการ การฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ นวัตกรรมให้แก่ บุคลากรทั้ง 2 หน่วยงาน และเกษตรกรชาวสวนยาง พัฒนาความรู้ความเข้าใจ นำไปสู่การทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล บริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพาราได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ผอ.อ.อ.ป.) เปิดเผยว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการทำสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล และการบริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นดำเนินตามพันธกิจของรัฐวิสาหกิจ ของ อ.อ.ป. และ กยท.

ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ นวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล  ให้ได้ตามมาตรฐาน FSCTM, PEFCTM  ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพารา และสร้างโอกาสในธุรกิจคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพารา

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ อ.อ.ป. และ กยท. จะให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือ ในรูปแบบการจัดทำโครงการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ นวัตกรรม ให้แก่บุคลากร เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาความรู้ สร้างความเข้าใจ ในเรื่องการทำสวนยางให้เกิดความอย่างยั่งยืน และให้เป็นไปตามมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งการบริหารจัดการการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนยางพาราที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

นอกจากนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีการแลกเปลี่ยนบุคลากร มีการศึกษาดูงาน และฝึกงาน บุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพ เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงเสริมสร้างและสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ นวัตกรรม ในเรื่องการจัดการสวนยางให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างสูงที่สุด

“อ.อ.ป. และ กยท. มุ่งหวังไว้ว่า การร่วมลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และจะสามารถพัฒนาศักยภาพของสวนยางให้เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากล  ตลอดจนสามารถขับเคลื่อนงานของรัฐบาล เรื่อง ลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่ง”

ยางพารา

สำหรับสถานการณ์ราคายางพาราในปีนี้ กยท.ประเมินว่ายังปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยางล้อจีนที่ฟื้นตัว แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยังยืดเยื้อ แต่จีนที่เป็นตลาดหลักยังมีคำสั่งซื้อยางพาราของไทย ส่งผลให้ราคายางปีนี้ยังคงปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะสูงกว่า 60 บาท/กก. ซึ่งแม้ว่าปีนี้ยังไม่มีนโยบายประกันรายได้เพิ่มเข้ามาแต่เพื่อลดความเสี่ยง กยท.มีนโยบายชะลอการเก็บน้ำยาง โครงการเก็บยางแห้งของผู้ประกอบการ โครงการแปรรูปยาง ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ขณะเดียวกันปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังยังคงเป็นเรื่องต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมยางที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งขึ้น จากภาวะสงครามรัสเซียกับยูเครน และการปรับดอกเบี้ยของเฟด สร้างความเสี่ยงต่อภาวะเงินทุนไหลออก และกดดันให้บางประเทศเอเชีย ปรับนโยบายการเงินโดยที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เป็นต้น

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ อาจส่งผลให้ราคาน้ำยางสดในเดือนพฤษภาคม 2565 ใกล้เคียงกับเดือนเมษายน 2565 หรือเคลื่อนไหวอยู่ที่ 62-66 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในเดือนมิถุนายน อาจปรับลงมาเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกเยอะ แต่คาดว่าราคาจะผันผวนไม่มาก และสถานการณ์ยางทั่วโลก พบว่าในปีนี้ความต้องการใช้ยางจะมากกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาด โดยผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างอินโดนีเซียใน 3 ปี ข้างหน้าผลผลิตยางพาราจะลดลง 30% เนื่องจากขาดแรงงาน เกษตรกรหันไปปลูกปาล์มน้ำมันที่สร้างรายได้มากกว่า