โรงกลั่นกัดฟันอุดหนุนรัฐ ไทยออยล์หั่นกำไร 4,600 ล้าน

โรงกลั่น

โรงกลั่นน้ำมันกระทบหนัก กำไร 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.) หายวับ 16,800 ล้านบาท ลดลง 15-40% หลังรัฐเรียกเก็บ “กำไรส่วนเกิน” จากค่าการกลั่น-โรงแยกก๊าซ เกือบ 24,000 ล้านบาทเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตรึงราคาดีเซล

โบรกฯชี้ไทยออยล์หนักสุดต้องแบ่งกำไร 4,600 ล้านบาทช่วยอุ้มกองทุนฯจับตาโรงกลั่นต่างชาติแจ้งผู้ถือหุ้น หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ส่งผลหุ้นโรงกลั่น-พลังงานร่วงทั้งกระดาน

ภายหลังการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อบรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงและลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับการออกมาแถลงข่าวที่อ้างว่า รัฐบาลได้เปิดการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซภายในประเทศ “ยินดี” ที่จะให้ความร่วมมือในการนำส่ง “กำไรส่วนที่เพิ่มขึ้น” มาช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับประชาชน

โดยนำส่งเงินเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เป็นเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2565) ซึ่งนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะเก็บเงิน 3 ประเภท ได้แก่ 1) กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท ส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ

2) กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินเดือนละ 1,000 ล้านบาท จะนำไปลดราคาน้ำมันเบนซินทันที 1 บาท/ลิตร และ 3) กำไรจากโรงแยกก๊าซเดือนละ 1,500 ล้านบาท นำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุน

การเรียกเก็บ “ส่วนต่าง” กำไรจากค่าการกลั่น (GRM) ที่สูงผิดปกติดังกล่าว แม้จะเป็นการ “ขอความร่วมมือ” แต่ก็ได้สร้างผลกระทบให้กับราคาหุ้นของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศปรับลดลงมาทันที ตั้งแต่การเปิดตลาดในเช้าวันที่ 17 มิถุนายน

พร้อมกับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักลงทุนเข้ามาในทำนองที่ว่า รัฐบาลกำลังเข้าไปแทรกแซง “ค่าการกลั่น” ซึ่งหมายถึงการทำกำไรขั้นต้นของโรงกลั่นน้ำมัน ที่จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทน้ำมันตลอดทั้งปี รวมไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ในอนาคตด้วย

รีดกำไรไปช่วยกองทุนน้ำมันฯ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า การขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันให้นำส่งกำไรส่วนที่เพิ่มขึ้นจากค่าการกลั่น และโรงแยกก๊าซนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องของ “สภาพคล่อง” ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากข้อเท็จจริงที่ว่า กองทุนน้ำมันฯแทบจะไม่มีความสามารถที่จะ “อุดหนุน” ราคาน้ำมัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ตามกรอบ 35 บาท/ลิตร ตามนโยบายของรัฐบาล โดยผลของการตรึงราคาน้ำมันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่งผลให้ฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันฯติดลบ -91,089 ล้านบาท หรือใกล้ที่จะทะลุ -100,000 ล้านบาท ไม่เกินสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

ประกอบกับ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเองยังไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องในวงเงินขั้นต้น 20,000 ล้านบาทได้ เนื่องจากยังไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดยอมปล่อยเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ

หลังจากพิจารณาแผนการชำระหนี้แล้วเห็นว่า มี “ความเสี่ยงสูง” รัฐบาลไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ให้กับกองทุน ขณะที่สถานะของกองทุนเองก็มีแต่ “เงินไหลออก” จากการชดเชยส่วนต่างราคาน้ำมันและก๊าซที่ยังคงอุดหนุนต่อเนื่อง ส่วนรายรับจาก “เงินไหลเข้า” น้อยกว่าเงินไหลออก แถมยังไม่มีความแน่นอนอีกด้วย

