น.ศ.เมียนมาแห่เรียนมหาวิทยาลัยไทย ค่าเทอมหลักแสนมุ่งไอที-วิศวะ

นักศึกษาเมียนมา ลูกหลานนักธุรกิจระดับประเทศแห่เรียนวิทยาลัยนานาชาติในไทย “ม.รังสิต-ม.หอการค้าไทย” หลายพันคน มุ่งสนใจสาขาไอทีมากที่สุด รองลงมาวิทยาศาสตร์สุขภาพ-วิศวกรรมศาสตร์ ค่าเทอมปริญญาตรี อยู่ที่ 5 แสนบาท เผยนักธุรกิจเมียนมาสนใจเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ และบัญชี ค่าเรียนตลอดหลักสูตร 7 แสนบาท

นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เมื่อนักศึกษาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมารุ่นใหม่ ทั้งยังเป็นลูกหลานนักธุรกิจชั้นนำของประเทศให้ความสนใจระบบการศึกษาของไทย โดยเฉพาะระดับปริญญาตรี, โท และเอก ซึ่งต่างเข้ามาศึกษาต่อในวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์มหันตภัยไวรัสร้ายคลี่คลาย ยิ่งทำให้นักศึกษา-นักธุรกิจชาวเมียนมาเหล่านี้ต่างทยอยกลับมาเรียนออนไซต์ และสมัครนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2565-2566 เป็นจำนวนหลายร้อยคน

ปี 65 เรียน ม.รังสิต 1 พันคน

ผศ.ดร.สุพัฒนา นิรัคฆนาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นักศึกษาต่างชาติที่เรียน ม.รังสิตมาจากหลากหลายเชื้อชาติ เดิมทีมีนักศึกษาจีนมาเรียนมากสุดเป็นอันดับหนึ่ง แต่ช่วง 2 ปีผ่านมา ม.รังสิตกลายเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาชาวเมียนมามากขึ้น เฉพาะปีการศึกษา 2565 ระดับชั้นปริญญาตรี ปี 1 ในช่วงภาคฤดูร้อนรับมา 200 คน และมีเข้ามาเพิ่มเติมอีกในช่วงภาคเรียนที่ 1 และ 2 โดยรวมแล้วประมาณ 1,000 คน

กล่าวกันว่า นักศึกษาเมียนมาส่วนใหญ่เลือกเรียนวิทยาลัยนานาชาติ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ส่วนสาขาที่พวกเขาสนใจ ประกอบด้วยวิทยาศาสตร์สุขภาพ, วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์, ศิลปะอาร์ตแอนด์ดีไซน์, ธุรกิจระหว่างประเทศ, นิเทศศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีการศึกษานี้ มีนักศึกษาเข้ามาเรียนสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นจำนวนมาก จากอดีตที่เคยมีเพียงแค่หลักสิบ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 200 กว่าคน และมีนักศึกษาเมียนมามากสุด

“ปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาเมียนมาเลือกเรียน ม.รังสิต อย่างแรกน่าจะมาจากการบอกเล่ากันต่อ รวมถึงเรามีการดูแลนักศึกษาที่ดี เพราะเราเปิดตลาดเมียนมาหลายปีแล้ว โดยเริ่มจากการทำความร่วมมือทางวิชาการ และการทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกัน นอกจากนั้นอาจเป็นเพราะที่นั่งในมหาวิทยาลัยของรัฐไม่เพียงพอ ที่สำคัญอาจเพราะสถานการณ์ภายในประเทศด้วยที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่อยากเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยคือจุดมุ่งหมายหลัก เพราะไม่ไกลจากประเทศของเขาเท่าไหร่นัก ปรับตัวไม่ยาก อีกอย่างระบบการศึกษาของประเทศไทยค่อนข้างแข็งแรง และมีคุณภาพ จึงทำให้พวกเขาอยากเรียนที่นี่”

“ดิฉันคิดว่าตลาดเมียนมายังโตไปได้อีก แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะเติบโตเหมือนอย่างปีการศึกษา 2565 หรือไม่  ตอนนี้เราพยายามเตรียมความพร้อมในเรื่องของ capacity เพื่อรองรับนักศึกษาต่างประเทศทุกปี ไม่ใช่เฉพาะแต่เมียนมา หรือจีน เพราะ ม.รังสิตมีนักศึกษาจากหลากหลายชาติ อาทิ สหรัฐอเมริกา, เนปาล, ไนจีเรีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, กัมพูชา ฯลฯ รวมถึงการรองรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากโซนยุโรปที่เราเปิดรับมาตลอด โดยเฉลี่ยปีหนึ่ง ๆ จะมีนักศึกษามาแลกเปลี่ยนกับเราปีละ 100 กว่าคน

แห่เรียนนานาชาติ ม.หอการค้าฯ

ผศ.ดร.ณัฐพันธ์ บัววราภรณ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติเพื่อการจัดการ (ISM UTCC) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิทยาลัยนานาชาติเพื่อการจัดการ หรือ ISM เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติสาขาบริหารธุรกิจ และบัญชี ทั้งระดับปริญญาตรี, โท และเอก โดยเป้าหมายของหลักสูตรคือรองรับกลุ่มนักศึกษาไทยที่ต้องการเรียนรู้ในระบบภาษาอังกฤษ กับกลุ่มนักศึกษาต่างชาติ

เพียงแต่เราไม่ได้เน้นตลาดนักศึกษาไทยมากนัก เพราะต้องการจับกลุ่มนักศึกษาต่างประเทศมากกว่า จึงทำให้สัดส่วนนักศึกษาของเรากว่า 80% เป็นชาวต่างชาติที่มาจากหลากหลายประเทศ ส่วนอีก 20% เป็นนักศึกษาไทย ปัจจุบัน ISM มีจำนวนนักศึกษาทุกระดับชั้นทั้งปริญาตรี, โท และเอก ประมาณ 800 คน โดยประเทศที่เรียนกับเรามากที่สุดมาจากกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมา ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 200 กว่าคน เพราะเราเปิดตลาดในประเทศเมียนมามานานมาก เริ่มตั้งแต่การเปิดวิทยาเขตที่ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ในปี 2012

