ท่าฉางกรีนเอ็นเนอร์ยี่ โรงสกัดปาล์มสู่พลังงานหมุนเวียน

พงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล
สัมภาษณ์พิเศษ

“ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่” เดิมคือผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์มรายใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และธุรกิจยางพาราที่นำผลพลอยได้จากการผลิตปาล์มน้ำมัน (by product) มาต่อยอดใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและขายในพื้นที่ ก่อนขยายธุรกิจเข้าสู่กลุ่มพลังงานทดแทน ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องถึง 2562 และได้ขยายการเติบโตต่อไปยังธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะชุมชนตามนโยบายภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

โดยกำหนดแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ปี 2018 Rev1 ประกอบกับการที่ประเทศไทยได้ประกาศตัวในฐานะสมาชิก อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE ถึงการสร้างรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ ก่อนเตรียมตัวเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯปีนี้

ธุรกิจไฟฟ้าของท่าฉาง

TGE แบ่งการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็น 2 ประเภท คือ 1.โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 3 โครงการ ตั้งอยู่ในอ.ท่าฉาง จ.​สุราษฎร์ธานี ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล TGE มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และเสนอขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ประเภท nonfirm 7.2 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญา nonfirm ไปถึงวันที่ 7 ม.ค.​2573

และยังมีการขายไฟฟ้าและไอนํ้าให้กับ บริษัท ท่าฉาง สวนปาล์มนํ้ามันอุตสาหกรรม จำกัด (TCP) ในกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม 1 เมกะวัตต์ และไอนํ้าไม่เกิน 48 ตันไอนํ้าต่อชั่วโมง

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TPG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ เสนอขายให้ กฟภ. 9.7 เมกะวัตต์ ถึงวันที่ 6 มี.ค. 2578 และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TBP มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ เสนอขายให้ กฟภ. 3.4 เมกะวัตต์ ไปถึงวันที่ 24 พ.ค. 2584 นอกจากนี้ยังขายไฟฟ้า และไอน้ำให้กับ TCP และบริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัด (TCR) 3.0 เมกะวัตต์ และไอนํ้าไม่เกิน 48 ตันไอนํ้าต่อชั่วโมง

2.โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน อยู่ระหว่างการพัฒนา ปัจจุบันได้รับคัดเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าและเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES SKW อ. วัฒนานคร จ.สระแก้ว โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES RBR อ.เมือง จ.ราชบุรี

โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES CPN อ. เมือง จ.​ชุมพร มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MW และปริมาณไฟฟ้าที่จะเสนอขายตามสัญญารวมประมาณ 16 MW คาดว่า กกพ.จะออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในไตรมาส 1/2565 และเริ่ม COD ได้ภายในปี 2567 บริษัทจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 51.7 MW และมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 36.3 MW

ขยาย 4 โรงไฟฟ้าขยะ

ขณะนี้บริษัทยังมีอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับ อปท. อีก 4 โครงการ คาดว่าจะเปิดคัดเลือกผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการได้ในปีนี้ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES PRI จ.ปราจีนบุรี โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES CNT จ.ชัยนาท โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES UBN จ.อุบลราชธานี โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES TCN จ.สมุทรสาคร และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 กำลังผลิตติดตั้งรวมของบริษัทในอีก 4 ปีข้างหน้าซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในอนาคต

แผนครึ่งปีหลัง

ท่าฉางฯเตรียมแผนเดินหน้าธุรกิจโรงไฟฟ้าเต็มที่ หลังจากที่ดำเนินการเซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าใน 3 โครงการแรกเรียบร้อย โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ และเชื่อว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือในปี 2567

ส่วนอีก 4 โครงการที่เหลือจากการติดตามข้อมูลรับทราบว่าได้มีประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูล และคาดว่าจะประมูลแล้วเสร็จได้ภายในปลายปี 2565 หรืออย่างช้าน่าจะเกินไตรมาสแรกของปี 2566

หากสามารถประมูลได้จะสามารถก่อสร้างได้ในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 พร้อมกับลงนามซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในปี 2568 จะส่งผลให้ท่าฉางฯมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 80 เมกะวัตต์

รุกปักธงอาเซียน

ท่าฉางฯยังมีแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าไปต่างประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสที่จะขยายการลงทุนในพื้นที่อาเซียนและเอเชียก่อน ซึ่งต้องวิเคราะห์ไปถึงความเสี่ยง จุดคุ้มทุน รวมไปถึงพื้นที่มีความเหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุน

“ท่าฉางฯมองทุกโอกาส ทุกช่องทาง แต่ธุรกิจไหนที่เป็นจุดแข็ง ก็จะไปก่อนโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวล”

จุดแข็งของบริษัทก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีความหลากหลายก็พร้อมจะเดินหน้าไปทุกมิติ พร้อมยังมีเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575 รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสขยายธุรกิจเพิ่มเติมไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืนด้วย

จากจุดแข็งสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ

จากจุดแข็งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ท่าฉางฯมีวัตถุดิบหลักจากทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม ซึ่งมีเพียงพอและลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า และยังมีจากการเกษตรกรรมอื่น อาทิ ไม้ชิพ รากไม้สับ ส่งผลให้สามารถต่อยอดมาสู่โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จากการเติบโตและความต้องการใช้พลังงานทดแทนในประเทศที่มาจากประชาชน และนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนพลังงานทดแทน บริษัทมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำ โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญนี้

“ล่าสุดท่าฉางฯมีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยยื่นไฟลิ่งเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลต่าง ๆ และได้รับการอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา”

ปัจจุบันก็ได้เดินหน้าโรดโชว์กับสถาบันต่าง ๆ และพร้อมจะเปิดให้รับฟังการโรดโชว์อีกครั้งในต้นเดือน ส.ค.​ 2565 และก็พร้อมที่จะเปิดเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้ โดยคาดว่าจะสามารถทำการซื้อ-ขายหุ้นได้ประมาณอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน ส.ค. นี้ ส่วนราคาซื้อ-ขาย ในวันที่เปิดจองซึ่งจะประกาศให้รู้อีกครั้ง

“การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นเป้าหมายในการระดมทุนที่จะใช้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะ 3 โรงไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนภาระการเงินของบริษัทและเป็นเงินทุนหมุนเวียนด้วย และเชื่อว่าจากธุรกิจไฟฟ้าจะสร้างรายได้และการเติบโตให้ท่าฉางฯได้ในอนาคต”

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562-2564 TGE มีรายได้จากการขาย 336.1 ล้านบาท 650.9 ล้านบาท และ 779.7 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 52.3% ต่อปี