“เส้นตายของกองทุนน้ำมันฯก็คือ สิ้นเดือนมิถุนายน จะต้องมีแหล่งเงินใหม่ ๆ เข้ามาให้กองทุน แต่การกู้เงินไม่มีความคืบหน้า รัฐบาลเองก็มีทีท่าว่าจะไม่ยอมจัดสรรงบฯกลางเข้ามาช่วย แต่การจะปล่อยให้กองทุนน้ำมันฯสิ้นสภาพ และปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลก็จะส่งผลกระทบไปถึงตัวเลขเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น

ในเมื่อหมดหนทางเลือกแล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเสี่ยงที่จะนำเงินจากค่าการกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซ เข้ามาเติมให้กับกองทุน โดยตัวเลขที่คำนวณกันอย่างคร่าว ๆ จะเห็นว่า จะมีเงินไหลเข้ามาถึงเดือนละ 7,000-8,000 ล้านบาท หรือภายใน 3 เดือนที่เรียกเก็บเงินจากโรงกลั่นน้ำมัน จะมีเงินหมุนเวียนอยู่ที่ 21,000-24,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินเบื้องต้นที่กองทุนน้ำมันฯต้องการกู้จากสถาบันการเงินพอดี” แหล่งข่าวผู้ค้าน้ำมันกล่าว

จับตาท่าทีโรงกลั่นน้ำมัน

มีการตั้งข้อสังเกตเข้ามาว่า การเรียกเก็บเงินจากค่าการกลั่นน้ำมันครั้งนี้ ยังไม่มีคำตอบอย่างเป็นทางการจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 โรง นอกจากนี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ

ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า จะเรียกเก็บสิ่งที่เรียกว่า “กำไรส่วนที่เพิ่มขึ้น” นั้นอย่างไร เนื่องจากค่าการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นแต่ละโรงไม่เท่ากัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้ออกมาก็แตกต่างกันไป และใช้มาตรฐานใดที่จะชี้ว่า โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซนั้น ๆ มีกำไรส่วนเพิ่มที่เท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บกำไรส่วนเพิ่มครั้งนี้มีการอ้างว่า เป็นการ “ขอความร่วมมือ” เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายที่ว่า จะสามารถเรียกเก็บเงินจากกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นได้หรือไม่ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

คือ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ในเครือ ปตท. กับโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นของต่างชาติ ทั้ง 2 กลุ่มจะต้องเตรียมคำตอบไว้ให้กับผู้ถือหุ้นที่ว่า มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ จะต้องตัดกำไรส่วนเกินของธุรกิจการกลั่นและโรงแยกก๊าซเพื่อนำเงินไปอุดหนุนราคาพลังงานภายในประเทศ ผ่านกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นกลไกของรัฐบาล

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO มองว่า ธุรกิจการกลั่นน้ำมันเป็นธุรกิจระยะยาว มีวงจรธุรกิจทั้งขาขึ้นและขาลง การดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเป็นไปตาม “หลักการค้าเสรี” อ้างอิงตามราคาตลาดโลก ทั้งนี้ “ค่าการกลั่น” ยังไม่ใช่กำไรสุทธิของโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและกำไร/ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเช่นกัน “ทางเอสโซ่ได้ร่วมหารือกับภาครัฐผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าการกลั่นแก่ภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม เอสโซ่ยังคงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ จัดหาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนช่วยเหลือชุมชนที่เราอาศัยอยู่”

ลดค่ากลั่น TOP อาการหนักสุด

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการใหม่ของภาครัฐที่จะออกมาข้างต้น เบื้องต้นจากการสอบถามไปยังบริษัทโรงกลั่นใน 4-5 แห่งพบว่า “ทางผู้บริหารยังไม่ทราบเรื่อง”

ดังนั้นจึงประเมินเบื้องต้นว่า หากมาตรการนี้เกิดขึ้นจริง และโรงกลั่นน้ำมันให้ความมือทุกแห่งก็จะกระทบ “กำไรสุทธิ” ในภาพรวมของธุรกิจโรงกลั่น (TOP-PTTGC-IRPC-BCP-SPRC-ESSO) รวมประมาณ 16,800 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 65) โดยโรงกลั่นน้ำมันฝั่ง ปตท.จะกระทบกำไรสุทธิประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรประมาณ 9% ของกำไรทั้งปี

