รู้จักหลักสูตรใหม่ จุฬาฯ วิศวะคอมฯ เทคโนโลยีดิจิทัล รับปีละ 300 คน

เอไอ หุ่นยนต์ เทคโนโลยี

ทำความรู้จักหลักสูตรใหม่ของจุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ “สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล” รับสูงสุดปีละ 300 คน เรียนยืดหยุ่น ฝึกงานทุกปี

วันที่ 10 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อนุมัติหลักสูตรแซนด์บอกซ์เพิ่มเติม คือหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Computer Engineering & Digital Technology (CEDT)

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความน่าสนใจของสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ว่ามีความแตกต่างจากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แบบปกติอย่างไร รวมถึงเมื่อสำเร็จการศึกษาจะสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ดังนี้ 

หลักสูตรแซนด์บอกซ์ ปลดล็อกข้อจำกัดเดิมการศึกษาไทย

สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล อยู่ในหลักสูตรแซนด์บอกซ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ลดระเบียบกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ลดข้อจำกัด และสนับสนุนให้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยตรงตามความต้องการของตลาดงานมากขึ้น

และภาควิชาที่เสนอหลักสูตรเข้ามาอยู่ในแซนด์บอกซ์ จะมีอิสระในการออกแบบ และวิธีการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น และทันสมัยมากขึ้น เช่น การกำหนดรายวิชา ลดวิชาเดิม และเพิ่มวิชาใหม่ที่ตรงกับความต้องการของตลาด, ลดรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไป ไปเพิ่มหน่วยกิตจากการฝึกงาน รวมถึงเกณฑ์คุณสมบัติของผู้สอนที่อิสระขึ้น โดยผู้เข้าสอนไม่จำเป็นต้องอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเสมอไป แต่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากภาคเอกชนมาร่วมสอนและถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานจริง

รับนิสิตได้สูงสุดปีละ 300 คน

ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดที่ลดลง ทำให้การเรียนการสอนของสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการสอน และรับนิสิตได้ถึง 300 คน เมื่อเทียบกับหลักสูตรเดิม “สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์” ที่รับได้ปีละ 150 คนเท่านั้น 

ฝึกงานทุกปี ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4

จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือการเปิดโอกาสให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพผ่านการฝึกงานสม่ำเสมอทุกชั้นปี ตั้งแต่ปี 1 จนถึง ปี 4 คือเรียนทฤษฎีของแต่ละชั้นปีจบก็จะได้ฝึกงาน ต่างจากเดิมที่ต้องเรียนครบ 3 ปีจึงจะมีทักษะครบตามเกณฑ์ก่อนจะลงสนามฝึกงานในรูปแบบสหกิจศึกษา

โดยจะได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) รับรองรายภาคการศึกษา หรือเมื่อเรียนจบแต่ละชั้นปีนักศึกษาสามารถใช้ยื่นเพื่อออกไปประกอบอาชีพได้ด้วยโดยสะสมหน่วยกิตไว้ในคลังหน่วยกิต เมื่อพร้อมกลับมาเรียนก็สามารถมาเรียนต่อได้ทันที

การเรียนเน้นทักษะเทคโนโลยี ดิจิทัลมากขึ้น

ส่วนเนื้อหาการเรียนการสอน จะมีความต่างจากหลักสูตรปกติ มีการปรับปรุงวิชาพื้นฐานให้เน้นเฉพาะเนื้อหาที่จำเป็น และเพิ่มวิชาทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรม เช่น Data Science,AI Cloud, IoT, Agile Software Development และวิชาเลือกที่สอนโดยบริษัทเอกชนชั้นนำ ซึ่งหลักสูตรใหม่นี้ทำความร่วมมือกับ 30 บริษัทเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง

ค่าเรียน 25,000 บาท/เทอม

หลักสูตรนี้ มีจำนวนหน่วยกิตรวมทั้งหมด 141 หน่วยกิต โดยเรียนเป็นภาคภาษาไทย และค่าใช้จ่ายเหมือนหลักสูตรภาษาไทยภาคปกติ ประมาณ 25,500 / ภาคการศึกษา วิธีการเรียนการสอนจะผสมผสานระหว่างออนไลน์และออนไซต์

ทักษะหลังจบการศึกษา

ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างโปรแกรมประยุกต์ของระบบซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายกลุ่มเมฆ รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ปัญหาในสาขาอาชีพอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี