คนไทยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงพุ่ง 12.4% ใน 5 เดือนแรกปี’65

น้ำมัน เงินเฟ้อ

กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 5 เดือนแรกปี’65 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 12.4% จากเศรษฐกิจฟื้นตัว เเม้ราคาน้ำมันแพงฉุดการใช้เบนซินลดลง 0.3% แต่สวนทางดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 น้ำมันเครื่องบินเริ่มฟื้นเพิ่มขึ้น 57.7%

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.4 โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.7 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 น้ำมันก๊าดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ขณะที่การใช้ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตาม การใช้กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 0.3 เนื่องจากราคา ที่อยู่ในระดับสูง

นันธิกา ทังสุพานิช
นันธิกา ทังสุพานิช

ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.71 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลงร้อยละ 0.3) เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 6.97 ล้านลิตร/วัน 5.74 ล้านลิตร/วัน และ 0.57 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.45 ล้านลิตร/วัน และ 0.99 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 75.81 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.6) การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 30-32 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.70 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.5)

น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.18 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.20 ล้านลิตร/วัน การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.38 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.7) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ

ส่วนการใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.89 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.5) เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.03 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.9) ภาคขนส่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.05 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.7) ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.03 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.7) และภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.78 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1)

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.33 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0) โดย ปตท. ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเคยได้รับสิทธิผ่านมาตรการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกภาคส่วน

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000,569 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.9) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 937,101 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7) สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 98,388 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 91.8)

สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63,468 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,490 ล้านบาท/เดือน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 170,459 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 4.8) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 20,690 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 86.2)