โอกาสเรียนนิวซีแลนด์ เด็กไทยแห่สมัครเพิ่มขึ้น 25% หลังเปิดประเทศ

แนวโน้มนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติจากทั่วโลกสนใจไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์สูงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเปิดประเทศ 1 สิงหาคม 2565 โดยเพิ่มสูงขึ้นกว่า 25%

เนื่องจากนิวซีแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นเป้าหมายทางการศึกษาของนักเรียนไทยและนักเรียนนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ เพราะด้วยจุดเด่นของระบบการศึกษานิวซีแลนด์ที่เปิดกว้างทางการศึกษา มีมาตรฐานติดอันดับโลก ทำงานได้ระหว่างเรียนและหลังจบการศึกษายังสามารถต่อวีซ่าทำงานหลังเรียนจบได้สูงสุดถึง 3 ปี

อีกทั้งยังได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีความปลอดภัย ผู้คนเป็นมิตร สภาพแวดล้อมเหมาะแก่การศึกษา และล่าสุด นิวซีแลนด์ได้จัดอันดับเป็น “ประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับที่ 2 ของโลก” จากการจัดอันดับประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ประจำปี 2022 ของ CS Global Partners

ตลาดการศึกษาเอเชียบูม

“กรานท์ แมคเฟอร์สัน” (Grant McPherson) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand : ENZ) ประเทศนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า ตลาดการศึกษานานาชาติในภูมิภาคเอเชียมีศักยภาพการเติบโตสูง โดยประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนิวซีแลนด์ในการดึงดูดนักเรียนต่างชาติให้มาศึกษาในประเทศในนิวซีแลนด์ 5 อันดับประเทศในทวีปเอเชียที่ส่งนักเรียนไปศึกษาต่อในประเทศนิวซีแลนด์ ได้แก่ จีน, อินเดีย, เกาหลีใต้, เวียดนาม และไทย

และอีก 5 อันดับรองลงมาคือ ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ฮ่องกง และอินโดนีเซีย โดยจากข้อมูลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 มีจำนวนนักเรียนต่างชาติที่ถือวีซ่านักเรียน (ที่ยังไม่หมดอายุ) ในประเทศนิวซีแลนด์ จำนวนทั้งสิ้น 16,959 คน จาก 126 ประเทศ ซึ่งลดลงจาก 120,000 คนในปี พ.ศ. 2562 โดยในจำนวนนี้มีนักเรียนไทย 840 คน

“นับตั้งแต่พรมแดนของนิวซีแลนด์กลับมาเปิดอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เราได้เห็นนักเรียนต่างชาติหลายร้อยคนจากทั่วโลกเดินทางกลับเข้ามาเรียนต่อในประเทศนิวซีแลนด์ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา แสดงถึงสัญญาณที่ดีของการตลาดการศึกษานานาชาติ”

กรานท์ แมคเฟอร์สัน
กรานท์ แมคเฟอร์สัน

เด็กไทยแห่เรียนนิวซีแลนด์เพิ่ม

จากข้อมูลของหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีนักเรียนไทยให้ความสนใจลงทะเบียนไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนไทยที่ถือวีซ่านักเรียน (ที่ยังไม่หมดอายุ) ในนิวซีแลนด์ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจากการเปิดประเทศของนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565

“นักเรียนไทยส่วนใหญ่กว่า 47% ที่ลงทะเบียนไปเรียนที่นิวซีแลนด์นั้นเป็นการลงทะเบียนไปเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่นักเรียนไทยสนใจไปเรียนต่อนิวซีแลนด์มากที่สุด รองลงมาคือโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ และระดับอุดมศึกษา” แมคเฟอร์สันกล่าว

สาขาวิชาตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

สาขาวิชาที่นักเรียนไทยนิยมเรียนยังคงเหมือนเดิม เช่น สาขาบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ การบริการสังคม เป็นต้น แต่นักเรียนไทยก็เริ่มสนใจจะเรียนวิชาใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสร้างสรรค์ เทคโนโลยีเกิดใหม่ และวิทยาศาสตร์ข้อมูล ตลอดจนบริการด้านสุขภาพ

