ราชบุรี พื้นที่นำร่อง Pig Sandbox ระบบควบคุมโรค ASF

สุกร หมู

ปศุสัตว์รุกเดินหน้า Pig Sandbox นำร่องที่ราชบุรี วางระบบควบคุมโรค ASF ฟื้นฟูฟาร์มสุกรต่อเนื่อง

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายเสนอให้ตั้งโครงการ Sandbox ปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้สร้างความยั่งยืนให้อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้ควบคู่กับการทำเกษตร

มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำ Sandbox ปศุสัตว์ พิจารณากำหนดพื้นที่ กลุ่มเป้าหมาย เพื่อควบคุมโรคสัตว์และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ให้ดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงพาณิชย์ในการหาช่องทางส่งออกไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

ได้มอบหมายกรมปศุสัตว์ให้เร่งดำเนินการและติดตามความคืบหน้าโครงการนี้มาโดยตลอด ให้กรมปศุสัตว์กำหนดพื้นที่นำร่อง “Pig Sandbox” เพื่อควบคุมโรคและส่งเสริมการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ดังกล่าวภายใต้มาตรการ 3S คือ SCAN พื้นที่ SCREEN ความเหมาะสม และ SUPPORT การเลี้ยงดู การตลาดและแหล่งทุน

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการ Pig Sandbox แบ่งเป็นพื้นที่นำร่อง พื้นที่ขยายผล พื้นที่ปลอดโรค ASF-Free Zone และพื้นที่นอกเขตปลอดโรค เป็นโครงการนำร่องต้นแบบการเลี้ยงสุกร เพื่อการควบคุมป้องกันการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ส่งเสริมและฟื้นฟูการผลิตสุกร เพื่อการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพ

ยกระดับการจัดการฟาร์มและการเลี้ยงดูให้มีคุณภาพมาตรฐาน และส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร ได้ทำโครงการวิจัย “Sandbox ในการวางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ในพื้นที่นำร่องจังหวัดราชบุรี” โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2565-3 พฤษภาคม 2566

ได้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. วงเงินงบประมาณ 10,070,720.00 บาท กำหนดโอนทั้งหมด 4 งวด โดยงวดแรก ได้โอนไปแล้ว จำนวน 3,142,560.00 บาท สำหรับเป็นแนวทางต้นแบบในการควบคุมป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย เป็นการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงให้เข้าสู่มาตรฐาน GFM หรือ GAP หรือระบบ compartment และเป็นการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อนำสุกรกลับมาเลี้ยงรอบใหม่

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานในการควบคุมและป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนที่ควบคุมโรคได้ดีที่สุด ประเทศฟิลิปปินส์เข้ามาศึกษาดูงานในมาตรการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ในประเทศไทย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันโรคในประเทศฟิลิปปินส์

สำหรับโครงการ Pig Sandbox จะเป็นเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ เพื่อเป็นต้นแบบนำร่องในการส่งเสริมและฟื้นฟูการผลิต สามารถควบคุมป้องกันการเกิดโรคระบาดต่าง ๆ ในสุกรได้ เป็นการปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของการเลี้ยงสุกรในฟาร์มให้มีการจัดการและการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสมยิ่งขึ้น