ยางพาราอลหม่าน “น้ำยาง” เดือนเดียวราคาร่วงลงถึง 16 บาท หลังโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการถุงมือยาง-อุปกรณ์การแพทย์ลดลง หวั่นฉุดราคายางแผ่นลดลงตามไปด้วย “บริดจสโตน” ออกประกาศเตือนซัพพลายเออร์ ระวังยางแผ่นดิบเพื่อนบ้านด้อยคุณภาพสวมสิทธิ
กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานการส่งออกยาง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2565 ขยายตัว 2.8% หรือคิดเป็นมูลค่า 78,971 ล้านบาท แต่สถานการณ์ราคายางพาราในประเทศกลับผันผวนอย่างมาก โดยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน เทียบกับสัปดาห์แรกของเดือนปรากฏ ราคายางปรับลดลงอย่างรุนแรง
โดยเฉพาะ “น้ำยาง” ลดลงถึง กก.ละ 14 บาท หรือจาก กก.ละ 66-67 บาท เหลือ 52-53 บาท ขณะที่ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ลดลงจาก กก.ละ 69 บาท เหลือ กก.ละ 62 บาท หรือลดลง 8 บาท ส่วนราคายางแผ่นดิบลดลงจาก กก.ละ 63.05 บาท เหลือ 58.80 บาท และราคาส่งออกลดลงจาก 75.70 บาท เหลือ 69.90 บาท
น้ำยางราคาร่วง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางแกว่งตัวลดลงในช่วงนี้ เป็นเฉพาะ “ราคาน้ำยางสดเท่านั้น” ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 กับยางแท่งยังทรงตัว แต่ถ้าคำนวณราคาเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะพบว่า ยางทุกชนิดยังมีราคาสูงกว่าราคาประกันรายได้ที่รัฐบาลช่วยอยู่
“เป็นภาวะตลาดในช่วงสั้นเท่านั้น เท่าที่ตรวจสอบเป็นผลมาจากช่วงต้นเดือนมิถุนายนมีฝนตกมาก ไม่สามารถกรีดยางได้ แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งซื้อยางเพื่อส่งมอบจึงไล่ซื้อดันราคาสูงขึ้นไป แต่พอมาถึงปลายเดือนมิถุนายน สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติจึงเป็นการปรับฐานราคาลงมา”
กทย.ได้ประชุมหารือกับผู้ประกอบการยางเพื่อวางมาตรการดูแลราคายางแล้ว โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ 3-4 ราย เข้าไปช่วยกันรับซื้อน้ำยางไว้ก่อน เพื่อลดภาวะการแกว่งตัวของราคา และยังมีโครงการชะลอขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยให้เงินอุดหนุนกับสถาบันเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางกับเกษตรกรรายย่อย หรือสมาชิกของสถาบัน
รวมถึงโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี เพื่อช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต “โครงการเหล่านี้จะสามารถลดซัพพลายออกจากตลาดได้ ราคายางคงปรับตัวดีขึ้นไม่ช้า ส่วนการส่งออกยางปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% โดยช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกยางน่าจะปรับตัวดีขึ้น”
ด้าน นายพงษ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกปลดล็อกจากโควิด-19 ส่งผลความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยาง เช่น ถุงมือยาง-หน้ากากอนามัยลดลง ทำให้ราคาของน้ำยางปรับคืนสู่สมดุล ส่วนราคาของผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เช่น ขี้ยาง คงที่ 40-50 บาทมานานแล้ว สาเหตุที่ไม่ขึ้นไปมากกว่านั้นเพราะสามารถเก็บสต๊อกไว้ได้นาน ไม่เหมือนกับน้ำยาง
