วิศวะ จุฬาฯ เปิดสาขาใหม่ ดึงเอกชน 30 บริษัท แก้แรงงานดิจิทัลขาดแคลน

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล

วิศวะ จุฬาฯ จับมือเอกชนยักษ์ใหญ่ ผลิตคนดิจิทัลแบบ co-creation ที่บริษัทเอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรอย่างใกล้ชิด ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

วันที่ 10 มีนาคม 2566 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสาขาใหม่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Computer Engineering & Digital Technology : CEDT) ที่มีความแตกต่างไปจากการเรียนตามหลักสูตรทั่วไป โดยตั้งเป้าผลิตกำลังคนดิจิทัลคุณภาพสูงมากถึง 300 คนต่อรุ่น เพื่อตอบสนองต่อความขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในงานสายนี้ของประเทศไทย

และเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถเฉพาะด้านตรงตามความต้องการของภาคเอกชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงลงนามข้อตกลงร่วมกับกว่า 30 บริษัทเอกชนชั้นนำ ให้ร่วมจัดการศึกษาหลักสูตร sandbox ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นรากฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน แต่ภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจำนวนมากและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน

โดยสถานประกอบการต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลจำนวนมาก และต้องเป็นคนที่มีความรู้หลากหลาย และสามารถผสมผสานทักษะการทำงานและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และก้าวทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

“เราเชื่อมั่นว่าหลักสูตรใหม่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้นนี้สามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมได้จริง การร่วมมือกับภาคเอกชนยิ่งจะทำให้เราสามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงจำนวนมากที่ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว โดยบัณฑิตเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อองค์กรภาคเอกชนต่อไป”

ตัวอย่างบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมลงนามข้อตกลงมีดังนี้

องค์กรขนาดใหญ่และองค์กรมหาชน เช่น บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน), บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน), บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด, บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด

กลุ่มธนาคารและการเงิน เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

องค์กรนานาชาติ เช่น บริษัท เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด, บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด, บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด

องค์กรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ บริษัท บล็อคฟินท์ จำกัด, บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด, บริษัท ฟิน อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด, บริษัท ฟอร์วิซ จํากัด, บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด, บริษัท จั๊ม เอไอ จำกัด, บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มายคอร์สวิลล์ จำกัด,

บริษัท โอโบตรอนส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ออเรนจ์แคป อินโนเวทีฟ จำกัด, บริษัท เพลย์ทอเรียม โซลูชันส์ จำกัด, บริษัท สคูลดิโอ จำกัด, บริษัท ซอฟต์สแควร์ 1999 จำกัด, บริษัท เอส เทลลิเจนซ์ จำกัด, บริษัท เซตตะซอฟต์ จำกัด, บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด และองค์กรอื่น ๆ รวมกว่า 30 บริษัท

ศ.ดร.สุพจน์ อธิบายต่อว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้รับการอนุมัติหลักสูตรภายใต้กรอบนโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) โดยเป็นหลักสูตรแบบ co-creation ที่บริษัทเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรอย่างใกล้ชิดใน 5 ด้าน ได้แก่

  1. การฝึกงานในทุกช่วงชั้นปี ตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 4
  2. การเสนอหัวข้อและร่วมพัฒนาโครงงานเพื่อให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์จากปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรม และได้รับคำแนะนำจากภาคอุตสาหกรรมโดยตรง
  3. การเปิดสอนวิชาเลือกที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการทำงานจริงในภาคเอกชน โดยบริษัทร่วมเป็นวิทยากรและพี่เลี้ยง
  4. การจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ
  5. การให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงหลักสูตรอย่างรวดเร็วและก้าวทันต่อเทคโนโลยีในแต่ละปีการศึกษา

“ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างโปรแกรมประยุกต์ของระบบซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายกลุ่มเมฆ รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ปัญหาในสาขาอาชีพอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี”

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cp.eng.chula.ac.th/cedt หรือ Facebook เพจ www.facebook.com/cedtengchula

ภาคเอกชนที่ร่วมมือในหลักสูตร CEDT