มธ.เปิดศูนย์สอบ GED เทียบวุฒิระบบอเมริกัน เล็งเพิ่ม นศ. ต่างชาติเท่าตัว

เปิดศูนย์สอบ GED ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

ม.ธรรมศาสตร์ จับมือองค์กรจัดสอบนานาชาติ ตั้งศูนย์สอบ GED ในศูนย์รังสิต เปิดโอกาสนักเรียนไทย-ต่างชาติ เทียบวุฒิ ม.6 ตั้งเป้าดึงดูดนักเรียนต่างชาติมาเรียนที่ มธ. เพิ่มเท่าตัว

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ได้ทำพิธีลงนามความร่วมมือกับบริษัท Pearson VUE ผู้ดำเนินมาตรฐานการจัดสอบระดับนานาชาติ เช่น GMAT, GED และ Thammasat Competency Test Center (TCTC) ไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดศูนย์สอบ “GED Testing Center” โดยตั้งอยู่ที่อาคารวิศิษฎ์อักษร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความสนใจสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเข้ารับการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้เกณฑ์การสอบ GED ซึ่งเป็นการสอบเทียบวุฒิในระบบอเมริกันอันเป็นที่ยอมรับในทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการแก้ปัญหานักเรียนต่างประเทศที่ไม่สามารถเทียบวุฒิการศึกษาจากประเทศของตน กับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของไทยได้ เช่น พม่า ซึ่งนักเรียนสามารถใช้คะแนน GED เป็นหลักฐานในการสมัครเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้

รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า หากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบความท้าทายประการหนึ่ง คือมีนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากหลายประเทศวุฒิไม่เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 ของประเทศไทย จึงขาดโอกาสที่จะเข้ามาศึกษาต่อในไทย

ดังนั้น การเปิดศูนย์สอบ GED ในครั้งนี้ จึงเป็นทางออกที่จะเข้ามาช่วยพลิกโฉมให้กับทั้งนักเรียนไทยและต่างชาติ ที่ต้องการสอบเพื่อนำวุฒิไปเทียบเข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่นักเรียนไทยเองที่อาจอยู่ระดับชั้น ม.4-5 แต่รู้สึกว่ามีความรู้ที่พร้อมจะเทียบ ม.6 ก็สามารถสอบ GED นี้แล้วข้ามไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ทันที

เปิดศูนย์สอบ GED ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังขยายโอกาสทางการศึกษาให้กว้างขึ้นในทุก ๆ มิติ เพื่อนำโอกาสไปสู่นักศึกษาที่อยู่ในภูมิภาคและพื้นที่อื่นทั่วโลก นอกจากนั้น ต้องการก้าวสู่มหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ เพราะการเพิ่มความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยจะส่งผลดีต่อทั้งคณาจารย์และนักศึกษา ให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เกิด soft skills ด้านการสื่อสาร ความยืดหยุ่น การปรับตัว ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ทุกที่”

ความเป็นนานาชาติเกิดขึ้นได้จากทั้งการร่วมมือในระดับนานาชาติ ออกไปร่วมแลกเปลี่ยนหรือศึกษาต่อต่างประเทศ ผ่านโครงการและความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำต่าง ๆ และการนำความเป็นนานาชาติเข้ามาอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่ง GED Testing Center จะเป็นหนึ่งในกลไกที่เข้ามาช่วยผลักดันในส่วนนี้

รศ.ดร.สุรัตน์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาชาวต่างชาติประมาณ 600 คน และเชื่อว่าศูนย์สอบนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นได้เป็น 1,500 คน ภายใน 3-4 ปี ซึ่งนอกจากการจัดสอบ GED แล้ว ยังอาจมีความร่วมมือการจัดสอบมาตรฐานอื่น ๆ เช่น GMAT ที่ใช้ประกอบการศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจได้ทั่วโลกตามมาด้วยในอนาคต

นาย CT เฮมิงเวย์-เทอร์เนอร์ (Hemingway-Turner) รองประธานฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลกและกิจการภาครัฐ GED Testing Service กล่าวว่า มาตรฐาน GED ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก รวมทั้งมหาวิทยาลัยท็อป 3 ของสหรัฐอเมริกา อย่างสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือแม้แต่มาตรฐานการสอบอื่น ๆ ภายใต้บริษัท Pearson VUE ซึ่งเป็นบริษัทผู้ดำเนินการเกี่ยวกับศูนย์สอบที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“หนึ่งในข้อดีของการสอบ GED คือความยืดหยุ่นที่สูง ตอบสนองผู้สอบได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเวลาสอบที่ยืดหยุ่น สามารถนัดวันและเวลาที่ผู้สอบสะดวกเองได้ ขณะเดียวกันภายหลังการสอบก็ยังสามารถรู้ผลได้ทันทีภายในวันเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาออกผลภายในไม่เกิน 10 ชั่วโมง ทำให้ผู้สอบสามารถวางแผนอนาคตของตัวเองได้ต่อไป โดยการสอบ GED มีส่วนช่วยให้นักเรียนนักศึกษาทั่วโลกกว่า 21 ล้านคนสามารถเข้ารับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น”

ด้านนายทวีศักดิ์ จ้าวชวนชม ผู้อำนวยการนานาชาติ GED กล่าวว่า การมีศูนย์สอบ GED ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่ได้เป็นเพียงการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาให้ได้รับประสบการณ์ทางการศึกษาในสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น แต่โอกาสนี้ยังเปิดให้กับนักเรียนทุกคนที่สนใจจะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพราะมาตรฐาน GED นั้นสามารถนำไปใช้ยื่นได้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก

“การที่เรามีเพื่อนจากต่างประเทศในการเรียนมหาวิทยาลัย จะช่วยให้เราได้เปิดกว้าง สามารถเรียนรู้ในหลายสิ่งที่นอกเหนือจากตำรา เปิดมุมมองได้รับสิ่งใหม่ ๆ ทั้งในเรื่องเรียน ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ เพิ่มโอกาสเข้าถึงการทำงานในบริษัทระดับนานาชาติต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดผลดีนี้จะไม่ได้สะท้อนกลับมาเพียงตัวของคน ๆ นั้น แต่การทำงานเหล่านี้ย่อมส่งผลดีกลับมาให้กับประเทศของเราได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม” นายทวีศักดิ์กล่าว