ม.ศรีปทุม ชูคณะสหวิทยาการ นักศึกษาออกแบบวิชาเรียนเองได้

ทิศทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม ปี 2566 ขับเคลื่อนองค์กรเป็น Dynamic University ชูสาขาสหวิทยาการ เรียนข้ามศาสตร์ นักศึกษาออกแบบวิชาเรียนเองได้ ผนึกผู้ประกอบการกว่า 3,000 รายร่วมผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการตลาดงาน 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จากความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับเนื้อหาและรูปแบบการเรียนการสอนตามไปด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรม รวมถึงสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน เนื่องจากปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่ยังมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น

ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเอกชนมักเผชิญปัญหากับจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ผมมองว่าไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้นที่ต้องกังวลถึงจำนวนนักศึกษาลด แต่ถ้าเด็กเกิดใหม่น้อยลง ทุกแห่งย่อมได้รับผลกระทบหมด

แต่ผมเชื่อว่าตอนนี้หากสถาบันการศึกษาใดปรับตัวได้ มีการพัฒนาอะไรใหม่ ๆ ทำหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับความต้องการตลาดงาน ผมเชื่อว่าจะยังอยู่ได้ เพราะศักยภาพในการพัฒนาประเทศขึ้นอยู่กับศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาคนก็ยังมีความจำเป็นต่อสังคม เพียงแต่รูปแบบอาจไม่ใช่รูปแบบเดิม อาจจะต้องมีรูปแบบใหม่

“อย่าง ม.ศรีปทุม เรามีวิทยาเขตอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี และขอนแก่น เราไม่เคยเผชิญกับปัญหานักศึกษาลดลง แต่กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี อาจเป็นเพราะเรามีการปรับตัวตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง สิ่งที่เราทำคือหามุมที่สร้างประโยชน์ให้กับนักศึกษา มุมไหนดี ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหามาให้เขา”

ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม
ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม

ร่วมภาคอุตสาหกรรม 3 พันแห่ง

ผศ.ดร.วิรัชกล่าวต่อว่า ม.ศรีปทุม เราขับเคลื่อนองค์กรเป็น Dynamic University มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาหลักสูตรทุก ๆ 2 ปี อย่างที่ผ่านมาเราได้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นโครงการที่ให้มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคธุรกิจ หรือผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ จัดทำหลักสูตรร่วมกันเพื่อผสมผสานสัดส่วนของวิชาการและวิชาชีพ สร้างโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้การปฏิบัติงานจริงที่ตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน พร้อมเพิ่มอาชีพให้คนวัยทำงานเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำหรับโครงการนี้ เราตั้งเป้าหมายว่า นักศึกษาจะต้องได้เรียนกับคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 50% เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งจากการที่เราทำสหกิจศึกษามากว่า 20 ปี ตอนนี้เรามีพาร์ตเนอร์ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถึง 3,000 กว่าบริษัท โดยมีสาขาวิชาที่เข้าร่วมโครงการ เช่น คณะสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในสาขาสหวิทยาการฯ ก็ร่วมกับผู้ประกอบการหลายแห่ง

หรือที่วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ก็มีร่วมกับสมาพันธ์ทางด้านโลจิสติกส์, คณะวิศวกรรมศาสตร์ เช่น สาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง เราก็มีการส่งนักศึกษาไปเรียนที่ประเทศจีน 2 ปี เนื่องจากจีนเขามีตัวอย่างการเรียนการสอน หรือธุรกิจเกี่ยวกับระบบรางที่สมบูรณ์มาก เด็กก็จะมีโอกาสไปสัมผัสของจริง ส่วนในประเทศไทย เราก็ร่วมกับภาคเอกชนที่ทำเรื่องระบบรางหลายแห่ง, คณะดิจิทัลมีเดีย เรามีรูปแบบที่ให้สถานประกอบการชั้นนำต่าง ๆ ที่ทำสื่อดิจิทัล เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย ร่วมกันสอนนักศึกษา เตรียมตัวนักศึกษา เพราะเขาก็ต้องการคนด้านนี้เข้าไปร่วมงานเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ 

