โรงเรียนเอกชนทยอยตาย ผู้ปกครองค้างค่าเทอมหมื่นล้าน ครูตกงาน

โรงเรียนเอกชน
ภาพ : Pixabay

โรงเรียนเอกชนทยอยตาย ผู้ปกครองค้างค่าเทอมหมื่นล้าน ครูตกงานทันที นักเรียนหันพึ่งโรงเรียนรัฐ

วันที่ 8 เมษายน 2565 จากวิกฤตโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว กระทบกับทุกภาคอุตสาหกรรม ทว่าหนักที่สุดคือภาคการศึกษา เพราะตลอดระยะเวลาตลอด 3 ปีผ่านมา โรงเรียนเอกชนทยอยปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาประกาศปิดโรงเรียนไปแล้วมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับในปี 2565 เดือนมกราคม โรงเรียนวรรณวิทย์ สถานศึกษาดังย่านสุขุมวิทที่เปิดมากว่า 75 ปี ประกาศหยุดการสอนหลังประสบภาวะขาดทุนมาตลอดช่วง 3 ปีที่นับตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาด และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน โรงเรียนเฉลิมไฉไลวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ก่อตั้งมา 65 ปี อยู่ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ ก็ได้ส่งหนังสือถึงผู้ปกครองถึงเรื่องขอยุติการเรียนการสอนทุกระดับชั้นตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมเป็นต้นไป

ทำให้นักเรียนต้องหาที่เรียนใหม่ ส่วนครูที่ตกงาน ทางโรงเรียนจ่ายชดเชยให้ และยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ทยอยปิดตัวอย่างเงียบ ๆ และบางแห่งไม่ได้แจ้งปิดกิจการอย่างเป็นทางการ

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ต้องปิดตัวลง เนื่องจากอัตราการเกิดของเด็กต่ำลง ทำให้เด็กมาเรียนน้อย ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ จนทำให้โรงเรียนประสบกับภาวะขาดทุน

ผู้ปกครองค้างค่าเทอมหมื่นล้าน

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมสถานศึกษาเอกชนจังหวัดนครราชสีมา และนายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าโรงเรียนเอกชนกำลังเผชิญปัญหาเด็กลดลง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กกำลังอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งปัจจัยมาจากผลกระทบของโควิด-19 เศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ผู้ปกครองของนักเรียนบางรายว่างงานไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้

“โรงเรียนเอกชนจึงหาทางช่วยไม่ว่าจะลดค่าธรรมเนียม ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ผู้ปกครองแบ่งจ่ายได้ แต่ทั้งนั้นยังมีผู้ปกครองที่ยังคงค้างค่าเทอม และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อยู่ และเท่าที่ดูภาพรวมทั่วประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 ผู้ปกครองค้างจ่ายรวม ๆ แล้วเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค้างสะสมมาต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19

“ก่อนจะมีวิกฤตโควิดก็มีผู้ปกครองค้างค่าเทอม และค่าธรรมเนียมอยู่บ้าง แต่ตัวเลขไม่สูงมาก พอมีวิกฤตโควิดตัวเลขก็เลยพุ่งสูงขึ้น เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลาง บางคนตกงาน ส่วนโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาตรงนี้ แต่ล่าสุดผู้ปกครองโรงเรียนเอกบางแห่งก็เริ่มทยอยจ่ายบ้าง เนื่องจากนักเรียนบางคนเรียนจบ และต้องไปศึกษาต่อระดับอื่น ดังนั้น ตัวเลขคงค้างตรงนี้น่าจะค่อยๆลดลง”

