ส่งออกสินค้ากึ่งอาวุธฝุ่นตลบ พาณิชย์เดินหน้าใช้กฎหมายใหม่ตามสหรัฐ-อียู

ส่งออกสินค้ากึ่งอาวุธ
อัพเดตข้อมูล 4 สิงหาคม 2565 เวลา 16.25 น.

ไทยลำดับ 4 ในอาเซียน ประเดิมรับรองเอกชนผลิต-ส่งออกสินค้าใช้ได้สองทางกึ่งอาวุธ 26 รายสมัครเข้าระบบ ICP หวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้า “สหรัฐ-อียู” เดินหน้าไปก่อนแล้ว เร่งหนุนเอกชนผู้ผลิตสินค้าเสี่ยง 1,831 รายการเข้าร่วมเพิ่ม ชี้อนาคตฝ่าฝืนมีบทลงโทษคุก 2 ปี ปรับ 2 แสน

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ICP) แล้ว 26 ราย นับจากที่กฎหมาย พ.ร.บ.การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 มีบังคับใช้มาแล้วเป็นเวลามากกว่า 1 ปี โดยภายหลังจากจากนั้นได้ออกประกาศใช้มาตรการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์

และมาตรการเกี่ยวกับสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้สุดท้ายหรือผู้ใช้สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2564 เพื่อควบคุมการส่งออก ส่งกลับ ถ่ายลำ ผ่านแดน และการถ่ายโอนเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (dual-use items : DUI) และสินค้าเข้าข่ายเป็น DUI กรณีที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons 
of mass destruction : WMD)

ตาราง ส่งออกสินค้ากึ่งอาวุธ

พร้อมทั้งออกประกาศหลักเกณฑ์รับรองระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2564 (ประกาศหลักเกณฑ์ ICP)

ทั้งนี้ การออกกฎหมายดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกเสริมในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ควบคู่กับมาตรการ CAC และเหมาะสมกับการค้าไทย ตอบโจทย์ข้อมติ UNSCR 1540 ได้โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทยด้วย พร้อมไทยเองก็มีมาตรการเสริม อย่างระบบงาน ICP ซึ่งจะช่วยป้องกันผู้ประกอบการไทยไม่ให้เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD และเพิ่มความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าของไทยและนานาชาติ อย่างไรก็ดี หากในอนาคตมีการตรวจสอบพบว่ามีสินค้าประเภทใด ถูกดำเนินมาตรการ CAC บ่อยครั้ง กรมอาจพิจารณาใช้มาตรการการขออนุญาตกับสินค้านั้น ๆ ได้

“ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ 4 ในอาเซียนที่บังคับใช้ ต่อจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ขณะที่สหรัฐ และสหภาพยุโรปมีการบังคับใช้มานานแล้ว สำหรับสินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าสองทางปัจจุบันประมาณ 1,831 รายการที่ต้องติดตาม ปัจจุบันกรมยังไม่บังคับให้เอกชนต้องมีการรับรอง หรือต้องขอใบอนุญาตยังเป็นความสมัครใจ กรมมองว่าควรจะดำเนินการจากเบาไปหาหนักก่อน”

สำหรับประกาศหลักเกณฑ์ ICP นั้น ประกอบด้วย 6 หลักเกณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับนานาประเทศ ประกอบด้วยหัวข้อย่อย 27 หัวข้อ โดยมีข้อมูลและเอกสารที่ใช้ในการขอการรับรอง 32 รายการ ดังนี้ 1) การกำหนดความรับผิดชอบและการมอบหมายหน้าที่ในการบริหาร (8 หัวข้อย่อย) เช่น หนังสือรับรองนิติบุคคล/เอกสารแถลงการณ์ที่ลงนามโดยผู้บริหาร เป็นต้น 2) ระบบตรวจสอบการใช้และผู้ใช้สุดท้าย

ใน 9 หัวข้อย่อย เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า/use or end use statement เป็นต้น 3) ระบบจัดฝึกอบรม (4 หัวข้อย่อย) เช่น รายละเอียดการจัดฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ 4) ระบบดูแลและเก็บรักษาเอกสาร (2 หัวข้อย่อย) เช่น ระยะเวลาการจัดเก็บเอกสาร 5) ระบบตรวจสอบและการปรับปรุง (3 หัวข้อย่อย) เช่น แผนการตรวจสอบระบบงาน ICP 6) ระบบรายงาน (1 หัวข้อย่อย) เช่น รายละเอียดการรายงานผลการตรวจสอบและการปรับปรุงระบบงาน ICP

อีกทั้งยังมีการประเมินระบบงาน ICP ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ (1) ระดับดี (basic : B) จะรับรองให้แก่ระบบงาน ICP ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 2 ข้อ (2) ระดับดีมาก (intermediate : I) จะรับรองให้แก่ระบบงาน ICP ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ข้อ (3) ระดับสมบูรณ์ (total : T) จะรับรองให้แก่ระบบงาน ICP ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ครบทั้ง 6 ข้อ

“หากภาคเอกชนมีการจัดทำระบบงาน ICP ภายในองค์กรตามหลักเกณฑ์ที่กรมกำหนดได้อย่างครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ คู่ค้าของไทยยอมรับในมาตรการการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD มากยิ่งขึ้น”

โดยตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้เอกชนให้ความสนใจอย่างมาก กรมได้จัดอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการไป 4 รุ่น รวม 200 ราย พร้อมกันนี้ กรมยังได้ผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน เข้ามาขอรับการประเมินเพื่อรับรองระบบงาน ICP กับกรม ซึ่งยังเป็นความสมัครใจยังไม่ได้มีการบังคับแต่อย่างไร โดยมีผู้สนใจเข้ามา 35 ราย และได้รับการรับรองแล้ว 26 ราย (ตามกราฟิก)

ในส่วนของบทลงโทษนั้น มี 2 กรณี คือ หากเอกชนทำกิจกรรมควบคุมซึ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยรู้อยู่แล้วว่าผู้ใช้สุดท้ายจะนำไปดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ตามมาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีมีการนำสินค้าไปใช้ก่อเหตุ ออกแบบ ดัดแปลงเป็นอาวุธทำลายล้างสูง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ภาคเอกชนได้มีการประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศเพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

โดยหลังจากนี้ต้องติดตามประสานไปทางสมาชิกว่าหลังจากที่ได้ประชุมเพื่อเตรียมการก่อนหน้านี้ กับหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วในทางปฏิบัติได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการที่กำหนด และให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของประเทศคู่ค้า

“ประเด็นนี้ไม่น่ากังวล เพราะภาคเอกชนเตรียมความพร้อมและหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายนี้มาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ต้องติดตามประเมินผลว่าจะมีการดำเนินการร่วมกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้บังคับมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมองว่าสินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบไม่ใช่สินค้าที่นำไปใช้หรือเกี่ยวข้องกับอาวุธ”