โรงเรียนย่านอ่อนนุชปิดกิจการ ผู้ปกครองไม่ทันตั้งตัว รับผลกระทบ 8 ข้อ

โรงเรียนย่านอ่อนนุช ปิดกิจการ
ภาพจาก : มติชน

โรงเรียนย่านอ่อนนุช กรุงเทพฯ แจ้งปิดกิจการกะทันหัน ผู้ปกครองไม่ทันตั้งตัว รับผลกระทบหนัก 8 ข้อ เด็กกว่า 600 คนต้องหาที่เรียนใหม่ 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 มติชนรายงานว่า ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านอ่อนนุช กว่า 10 คน ชูข้อความระบุว่า “ผู้บริหารอยู่ไหน สงสารเด็ก มารับผิดชอบต่อการตัดสินใจของพวกคุณด้วย ใจร้าย อย่าทำกับเด็กแบบนี้” “แจ้งปิด ร.ร.กะทันหันให้เวลา 14 วัน ไม่ทันเตรียมตัว มีผลกระทบหนัก ผอ.อยู่ไหน”

พร้อมกับยื่นหนังสือร้องเรียน ถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมีนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เป็นผู้รับเรื่อง

โรงเรียนย่านอ่อนนุช ปิดกิจการ
ภาพจาก : มติชน

นางศิริพร นวมสุข ตัวแทนผู้ปกครองกล่าวว่า ผู้ปกครองได้สรุปผลกระทบที่ได้รับจากการปิดโรงเรียนกะทันหัน จำนวน 8 ข้อ ดังนี้

1.โรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนระดับเตรียมอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ทางผู้บริหารโรงเรียนส่งหนังสือถึงผู้ปกครอง แจ้งว่าทางโรงเรียนจะปิดกิจการ วันที่ 3 มีนาคม ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 14 วันเท่านั้น ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการแจ้งปิดกะทันหันในครั้งนี้

2.ผู้บริหารโรงเรียน ไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว เพราะเมื่อผู้ปกครองขอเข้าพบผู้บริหารของโรงเรียน เพื่อเจรจาพูดคุยและหารือมาตรการเยียวยา เนื่องจากการปิดกิจการ แต่ทางผู้บริหารของโรงเรียนบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ผู้ปกครองเข้าพบ

3.ผู้ปกครองต้องหาโรงเรียนใหม่ให้บุตรหลานไม่ทันเวลา นักเรียนหลายคนยังไม่มีที่เรียน นักเรียนเสียสิทธิในการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนหลายแห่ง เพราะโรงเรียนแจ้งว่าจำนวนนักเรียนเต็มแล้ว ผู้ปกครองบางคนยังหมดโอกาสที่จะเตรียมหาที่เรียนที่เหมาะสมให้กับบุตรหลาน เพราะเวลากระชั้นชิดเกินไป ตลอดจนหมดโอกาสที่จะเลือกโรงเรียนที่สามารถเดินทางรับส่งบุตรหลานที่ไม่ไกลบ้าน และสะดวกต่อการเดินทางของผู้ปกครองในการทำงาน

4.ผู้ปกครองได้รับความเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องไปสมัครเรียนที่ใหม่ เพราะต้องชำระค่าเทอมที่โรงเรียนใหม่ทันทีเป็นเงินสดเต็มจำนวน นอกจากนั้นผู้ปกครองยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่ได้มีการเตรียมตัว เช่น ค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนปรับพื้นฐาน ค่าเรียนซัมเมอร์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 10,000-30,000 บาท

5.ผู้ปกครองหลายคนซื้อเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียนกับทางโรงเรียนเดิมไว้จำนวนมาก เพื่อให้นักเรียนมีใช้ในระยะยาว แต่ทางโรงเรียนกลับแจ้งปิดกะทันหัน

6.ผู้ปกครองหลายคนต้องเป็นหนี้ บางคนรูดบัตรเครดิต เนื่องจากต้องชำระค่าเล่าเรียนใหม่เต็มจำนวน