นักเรียนลดลงเกือบ 100,000 คน

ตลอดช่วง 3-4 ปีก่อน โรงเรียนเอกชนปิดตัวไปแล้ว 200-300 แห่ง เฉลี่ยปิดปีละมากกว่า 10-30 แห่ง ซึ่งจะมีการสรุปตัวเลขอีกครั้งว่าที่ผ่านมามีการปิดตัวไปแล้วกี่แห่งกันแน่ เพราะยังมีบางแห่งปิดแบบกะทันหัน โดยไม่แจ้ง เนื่องจากไม่มีนักเรียนมาเรียนแล้ว และคาดว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกเรื่อย ๆ จนถึงปี 2566 เพราะเท่าที่สำรวจภาพรวมการรับนักเรียนของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศปีการศึกษา 2565 ไม่ได้เยอะมากนัก อีกทั้งยังมีเด็กที่ลดลงราวเกือบ 100,000 คน เพราะผู้ปกครองพาลูกย้ายไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลบ้าง เพราะจะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเอกชน”

แนะรัฐเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อว่าอยากให้ภาครัฐมาคุยอย่างจริงจังว่าจะช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนได้อย่างไรบ้าง เราไม่ต้องการเอาเปรียบรัฐ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐพยายามช่วยเต็มที่ เพียงแต่อยากให้คุยกันอย่างจริงจัง เช่น เงินอุดหนุนรายหัว ภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนแบบ 100% โรงเรียนเอกชนต้องจ่ายเงินเดือนครูเอง ขั้นต่ำเงินเดือนครูอยู่ที่ 15,000 บาท ขณะที่โรงเรียนรัฐบาล ภาครัฐสนับสนุนเงินเดือนครู และบุคลากรด้วย

“ที่สำคัญ อยากให้มีการเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับ และเด็กทุกคนควรได้กินอาหารกลางวันฟรี โรงเรียนเอกชนได้รับเงินค่าอาหารกลางวันแค่ 28% ครอบคลุมเด็กแค่ 4 แสนคน จากเด็กทั้งหมดในระบบ 2 ล้านคน ที่มาจากโรงเรียนกว่า 3,000 แห่ง”

นโยบายให้โรงเรียนกู้ยืมไม่ได้ผล

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวอีกว่าแม้ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการจะช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน โดยให้โรงเรียนกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ในความจริงพบว่าระเบียบยุ่งยาก จนทำให้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งไม่สามารถกู้ยืมได้ เช่น มีกฏเกณฑ์ว่าจะกู้ยืมได้โรงเรียนนั้นต้องมีนักเรียนอย่างน้อย 120-180 คน

“แต่ปราฏว่าโรงเรียนที่อยากขอกู้ยืมส่วนใหญ่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 120 คน ก็เลยมีการเสนอไปทางกระทรวงฯ ว่าให้ช่วยปรับเกณฑ์ใหม่ เปลี่ยนเป็นโรงเรียนที่กู้ได้ต้องมีนักเรียนอย่างน้อย 60 คน และให้กู้ในจำนวนประมาณ 500,000 -1,000,000 บาทขึ้นไป เพื่อเสริมสภาพคล่อง และผ่อนคืนแบบรายเดือน ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลา จึงทำให้โรงเรียนบางแห่งรอไม่ไหวต้องทยอยปิดไปเสียก่อน ผมคาดว่าเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนคงได้เห็นความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าจากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ผ่านมา ปรากฏข้อมูลจำนวนโรงเรียนเอกชนระบุว่าขณะนี้โรงเรียนเอกชนในระบบมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,986 แห่ง เลิกกิจการ 43 แห่ง แบ่งออกเป็น

– ประเภทสามัญศึกษา 3,759 แห่ง เลิกกิจการ 40 แห่ง
– ประเภทนานาชาติ 227 แห่ง เลิกกิจการ 3 แห่ง

โรงเรียนเอกชนนอกระบบมีจำนวน 7,789 แห่ง เลิกกิจการ 300 แห่ง แบ่งออกเป็น

– ประเภทโรงเรียนศาสนา เลิกกิจการ 3 แห่ง
– ประเภทศิลปะ-กีฬา 588 แห่ง เลิกกิจการ 29 แห่ง
– ประเภทวิชาชีพ 2,135 แห่ง เลิกกิจการ 196 แห่ง
– ประเภทกวดวิชา 1,966 แห่ง เลิกกิจการ 66 แห่ง
– ประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต เลิกกิจการ 5 แห่ง
– สถาบันศึกษาปอเนาะ เลิกกิจการ 1 แห่ง