เปิดประวัติกองทุน กยศ. 27 ปี ลูกหนี้ 6 ล้านคน ผ่อนได้ถึงอายุ 65 ปี

กยศ

ย้อนรอย 27 ปี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เริ่มต้นจากงบประมาณ 3 พันล้าน ให้โอกาสเด็กขาดแคลนเฉียด 6 ล้านคน ปล่อยกู้แล้ว 6.2 แสนล้าน สู่ประเด็น #ล้างหนี้กยศ 

วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี #ล้างหนี้กยศ.ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง เมื่อช่วงวันที่ 17-18 ส.ค.65 จากนั้นมีแคมเปญล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้กองทุนแทนผู้กู้ โดยมีการลงชื่อผ่านเว็บไซต์ “ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ” ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงแบ่งเป็น 2 ฝ่ายทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย 

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนดูประวัติการก่อตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) โดยกองทุนจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2539 ให้เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491

กองทุนเริ่มต้นด้วยทุนประเดิมจากงบประมาณแผ่นดินจำนวน 3 พันล้านบาท เพื่อให้โอกาสกับเด็กที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา ปริญญาตรี และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กว่า 27 ปี

ปัจจุบันเป็นกองทุนหมุนเวียนที่สมบูรณ์แบบ ไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลอีกต่อไป ในเวลากว่า 10 ปีผ่านมาได้ปล่อยกู้ให้กับเยาวชนมากกว่า 5.7 ล้านคน ด้วยเงินให้กู้ประมาณ 6 แสนล้านบาท 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ.กล่าวว่า การที่กองทุนสามารถทำอย่างนี้ได้เพราะมีคนที่เรียนจบกลับมาชำระหนี้มากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการที่ทำให้ กยศ.มีเงินทุนหมุนเวียนที่ดีได้ ความยากของการบริหารกองทุนคือ เป็นหน่วยงานของรัฐ เงินที่เราจะให้โอกาสกับเด็ก ๆ ก็เป็นของรัฐ ฉะนั้น เราต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง ไม่เอาเงินไปทำอะไรที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งถ้าเป็นสถาบันการเงินจะให้กู้โดยมีวัตถุประสงค์คือกำไร แต่เราไม่ได้แสวงหากำไร กองทุน กยศ. เน้นคำว่าให้โอกาสกับคน

สถิติการกู้ยืม 27 ปี 6.2 แสนล้าน

จากสถิติข้อมูล กยศ.ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 พบว่าขณะนี้ มีผู้กู้ยืมเงินกองทุน จำนวน 6,217,458 ราย

  • จำนวนผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,458,429 ราย คิดเป็น 56% เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,056,958 ราย คิดเป็น 17%
  • ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,633,702 ราย คิดเป็น 26%
  • เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,369 ราย คิดเป็น 1%
  • อยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง 1 ล้านราย มูลหนี้ 1.2 แสนล้านบาท

เยียวยาวิกฤติโควิด ผ่อนจ่ายได้ถึงอายุ 65 ปี

ประเด็นการใช้หนี้ กยศ.เป็นเรื่องที่มีการเรียกร้องมาตลอดตั้งแต่การขอให้ลดดอกเบี้ย จนกระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ทำให้ตัวเลขการชำระหนี้คืนลดลง เนื่องจากหลายคนตกงาน หรือถูกลดเงินเดือนจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ กยศ.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่อง ล่าสุด คือขณะนี้กองทุนได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประกอบด้วย

  • ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
  • ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว
  • ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี
  • ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ)
  • เปิดช่องไกล่เกลี่ยหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่ถูกบอกเลิกสัญญาและกำลังจะถูกฟ้อง
  • ผู้กู้ยืมที่เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย ได้ลดเบี้ยปรับ และได้รับโอกาสในการขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้ถึงอายุ 65 ปี
  • หากผู้กู้ยืมเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย กองทุนก็จะไม่จำเป็นต้องดำเนินคดี 
  • ผู้กู้ยืมจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ และสามารถกลับเข้ามาสู่ระบบการชำระหนี้ให้เป็นปกติ 

#ล้างหนี้ กยศ.

ล่าสุดโลกทวิตเตอร์ผุดแฮชแท็ก #ล้างหนี้กยศ ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งจากกรณีมีการเชิญชวนล่ารายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อเพื่อแก้กฎหมาย กยศ.ให้ยกเลิกหนี้คงค้างคนที่เรียนจบครบ 2 ปีแล้วให้เก็บเงินจากรัฐบาล โดยอ้างว่าการเป็นหนี้สินลดแรงจูงใจเริ่มต้นชีวิต เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเกิดความเหลื่อมล้ำ ส่งผลให้เกิดความเห็นต่าง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยผู้ไม่เห็นด้วยมองว่า เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ไม่ควรเอาเปรียบผู้ที่ชำระหนี้มาอย่างสม่ำเสมอ 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ออกมาชี้แจงว่ากองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี 

ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท และกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย 

นายชัยณรงค์ กล่าวอีกว่าที่ผ่านมากองทุนกยศ.เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ.ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้วยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ 

อย่างไรก็ตาม กองทุนอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระและลดอัตราเบี้ยปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น