ที่สำคัญ ม.หอการค้าไทยอยู่ภายใต้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงมีความเชื่อมโยงกับหอการค้าทั่วโลก และในปี 2012 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเมียนมาอยู่ในช่วงขาขึ้น และต้องการพัฒนาบุคลากรในประเทศออกสู่ตลาด จึงเกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาบุคลากร เพราะก่อนหน้านี้สัดส่วนนักศึกษาอาเซียน และจีนใกล้เคียงกัน

แต่ในช่วง 2-3 ปีผ่านมา นักศึกษาจีนมีข้อจำกัดเรื่องการขอวีซ่าในการออกนอกประเทศ จึงทำให้จำนวนวีซ่าลดลง จนกลายเป็นนักศึกษาอาเซียนเข้ามาเรียนมากกว่า ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะค่าเทอมไม่แพงมาก โดยเฉลี่ยระดับปริญญาตรีนักศึกษาไทยจะอยู่ที่ 5 แสนบาท ส่วนนักศึกษาต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 7 แสนบาท

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ ม.หอการค้าไทยพยายามดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียน เพราะช่วงก่อนหน้ายอดนักศึกษาลดลงไปเยอะ แต่ภายในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป สถานการณ์คงน่าจะดีขึ้น เพราะเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากการเปิดประเทศของจีน และการกลับมาเรียนออนไซต์ของนักศึกษาต่างชาติทุกประเทศ ผมคาดการณ์ว่าปีการศึกษา 2566 น่าจะมีนักศึกษา ISM เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200-300 คน รวมถึงนักศึกษาเมียนมาก็น่าจะมาเรียนที่นี่มากขึ้นด้วย

นักธุรกิจเมียนมาสนใจเรียนโท

ผศ.ดร.ณัฐพันธ์กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราพยายามทำตลาดคือการการันตีว่าหากนักศึกษาเรียนจบไปแล้วจะได้งานทำ 100% โดยระดับปริญญาตรีมี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (Bachelor of Business Administration, BBA) และหลักสูตรบัญชีบัณฑิต (Bachelor of Accountancy, BAcc) ซึ่งนักศึกษาที่จบทั้ง 2 หลักสูตรกว่า 75% มีโอกาสเข้าร่วมงานกับองค์กรธุรกิจ รวมถึงบริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำระดับโลก (BIG4) จำนวนมาก

สำหรับระดับปริญญาโทเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ภายใต้ชื่อ UTCC Global MBA ซึ่งเปิดสอนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 ปัจจุบันหลักสูตร Global MBA มีการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 3 วิทยาเขต ได้แก่ กรุงเทพฯ, ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ และนักศึกษาที่เรียนหลักสูตร Global MBA สามารถเลือกเรียนในแต่ละวิทยาเขตที่มีได้ทั้งหมด ส่วนหลักสูตรนานาชาติช่วง 4-5 ปีหลังมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน ในอดีตอาจเริ่มจากสาขาที่เป็นบริหารธุรกิจ แต่ปัจจุบันเริ่มมีสาขาวิศวกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

“ผมมองว่าเป็นโอกาสดีหากรัฐบาลสนับสนุนเชิงนโยบาย และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายทางการศึกษาของต่างชาติ เพราะเรามีศักยภาพดีกว่าในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกัน ผมคิดว่า ม.หอการค้าไทยวางรากฐานไว้ดี ทั้งยังมีดีเอ็นเอชัดเจนในเรื่องของการผลิตนักธุรกิจ เพราะเรามีการส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อในมหา’ลัยทั่วโลก ฉะนั้น เรื่องของคุณภาพการศึกษา

ผมคิดว่าภูมิภาคนี้ไทยค่อนข้างโดดเด่น ยกตัวอย่างนักศึกษาเมียนมาที่เรียน ป.โทส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น การที่เขามาเรียนกับเรา จึงต้องมั่นใจเรื่องของคุณภาพ ตรงนี้ จึงทำให้เราตั้ง vision เอาไว้ว่าจะขับเคลื่อน และผลักดันให้ทุกหลักสูตรก้าวขึ้นสู่การเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจ และการบัญชีชั้นนำในกลุ่มประเทศอาเซียน”

“ศรีปทุม-มธบ.” เด็กจีนมากสุด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า จากการสอบถามแหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยศรีปทุมระบุว่า วิทยาลัยนานาชาติ ม.ศรีปทุม มีนักศึกษารวม 4 ชั้นปีประมาณ 300 คน สาขาที่เรียนมากสุดคือสาขาการจัดการธุรกิจ ซึ่งมีนักศึกษาจากหลากหลายเชื้อชาติ โดยมีสัดส่วนนักศึกษาจีนมากสุดประมาณ 150 คน รองลงมาคือเนปาล 33 คน และฟิลิปปินส์ 30 คน นอกจากนั้น ก็มีนักศึกษาจากเมียนมาจำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก


ขณะที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ปัจจุบันจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากสุดยังคงเป็นนักศึกษาจีนที่มีมากกว่า 3,000 คน ขณะที่นักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ กัมพูชา, เมียนมา และ สปป.ลาวเริ่มเห็นแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีไม่มาก เพราะตลาดหลักยังคงเป็นนักศึกษาจีน แต่อนาคตมีความเป็นไปได้ที่นักศึกษาอาเซียนสนใจเข้ามาเรียนที่นี่เพิ่มขึ้น