“FIBO DEMO DAY” เป็นกิจกรรมที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดขึ้นเมื่อไม่นานผ่านมา เพื่อจัดแสดงผลงานการออกแบบแนวคิด และต้นแบบ (Ideas & Prototypes) ของนักศึกษาฟีโบ้ 3 ชั้นปี โดยชั้นปีที่ 1 หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อสังคมด้านอุตสาหกรรม การเกษตร ความปลอดภัย และการท่องเที่ยว” ชั้นปีที่ 2 หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านธุรกิจในภาคธุรกิจค้าปลีก (Retail) การบริการสุขภาพ (Healthcare) และให้บริการต้อนรับรับรองผู้มาเยือน (Hospitality) ซึ่งครอบคลุมธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว”
ส่วนหัวข้อ “Waste Renovation ที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมด้านการจัดการ Waste” เป็นของนักศึกษา FIBO ปี 3
โดยมีชิ้นงานที่น่าสนใจกว่า 40 ชิ้นงาน อาทิ หุ่นยนต์ทำความสะอาดคอกสุกรอัตโนมัติ, เครื่องยกล้อรถยนต์ระบบขากรรไกรสำหรับศูนย์บริการรถยนต์, เทคโนโลยีขนถ่ายลำเลียงเกลือสำหรับเกษตรกรนาเกลือ, เครื่องแยกส่วนประกอบซากแผงวงจรโทรศัพท์อัตโนมัติเพื่อช่วยผู้ประกอบการธุรกิจกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลดการส่งออกซากแผงวงจรโทรศัพท์ออกไปจัดการที่ต่างประเทศ,
Trash X : นวัตกรรมถังขยะอัจฉริยะที่ช่วยให้สำนักงานเขตบริหารจัดการการเก็บขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ, เครื่องฟังเสียงวิเคราะห์ระดับความสุกของทุเรียน เป็นต้น
“อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และประธานหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ FIBO กล่าวว่า การจัดกิจกรรม FIBO DEMO DAY ต้องการเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงผลงานให้กับผู้สนใจ ทั้งผู้ที่เป็นผู้ใช้งาน หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในสายงานเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ซึ่งการฝึกทักษะเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ให้กับนักศึกษา
เพราะการนำเสนอจะได้พูดคุยถามตอบ พร้อมกับทำให้เข้าใจมุมมองของคนทั่วไปเวลาที่เขามองกลับมายังเทคโนโลยีหุ่นยนต์ พร้อม ๆ กับเข้าใจถึงการเป็นวิศวกร หรือนักพัฒนาหุ่นยนต์และ AI ที่ดีในอนาคต
“ปีนี้มีรายวิชาของทั้ง 3 ชั้นปี ที่มีการทำโปรเจ็กต์ในธีม หรือหัวข้อที่สอดคล้องไปทิศทางเดียวกัน จึงนับเป็นการนำผลงานของนักศึกษาฟีโบ้ที่ค่อนข้างใหญ่ และเป็นการจัดครั้งแรกหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโอกาสที่นักศึกษาแต่ละคนจะได้พูดคุย และแลกเปลี่ยนไอเดียข้ามชั้นปี รุ่นน้องได้เห็นผลงานของรุ่นพี่ ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างไปจากเดิม”
สำหรับแนวคิดในการออกแบบคิดค้น และพัฒนานวัตกรรมของนักศึกษาทั้ง 3 ชั้นปีครั้งนี้ “อาจารย์บวรศักดิ์” กล่าวว่า แม้ฟีโบ้เราสอนเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเป้าหมายการเรียนหุ่นยนต์ คือ ต้องสร้างหุ่นยนต์เป็น แต่ไม่ใช่ทุกปัญหาที่จะแก้ได้ด้วยหุ่นยนต์
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือนักศึกษาต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหา เพราะหลาย ๆ ปัญหาไม่จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์แก้เสมอไป