7.ทางโรงเรียนมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย เพราะครูประจำชั้นให้ผู้ปกครองกรอกเอกสารคำร้องขอย้ายโรงเรียน ซึ่งในความจริงแล้วทางผู้ปกครองไม่ได้มีความประสงค์ที่จะย้าย แต่เป็นเพราะโรงเรียนปิดกิจการ ผู้ปกครองเพียงแค่รอรับเอกสารทางการศึกษา และสมุดพก เพื่อนำไปสมัครเรียนเท่านั้น แต่ทางโรงเรียนกลับปฏิบัติเหมือนผู้ปกครองยินดีจะย้ายบุตรหลานไปเรียนที่อื่นเอง

8.นักเรียนหลายคนมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากต้องแยกย้ายจากเพื่อนตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อเด็กอย่างรุนแรง

นางศิริพรกล่าวต่อว่า โรงเรียนมีนักเรียนกว่า 600 คน ตอนนี้เราได้รวบรวมผู้ปกครอง และนักเรียนที่ได้รับผลกระทบกว่า 200 คนแล้ว อยากให้ผู้บริหารโรงเรียนมาพูดคุย หารือกับผู้ปกครอง ว่าจะเยียวยานักเรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร เช่น อาจจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเข้าโรงเรียนใหม่ เพราะเมื่อสมัครโรงเรียนใหม่ ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และจ่ายเงินอย่างกระชั้นชิด

อีกทั้งก่อนหน้านี้โรงเรียนไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะปิดกิจการ แม้ว่าโรงเรียนขาดทุนจริง ทางโรงเรียนควรเรียกประชุมผู้ปกครอง เพื่อหารือให้ผู้ปกครองสามารถวางแผนให้บุตรหลานของตนได้ หากโรงเรียนไม่มาเจรจา หรือหาข้อยุติไม่ได้ อาจจะฟ้องโรงเรียนต่อไป

สช.ยังไม่อนุญาตโรงเรียนยกเลิกกิจการ

ด้านนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะช่วยประสานกับโรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ และจะเชิญผู้ปกครอง และโรงเรียนในกลุ่มเป้าหมาย ที่จะย้ายเด็กไปเรียน มาพูดคุยเพื่อหาทางช่วยเหลือให้นักเรียนทุกคนได้มีที่เรียน

จากการตรวจสอบพบว่าโรงเรียนดังกล่าว ยื่นหนังสือขอยกเลิกกิจการ โดยให้เหตุผลว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงเรียนประสบสภาวะขาดทุน และมีผู้ปกครองบางคนค้างจ่ายค่าเทอมจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่อง ถ้าโรงเรียนดำเนินการต่อไป ก็อาจจะกระทบต่อคุณภาพการศึกษา เมื่อโรงเรียนยื่นหนังสือขอยกเลิกกิจการ

สช.จะพิจารณาก่อนว่าเหตุผลที่โรงเรียนให้มานั้นเป็นจริงหรือไม่ และเมื่อโรงเรียนปิดกิจการ ผู้ปกครอง นักเรียน และครูจะทำอย่างไร ขณะนี้ สช.ยังไม่ได้อนุญาตให้โรงเรียนเลิกกิจการ เพราะจะผ่านกระบวนการพิจารณาก่อน

“ทางโรงเรียนแจ้งผู้ปกครองกระชั้นชิดเกินไป ถือเป็นความบกพร่องของโรงเรียน สช.จะรับข้อร้องเรียนที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบทั้ง 8 ข้อ ที่ผู้ปกครองเสนอมา ดูรายละเอียดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ปกครองได้อย่างไรบ้าง

แต่เบื้องต้นทาง สช.​ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้โทร.หาผู้ได้รับใบอนุญาตก่อตั้งโรงเรียนทันที แต่ทางผู้รับใบอนุญาตไม่สะดวกที่จะพูดคุย ทั้งนี้ สช.ขอให้ความมั่นใจกับผู้ปกครองว่าจะหาทางช่วยเหลือให้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”