สหวิทยาการออกแบบวิชาเรียนเอง

สำหรับคณะสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เราเปิดสาขาสหวิทยาการฯ ได้ประมาณ 3 ปี เป็นหลักสูตรที่พิเศษมาก นักศึกษาสามารถออกแบบวิชาเรียนได้เองว่าเขาจะเป็นอะไร อยากเก่งด้านไหน สามารถผสมผสานได้จาก 12 คณะ ไม่ว่าจะเป็นด้านบัญชี ไอที การออกแบบ ผสมได้ตามที่เขาต้องการ โดยที่เรามีโค้ชคอยดูแลให้คำปรึกษา ช่วยชี้แนะว่าถ้าอยากประกอบอาชีพนี้ จะต้องมีความรู้ด้านใด เรียนวิชาไหนบ้าง และนักศึกษาจะได้ทำโปรเจ็กต์เป็นชิ้นงานออกมา 

โดยการเรียนเขาจะต้องได้ออกไปเรียนรู้ฝึกปฏิบัติกับภาคอุตสาหกรรมจริง ๆ ถือเป็นการฉีกกฎการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ เพราะเราอยากให้นักศึกษาของเรามีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการหรือบุคลากรที่มีความรู้และทักษะที่หลากหลาย ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ

ผศ.ดร.วิรัชกล่าวอีกว่า ผมเชื่อว่าในประเทศไทยมีเพียงหลักสูตรเดียว ที่มีลักษณะแบบนี้ ช่วงแรกสาขาสหวิทยาการ มีนักศึกษาแค่ 30 คน ตอนนี้เพิ่มเป็นหลักร้อยแล้ว ผมมองว่าคือความท้าทาย เพราะไม่ง่ายเลย อาจารย์ก็ต้องคอยมาเป็นโค้ช เพราะเด็กแต่ละคนเรียนไม่เหมือนกัน รายวิชาจะหลากหลายมาก แล้วแต่ความชอบ และความหลากหลายของแต่ละคน อาจารย์ที่เรารับเข้ามาไม่ใช่ตำแหน่งอาจารย์ แต่รับตำแหน่งโค้ช คอยช่วยเหลือนักศึกษาอย่างใกล้ชิด จะเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการเรียนรู้

จัดทำกลุ่มวิชาเฉพาะ

นอกจากนี้ รองอธิการบดียังกล่าวต่อว่า การที่โลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการแรงงานด้านต่าง ๆ เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น บางครั้งพอเราจะเปลี่ยนทั้งหลักสูตร มันอาจจะไม่ทันโลก เราก็เลยมีการจัดทำหลักสูตร หรือรายวิชาในลักษณะของโฟกัสขึ้นมา ซึ่งเราเรียกว่ากลุ่มวิชาเฉพาะในคณะต่าง ๆ เช่น ช่วงนี้ตลาดงานต้องการคนด้าน Cyber Security สูงมาก เราก็ดีไซน์กลุ่มวิชาเฉพาะขึ้นมาสำหรับนักศึกษาที่เรียนคณะไอซีที ที่สนใจก็เลือกเข้ามาเรียนได้เลย 

หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็จะมีวิชาเฉพาะด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ หรือกลุ่มเทคโนโลยีอาคาร หรือธุรกิจการจัดการก่อสร้าง ซึ่งมันเป็นเฉพาะทางที่เด็กสามารถเลือกได้เลย คือเราเปิดกว้าง และมุ่งผลิตคนให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมมากขึ้น 

“ท้ายสุดแล้ว ผมเชื่อว่าเด็กสมัยนี้เขามีศักยภาพในตนเอง และมีศักยภาพต่างกัน ถ้าเราไปจำกัดเขา เช่น “ให้ปลาไปปีนต้นไม้ ให้ลิงไปว่ายน้ำ” มันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเรา “ให้ลิงไปปีนต้นไม้ ปลาไปว่ายน้ำ” เขาก็จะทำได้ดีในแบบของเขาเหมือนกัน โดยเฉพาะเด็กยุคใหม่ จะมีความสามารถเฉพาะตัวที่เราต้องช่วยกันค้นหา และหนุนเขาไปยังความฝันของเขา มันจะมีประโยชน์สูงสุด และเขาจะทำสิ่งที่เขารักได้ดี”