ดร.เอนก ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี อว.ปฏิรูปอุดมศึกษาเร็วสุดในอาเซียน

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ดร.เอนก ปลื้มครบรอบ 4 ปี กระทรวง อว.โชว์ผลงานปฏิรูปอุมศึกษาเร็วสุดในอาเซียน ทั้งหลักสูตรแซนด์บอกซ์ ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ชี้การศึกษาจะไม่ถูกผูกขาดโดยครู อาจารย์ นักวิจัย ขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์ฯ ดีที่สุดในอาเซียน หลายประเทศทั่วโลกอยากมาลงทุนด้วย 

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. ครบรอบ 4 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่กระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งโอกาส และกระทรวงแห่งอนาคต ตนเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวง เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งด้านอุดมศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ในด้านอุดมศึกษา ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในอาเซียนที่ปฏิรูปอุดมศึกษามากที่สุด เร็วที่สุด และที่สำคัญไทยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่อยู่ในระดับชั้นนำของการปฏิรูปอุดมศึกษา เพราะฉะนั้นการปฏิรูปอุดมศึกษาของไทยขณะนี้ เป็นที่สนใจของประเทศตะวันตกมาก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

โดยตัวอย่างที่เราทำ ได้แก่ หลักสูตรแซนด์บอกซ์ หรือ Higher Education Sandbox สร้างหลักสูตรจาก Demand Side เพื่อผลิตคนตามความต้องการของประเทศ ให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก จัดตั้งธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราปลดล็อกการจำกัดเวลาเรียนตรี-โท-เอก ไม่จำกัดเวลาจบ เรียนไป ทำงานไป เป็นต้น ปรากฎว่าต่างประเทศบอกประเทศไทยไปได้ไกลมาก

“กระทรวง อว. ต้องปฏิรูป เพราะโลกสมัยนี้สำคัญที่การศึกษา การศึกษาเป็นตัวสร้างงาน เป็นตัวปรับอาชีพ ปรับทัศนคติ ต้องอาศัยการศึกษาทั้งนั้น ที่สำคัญ คนจะเห่อปริญญาน้อยลง และคนจะไม่เต็มใจที่จะอยู่มหาวิทยาลัยนานเกินไป ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยแล้วเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย แล้วได้เงินตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน การศึกษาจะไม่ถูกผูกขาดโดยครู อาจารย์ นักวิจัย แบบที่เราเคยเห็นมา ผมมีความเชื่อมั่นว่า 3 กว่าปีที่ผมเข้ามาเราปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก”

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต่อว่า ขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผมพูดได้ว่าดีที่สุดในอาเซียน จะเป็นรองก็แค่สิงคโปร์ แต่สิงคโปร์ก็ไม่ได้นำเราทุกเรื่อง เช่น เครื่องฉายแสงซินโครตรอนซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้สำหรับตรวจอนุภาคเล็ก ๆ ที่มีความชัดเจนยิ่งกว่าอิเล็กตรอนไมโครสโครป เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ภาคอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งสิงคโปร์ไม่มี แต่ประเทศไทยมีเครื่องฉายแสงซินโครตรอน 

กระทรวง อว

เรายังมีเครื่องโทคาแมค หรือ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” เครื่องแรกของประเทศไทยและมีที่ประเทศไทยเพียงที่เดียวในอาเซียน ที่จะสร้างพลังงานสะอาดแห่งอนาคตจากฝีมือนักวิทยาศาสตร์ไทยเพื่อคนไทยจะเดินเครื่องในเดือนกรกฎาคมนี้ แน่นอนเราไม่ได้เครื่องดังกล่าวเพื่อความเท่ห์หรือทดลองเพื่อเอาไปอวดใครว่าวิทยาศาสตร์ของเราดี แต่ว่าทดลองเพื่อที่จะแปรเปลี่ยนมันให้เป็นพลังงานในเวลาไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า 

โดยทำร่วมกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประมาณ 20 แห่ง นอกจากนั้นเรายังมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายขีดความสามารถด้านการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ให้มากกว่าที่ตามองเห็น สำหรับศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ แล้วเรายังมีงานวิจัยระดับชั้นแนวหน้าของฟิสิกส์ระดับต่ำกว่าอนุภาคที่เรียกว่าควอนตรัมฟิสิกส์ ทำวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ระดับนำของโลกที่โครงการ CERN ซึ่งประเทศชั้นนำของโลกเท่านั้นที่ได้เข้าไปอยู่ในโครงการวิจัยนี้ 

เช่นเดียวกับโครงการวิจัยที่ขั้วโลกใต้ ซึ่งมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ได้เข้าไปทำโครงการวิจัย เป็นต้น เพราะฉะนั้นด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยไปได้ไกลมาก

“นี่คือประเทศไทยใหม่ ต้องย้ำว่าประเทศไทยใหม่ เพราะคนไทยเองไม่ค่อยเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศทางวิทยาศาสตร์ได้ แน่นอนบางทีเราส่งลูกไปเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะลึก ๆ เราก็ไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะทำวิทยาศาสตร์ได้ คนไทยนี่เก่งทางด้านวิทยาศาสตร์มาก ทำให้เวลานี้ ประเทศทั่วโลกอยากมาลงทุนด้วย เพราะด้านวิทยาศาสตร์เราเก่ง”