“สิ่งที่เราเห็นคือ ผู้เรียนกำลังคิดแตกต่างไปจากเดิม โดยสนใจเกี่ยวกับสาขาวิชาที่จะช่วยพวกเขาให้ได้งาน ในอนาคต และช่วยเกี่ยวกับการใช้ชีวิต โดยการศึกษาของนิวซีแลนด์ มีความโดดเด่นทางด้านหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานโลก และตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรการพัฒนาเอไอ (artificial intelligence-AI), หลักสูตรการสร้างเกม เทคโนโลยีแฟชั่นดิจิทัล (digital fashion technology) ออกแบบเทคโนโลยีดิจิทัล (digital and design) วิทยาศาสตร์สุขภาพด้านสุขภาพดิจิทัล (health sciences in digital health), นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) และการตลาดดิจิทัล (digital ubiquitous marketing)”

โควิดกระทบอุตสาหกรรมการศึกษา

“แมคเฟอร์สัน” กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกคน ไม่เฉพาะในนิวซีแลนด์ และไม่เพียงกับอุตสาหกรรมการศึกษา และยังเกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับนิวซีแลนด์ มีแนวทางที่ชัดเจนมากในการทำให้แน่ใจว่า ระบบสาธารณสุขจะได้รับการดูแลให้มีประสิทธิภาพ และคงที่ แน่นอนว่า ผลกระทบต่อการศึกษานานาชาติคือ นักเรียนไม่สามารถมาได้ และนักเรียนต่างชาติที่อยู่ในนิวซีแลนด์ก็ไม่สามารถออกจากประเทศของเราได้เช่นกัน

“นิวซีแลนด์ใช้ความพยายามอย่างมาก และทำงานร่วมกับผู้จัดหานักเรียน เพื่อทำให้แน่ใจว่านักเรียนต่างชาติที่ตกค้างอยู่ในนิวซีแลนด์ ที่ไม่สามารถกลับไปหาครอบครัว ได้รับการดูแลและการเอาใจใส่ และตรวจสอบให้แน่ใจว่า เราใส่ใจพวกเขาเพียงพอ เพื่อให้การพักพิงของพวกเขาเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด”

ก่อนเกิดโควิด-19 ภาคการศึกษาของนิวซีแลนด์เป็นธุรกิจส่งออกรายใหญ่อันดับ 5 ของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญมาก แต่โควิดทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เพียงการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นคุณค่าของการศึกษาระหว่างประเทศด้วย เพราะนักเรียนต่างชาติมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนของนิวซีแลนด์ ช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง และช่วยให้เข้าใจความคิดเห็นของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน

ปูทางไปเรียนต่อ ร่วมสถาบันการศึกษาไทย

“แมคเฟอร์สัน” ยังได้กล่าวถึงนโยบายและกลยุทธ์รุกตลาดการศึกษาเอเชีย-แปซิฟิกหลังโควิด-19 ว่า การศึกษานิวซีแลนด์ได้มุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศ การสร้างและรักษาความสัมพันธ์เชิงรุกกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน

เช่นเดียวกับในประเทศไทย การศึกษานิวซีแลนด์ได้เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโรงเรียน (ระดับมัธยมศึกษา) และระดับอุดมศึกษา ร่วมกับสถาบันการศึกษาของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาหลักสูตรเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาในนิวซีแลนด์ได้เร็วขึ้น อาทิ

  • โครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT) และมหาวิทยาลัยโอทาโกพัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมปริญญาตรีไฮบริดนิวซีแลนด์ (Business Foundation Studies Programme)
  • โครงการความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ศึกษาต่อต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต (RSU Study Abroad กับ มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี พัฒนาหลักสูตรปริญญาโทธุรกิจนิวซีแลนด์
  • โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กับ มหาวิทยาลัยโอทาโก ในการพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ และหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท

นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครูทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อแบ่งปันความเชี่ยวชาญและเทคนิคการสอนของนิวซีแลนด์แก่ครูชาวไทย, การจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับนิวซีแลนด์กับนักเรียนและผู้ปกครอง, การจัดงานมหกรรมการศึกษานิวซีแลนด์, การจัดโครงการแข่งขันของนักเรียนออนไลน์, การแลกเปลี่ยนห้องเรียนดิจิทัล,

ร่วมมือกับบัตรเครดิต KTC เพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศนิวซีแลนด์, การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับตัวแทนแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand Recognized Agencies : ENZRA) มากกว่า 30 แห่ง เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักเรียนไทยได้อย่างครอบคลุม รวมถึงการดำเนินกิจกรรมการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องผ่านแคมเปญระดับนานาชาติ การใช้ influencers และสื่อสังคมออนไลน์ ทำการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมต่าง ๆ

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studywithnewzealand.govt.nz