ฉะนั้น การเรียนการสอนที่ฟีโบ้ จะเน้นเรื่องของ Design Thinking และใช้ Concept นี้ในการฝึกให้นักศึกษาต้องลงไปเข้าใจคนใช้งานจริง ๆ เพราะหน้าที่เราคือเอาความรู้ไปตอบโจทย์คนที่ใช้งาน (User) ไม่ใช่ใส่ หรือยัดเยียดเทคโนโลยีแก่ผู้ใช้อย่างเดียว และในการทำงานแต่ละครั้ง นักศึกษาจะเจอคำถามจากอาจารย์อยู่ตลอดเวลา และเขาจะต้องหาคำตอบให้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นการเรียนการสอนที่แตกต่างจากที่อื่น
“เราจึงต้องปลูกฝังความคิดให้เขาเข้าใจว่าการจะพัฒนานวัตกรรม สิ่งแรกที่จะทำให้นวัตกรรมรอด คือ คนต้องใช้ ถ้าคนไม่ใช้ ก็ไม่มีประโยชน์ นักศึกษาฟีโบ้จึงต้องลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาวิจัย และเก็บข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำมาตอบโจทย์คนใช้จริง ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดธีม หรือหัวข้อของนักศึกษาแต่ละชั้นปี ทั้งยังเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คือ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับนักศึกษาเมื่อได้พบกับผู้ชม (Audience) และได้เรียนรู้ว่าผลงานของเขานั้นมีประโยชน์ ใช้ได้จริงแค่ไหน อย่างไร”
อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดกิจกรรม คือ การโชว์ของนักศึกษา FIBO คือการแสดงให้นักเรียนมัธยม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มางานนี้เห็นผลงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI มากขึ้น เพื่อให้พวกเขาเห็นถึงศักยภาพ และโอกาสของการเรียนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่สามารถต่อยอดไปสู่งานด้านต่าง ๆ อีกมากมาย
“ต้องยอมรับตรง ๆ ว่าภาพการเรียนหุ่นยนต์ในประเทศไทยยังมีภาพที่ไม่ชัดเจนมากนักว่าเรียนหุ่นยนต์แล้วทำอะไรได้ บางคนอาจมองว่าเรียนหุ่นยนต์แค่สร้างหุ่นยนต์อย่างเดียว แต่ความจริงแล้วในหุ่นยนต์มีองค์ความรู้หลายอย่างที่ดึงออกมาใช้ได้ แม้ส่วนหนึ่งอาจสร้างเป็นชิ้นงานได้ จึงอยากใหนักเรียนมัธยมมาชม มาเห็นศักยภาพ (Potential) ของการเรียนเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น”
“ภูษิณ ประเสริฐสม” หรือ “ภู” นักศึกษาฟีโบ้ ชั้นปี 1 กล่าวว่า การทำโปรเจ็กต์งานถือเป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการลงมือทำ และการเรียนที่ฟีโบ้ เปิดโอกาสให้เราฝึกลงพื้นที่จริง สามารถเก็บข้อมูลมาทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือการได้ฝึกทำงานร่วมกับเพื่อนตั้งแต่เทอมแรก ที่เรียกว่า Project-based Learning ทำให้เราได้ความรู้จากเพื่อน ๆ และจากรุ่นพี่ด้วย เพราะคนหนึ่งอาจมีความรู้ด้านหนึ่ง เรามีความรู้อีกด้านหนึ่งก็เอามาแชร์กัน
“สำหรับกิจกรรมนี้ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ครั้งแรกที่นำผลงานของทีมมาร่วมจัดแสดงคือ ระบบตรวจเช็กถังดับเพลิงผ่าน Web-App เป็นการออกแบบแอปพลิเคชั่นสำหรับการตรวจเช็กตำแหน่งติดตั้งและระบบของถังดับเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์ แก้ปัญหาถังดับเพลิงถูกละเลยไม่ได้ดูแลตรวจสอบสามารถลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ และสามารถสรุปผลได้ในทันที ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารต่าง ๆ ได้อีกด้วย”
นับว่าน่าสนใจทีเดียว