นักศึกษาจีน อยู่ที่ไหน ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย

นักศึกษาจีน อยู่ที่ไหน ในประเทศไทย
นักศึกษาจีน ภาพจากเพจ ม.เกริก

นักศึกษาจีน 3 ล้านคน แห่เรียนมหาวิทยาลัยไทย เรียนที่ไหนกันบ้าง งานวิจัยค้นพบ ม.เชียงใหม่ ได้รับความนิยมสูงสุด ไม่แพ้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่เป็นเจ้าตลาดนักศึกษาจีนมาหลายปีแล้ว

วันที่ 10 มีนาคม 2566 ปรากฏการณ์กลุ่ม “ทุนจีน” และนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนผิดกฏหมายในไทย กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมกำลังให้ความสนใจ บวกกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน หลังซมพิษโควิด-19 หนักหน่วงมากว่า 3 ปี เมื่อรัฐบาลจีนประกาศผ่อนคลายกฎระบียบการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศและเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 และประเทศไทยกลายเป็นหมุดหมายอันดับต้น ๆ ที่ชาวจีนเดินทางเข้ามามากที่สุดทั้งในแง่ของการท่องเที่ยว การลงทุนธุรกิจ และการค้าปลีกหลายรูปแบบ จนกลายเป็นข้อกังวลว่าจะเกิดการแย่งชิงตลาดคนไทย

นอกจากนี้ยังมีประชากรจีนจำนวนหนึ่งที่เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาต่อเนื่อง จากที่นั่งในมหาวิทยาลัยของจีนไม่เพียงพอ แต่ละปีมีนักเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประมาณ 9 ล้านคน แต่มหาวิทยาลัยของจีนทั้งของภาครัฐ และเอกชน ซึ่งมีประมาณ 2,740 แห่ง รองรับนักศึกษาปริญญาตรีได้เพียง 6 ล้านคน

ฉะนั้น ในส่วนที่เหลือประมาณ 3 ล้านคน นักศึกษาจึงต้องมองหาโอกาสเพื่อเรียนต่อในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ของนักศึกษาจีนที่แห่เข้ามา 

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มนักศึกษาจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยข้อมูลจากรายงานวิจัย “การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย” ของ ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ และ ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา สองนักวิจัยประจำศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดังต่อไปนี้ 

นักศึกษาต่างชาติกว่าครึ่งเป็นคนจีน

ข้อมูลของกระทรวง อว.เปิดเผยว่าในปี 2563 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติในระบบทั้งหมด 27,574 คน มีนักศึกษาจีนมากถึง 14,423 คน คิดเป็นร้อยละ 52 ซึ่งถือว่าไทยมีจำนวนนักศึกษาจีนมากกว่าครึ่งในหมู่นักศึกษาต่างชาติ 

หากพิจารณาสถิติจำนวนนักศึกษาจีนในไทยย้อนหลัง 10 ปี จะพบว่าจำนวนนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเติบโตขึ้นถึง 6.23 เท่า โดยในปีการศึกษา 2553 มีนักศึกษาชาวจีนในสถาบันอุดมศึกษาแค่ 2,315 คน และเมื่อผ่านไป 10 ปี ในปีการศึกษา 2563 ยอดนักศึกษาจีนได้เพิ่มขึ้นเป็น 14,423 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี 8,352 คน ระดับปริญญาโท 4,056 คน และระดับปริญญาเอก 2,000 คน

แต่สถานเอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้ประมาณการว่านักศึกษาจีนทุกระดับชั้นในไทยอาจจะมีมากกว่า 50,000 คน 

ทั้งยังพบว่านักศึกษาจีนในไทยส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน เช่น ยูนนาน กว่างซี เป็นต้น ส่วนนักศึกษาจีนที่มาจากพื้นที่อื่น ๆ มีเป็นส่วนน้อย แต่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นและหลากหลายขึ้นกว่าในอดีต

นักศึกษาจีนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

จากข้อมูลของ กระทรวง อว.ยังพบว่า ในปี 2563 มีนักศึกษาจีน กระจุกตัวอยู่เพียงบางพื้นที่เท่านั้นโดยเฉพาะภาคเหนือและกรุงเทพฯ ดังนี้ 

  • กรุงเทพฯ ปริมณฑล 11,515 คน
  • ภาคเหนือ 2,067 คน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 305 คน
  • ภาคตะวันออก 305 คน
  • ภาคกลางจังหวัดอื่น ๆ 148 คน
  • ภาคใต้ 83 คน

โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากตั้งอยู่ศูนย์กลางของประเทศ สะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต และมีสถาบันการศึกษาที่มีเชื่อเสียงหลายแห่ง

ส่วนภาคเหนือเนื่องจากอยู่ใกล้จีน การเดินทางจึงสะดวกสบายทั้งทางบกและอากาศ และมีสภาพอากาศที่ดี ค่าครองชีพไม่สูงมาก และมีชุมชนชาวจีนอพยพตั้งรกรากในภาคเหนือ และสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน ทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมของนักศึกษาจีน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากภาคอีสานมีบทบาทสำคัญขึ้นจากการเป็นประตูสู่อาเซียน มีรถไฟเชื่อมไทย จีน และอาเซียน ถึงแม้จะไม่มีปัจจัยดึงดูดด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว แต่ก็เป็นพื้นที่สงบ ส่วนใหญ่ที่เลือกมาเรียนก็มาจากการชักชวน และมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน

ขณะที่ภาคใต้มีนักศึกษาจีนน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงเพียงแค่ไม่กี่แห่ง อีกทั้งอยู่ไกลจากจีน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง และชาวจีนกังวลเรื่องความปลอดภัย

ในส่วนของสถาบันการศึกษาไทยหันมาเปิดรับนักศึกษาจีนเพิ่มมากขึ้นถึง 102 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น

  • สถาบันในกรุงเทพฯ ปริมณฑล 50 แห่ง
  • ภาคกลาง 7 แห่ง
  • ภาคเหนือ 19 แห่ง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่ง
  • ภาคตะวันออก 5 แห่ง
  • ภาคใต้ 5 แห่ง

โดยร้อยละ 70 ของนักศึกษาจีน (10,083 คน) เลือกศึกษาในสถาบันเอกชน ส่วนร้อยละ 30 (4,340 คน) เลือกศึกษาในสถาบันของรัฐ 

นักศึกษาจีน อยู่ที่ไหน ในประเทศไทย
ภาพจากเฟซบุ๊ก ม.เกริก

10 อันดับมหา’ลัย มีนักศึกษาจีนมากสุด

มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษาจีนมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปีการศึกษา 2563 ได้แก่

    1. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2,826 คน 
    2. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 1,560 คน
    3. มหาวิทยาลัยเกริก 894 คน
    4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 882 คน
    5. มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด 824 คน
    6. มหาวิทยาลัยชินวัตร 592 คน
    7. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 483 คน
    8. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 451 คน
    9. มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 342 คน
    10. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 340 คน

 ม.เชียงใหม่ นักศึกษาจีนนิยมสูงสุด ในมหาวิทยาลัยของรัฐ

    1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    2. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
    3. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
    4. มหาวิทยาลัยบูรพา
    5. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
    6. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    7. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
    8. มหาวิทยาลัยมหิดล
    9. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    10. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

มหาวิทยาธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยเอกชน ที่นักศึกษาจีนนิยมสูงสุด

  1. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  2. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
  3. มหาวิทยาลัยเกริก
  4. มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด
  5. มหาวิทยาลัยชินวัตร
  6. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  7. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  8. มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
  9. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  10. มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูล กระทรวง อว.ระบุอีกว่า หลักสูตรที่นักศึกษาจีนนิยมศึกษาต่อ ได้แก่ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการค้า การจัดการ ธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด บัญชี