ดังนั้นราคาน้ำยางจึงเคลื่อนไหวมาก ขณะที่นายอดิศักดิ์ กองวารี อุปนายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ ถุงมือยาง หรือการผลิตเส้นด้ายยางยืด ทำหน้ากากอนามัย “มีความต้องการลดลงและยังมีสินค้าทดแทนเข้ามา” เช่น ยางสังเคราะห์และพลาสติก เข้ามาแย่งส่วนแบ่งในท้องตลาดอีก
ดังนั้น วิธีที่จะช่วยให้ราคาน้ำยางเพิ่มสูงจึงขึ้นอยู่ที่การสนับสนุนของภาครัฐช่วยผู้ประกอบการไทยในการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าน้ำยาง เสริมความสามารถในการแข่งขันระยะยาวมากกว่า
บริดจสโตนกลัวยางลักลอบ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนของราคายางในประเทศปรากฏ บริษัท บริดจสโตน เนเชอรัล รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกประกาศฉบับที่ 01/2565 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เรื่อง ยางแผ่นดิบที่มีแหล่งที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน มีสาระสำคัญอยู่ที่ การปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายการจัดซื้อ (ยาง) อย่างยั่งยืนของบริดจสโตน
หรือ Global Sustainable Procurement Policy หรือการไม่รับซื้อยางแผ่นดิบที่ไม่ผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในทุกกรณี รวมทั้งไม่สนับสนุนให้คู่ค้า (ของบริษัท) รับซื้อยางแผ่นดิบจากประเทศเพื่อนบ้านที่ผิดกฎหมายและนำยางดังกล่าวมาส่งหรือขายให้กับบริษัทด้วย
“เราต้องการแจ้งเตือนซัพพลายเออร์เรื่องยางแผ่นดิบที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะฝั่งเมียนมาโซนมะริด-ทวายที่เริ่มเปิดกรีดและจะส่งเข้ามาทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-กาญจนบุรี-ระนอง ในรูปของยางก้อนถ้วย-ยางแผ่นดิบ ตอนนี้เริ่มมีกระแสข่าวว่าจะลักลอบนำเข้ามาขาย เนื่องจากราคายางในไทยมีแนวโน้มสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทมีจุดยืนไม่สนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงได้แจ้งเตือนขอความร่วมมือให้ซัพพลายเออร์ทุกรายเฝ้าระวังไว้ก่อน
จากปกติบริษัทจะรับซื้อยางแผ่นดิบจากสหกรณ์การเกษตร และทางสหกรณ์ก็จะรับซื้อมาจากบริษัทผู้รวบรวมยางอีกทีหนึ่ง ดังนั้นจากนี้ไปเราจะมีการวางมาตรการการตรวจสอบดูแล หากพบว่ารายใดลักลอบนำเข้ายางที่ไม่ได้คุณภาพและผิดกฎหมายก็จะไม่รับซื้อยางจากรายนั้น” รายงานข่าวจากบริษัทบริดจสโตน
แนะ กยท.หยุดราคายางไหลลง
ด้าน นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลักลอบนำเข้ายาง “แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” เพราะผิดกฎหมาย และนำเข้ามาก็ไม่มีใครซื้อ ทางโรงงานผู้ผลิตล้อยางจะมีการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว
จากปัจจุบันตลาดยางของไทยพึ่งพาการส่งออกประมาณ 85% ส่วนตลาดในประเทศมีอยู่ประมาณ 15% เป็นการส่งให้กับโรงงานล้อยาง ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ประกาศของบริษัทบริดจสโตนมีผลต่อการกดราคารับซื้อยางหรือไม่นั้น
กรณีนี้ก็ “อาจจะเป็นไปได้” เพราะราคายางไทยปรับสูงขึ้นก่อนหน้านี้ ราคาที่ส่งให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อ ซึ่งเป็นยางแผ่นรมควันอัดก้อน ในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 65-70 บาท/กก. สูงขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ประมาณ 50-60 บาท/กก. ขณะที่สถานการณ์ราคายางประเทศเพื่อนบ้านต่ำกว่ายางไทย