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อกำไรสุทธิโดยรวมประมาณ 16,800 ล้านบาทนั้น โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ (TOP) จะ “อาการหนักสุด” เพราะว่าในแง่กำลังการกลั่นใหญ่ที่สุด จำเป็นต้องแบ่งกำไรไปประมาณ 4,600 ล้านบาท

ขณะที่ BCP-SPRC-ESSO จะอยู่ในระดับประมาณ 2,000-2,200 ล้านบาท ส่วน PTTGC-IRPC จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2,900-3,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะคิดเป็นสัดส่วนที่กระทบต่อกำไรเฉลี่ยประมาณ 16-18% ของกำไรแต่ละบริษัททั้งปี แต่ IRPC จะคิดเป็นสัดส่วนกำไรถึง 40% เหตุผลเพราะกำไรน้อย และช่วงนี้ธุรกิจปิโตรเคมีไม่ดีด้วย

“คราวนี้จะขึ้นอยู่กับโรงกลั่นแต่ละแห่งจะเอาด้วยไหม เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องการขอความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงกลั่นน้ำมันต่างชาติ เพราะอยู่ดี ๆ มาเอากำไรของเขาไป 16-18% ซึ่งถามว่า เอาไปช่วยประชาชนได้เยอะแค่ไหน ก็ต้องบอกว่า เอาไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้แค่เดือนเดียว และ LPG ที่จะเก็บ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน

จากกำไรจากโรงแยกก๊าซจะช่วยตรึงราคา LPG ให้กับก๊าซหุงต้มเฉพาะภาคครัวเรือนประมาณ 2 เดือนเท่านั้น โดยที่สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้ลดลงเลย หมายถึงกองทุนน้ำมันฯยังคงติดลบ -91,089 ล้านบาท อยู่ดี” นายจักรพงศ์กล่าว

ล่าสุดการเรียกเก็บ “กำไรส่วนที่เพิ่มขึ้น” จากค่าการกลั่นและโรงแยกก๊าซได้ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนค่อนข้างมาก แต่จะช่วยลดผลกระทบของภาครัฐบาลจากการอุดหนุนราคาน้ำมันไปได้แค่ 1-2 เดือนเท่านั้น ในขณะที่หากมีโรงกลั่นแห่งใดแห่งหนึ่งไม่เข้าร่วมมาตรการหรือปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือแล้ว รัฐบาลจะไม่ให้ขายน้ำมันในประเทศก็จะเกิดการส่งออกน้ำมันไปต่างประเทศ และถ้าโรงกลั่นน้ำมันหันมาส่งออกน้ำมันกันหมด

“ผมมองว่าจะกลายเป็นว่าน้ำมันในประเทศจะขาดแคลน เพราะแค่ 2 โรงกลั่นต่างชาติส่งออกหมดก็ขาดแล้ว” นายจักรพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ทางผู้บริหารโรงกลั่นน้ำมันจะเข้าไปหารือกับกระทรวงพลังงานต่อ ดังนั้นคงจะต้องมี final solution ออกมาให้เห็นเร็ว ๆ นี้

หุ้นโรงกลั่นรูดลงทั้งกระดาน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ณ เวลา 15.03 น. เข้ามาว่า ทั้ง 6 บริษัทโรงกลั่นน้ำมัน ราคาหุ้นไหลลงมาตั้งแต่เปิดตลาดภาคเช้าจนมาถึงภาคบ่ายลงไปทำจุดต่ำสุด นำโดย SPRC -9.60%, BCP -9.30%, TOP -7.04%, ESSO -5.08%, IRPC -4.85% และ PTTGC -3.31% ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ลงทุนน้อยกว่าตลาด”

แม้มาตรการข้างต้นจะเป็นการ “ขอความร่วมมือ” และยังไม่มีความชัดเจนของการจัดสรรในรูปแบบใด แต่เป็นปัจจัยลบต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นน้ำมัน และหากต้องจ่าย “กำไรส่วนที่เพิ่มขึ้นจริง” ก็จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทอย่างน้อย 15-40% ซึ่งคาดว่า TOP จะได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน IRPC ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก หรือ BCP จะกระทบน้อยที่สุด