โดยเฉพาะเมียนมาก็พอจะมีการผลิตยางอยู่บ้าง แต่คุณภาพยังไม่ดี ราคาจึงต่ำกว่ายางประเทศไทย 3-5 บาท/กก. แต่เอกชนไทยมียางผลิตเพียงพออยู่แล้ว การขออนุญาตนำยางจากนอกประเทศเข้ามาแล้วก็จะต้องนำมาปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งต้นทุนเท่ากับการซื้อยางในประเทศไทย
ส่วนสถานการณ์ราคายางพาราที่ปรับลดลงขณะนี้มองว่า เป็นเฉพาะน้ำยางและน่าจะเป็นภาวะการปรับฐานราคาลดลงระยะสั้นเท่านั้น “จากนั้นราคายางจะทรงตัว” จากก่อนหน้านี้สถานการณ์ราคายางปรับสูงขึ้นผิดปกติ เพราะกลไกตลาดบิดเบี้ยวจากปัญหาโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น ดันราคาน้ำยางข้นปรับสูงขึ้นไปมาก จน “แซง” ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ถึง กก.ละ 10 บาท
จากปกติที่จะ “ต่ำกว่า” ยางแผ่น กก.ละ 5 บาท แต่วันนี้โควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการใช้ถุงมือลดลง สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการปรับฐานราคา โดยน้ำยางปรับลดลงมาสู่ระดับ 52 บาท/กก., ยางแผ่นจาก 68 บาท เหลือ 64 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 42-48 บาท วันนี้อยู่ที่ 47 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยผลิต “ยางก้อนถ้วย” คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด 55% ที่ใช้สำหรับผลิตยางแท่ง STR 20 ซึ่งจะนำไปใช้ผลิตล้อยาง รองลงมาคือ ยางแผ่นรมควันชั้นสาม (RS3) สัดส่วน 25% และน้ำยางข้น 20% ที่สำหรับใช้ผลิตถุงมือยาง โดยยางแผ่นจะมีราคาสูงสุด รองลงมาคือน้ำยาง และยางก้อนถ้วย ซึ่งราคาจะห่างกัน กก.ละ 5 บาท
สอดคล้องกับ นายหลักชัย กิติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด (มหาชน) มองว่า ปีนี้ภาพรวมการส่งออกยางจะขยายตัว 10% ในเชิงมูลค่า ส่วนปริมาณอาจจะลดลง 1-5% จากการที่จีนได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศแล้วก็กลับมาซื้อยางอีก นับเป็นเป็นสัญญานที่ดีและมีอิทธิพลต่อราคาน้ำยางในตลาดโลกมาก
เพราะจีนเป็นผู้ใช้หลัก และด้านซัพพลายยางเทียมในตลาดโลกจะ “ลดลง” ภายหลังจากยุโรปและกลุ่มประเทศ G7 ประกาศแซงก์ชั่นรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางเทียม “แนวโน้มราคายางก็น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น” จากก่อนหน้านี้ที่ราคาน้ำยางข้นลงเร็วผิดปกติ
“กยท.ควรหยุดการไหลลงของราคายางให้เร็วขึ้น เพราะไม่ใช่เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการที่สต๊อกยางไว้ปริมาณมากจะขาดทุนสต๊อก แต่การหยุดราคาลงจะช่วยสร้างความมั่นใจกับผู้ซื้อ เพราะหากราคายางลดลงมาก ๆ ผู้ซื้อจะไม่กล้าซื้อ คนขายก็ไม่กล้าออฟเฟอร์ราคาแพง ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำยางถึง 80% ถือว่าเยอะที่สุดแล้ว เวียดนาม และมาเลเซีย มีอยู่บ้างแต่น้อย
ส่วนตลาดในประเทศมีสัดส่วนประมาณ 17% เอกชนจะส่งขายให้กับโรงงานล้อยาง และเท่าที่ทราบโรงงานล้อยางรับออร์เดอร์ไปจนถึงสิ้นปีแล้ว ส่วนประเด็นการลักลอบนำเข้ายางเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่เอกชนไม่มีใครกล้าทำเพราะผิดกฎหมาย หรือการขออนุญาตนำเข้าจากเพื่อนบ้านท้ายที่สุดก็ต้องมาบวกเงิน CESS ซึ่งเมื่อบวกแล้วต้นทุนใกล้เคียงกับราคายางที่ซื้อในประเทศ” นายหลักชัยกล่าว