
ต้องยอมรับความจริงว่า “ความเจริญ” กระจุกตัวอยู่ในเมือง และหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก ดังนั้น คุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษาจึงไม่ขยายไปสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และบริเวณรอยต่อระหว่างตะเข็บชายแดน จนทำให้หลายสถานศึกษาเหล่านั้นขาดความพร้อมในการบริหารจัดการเรียนการสอน
อีกทั้งยังทำให้การประเมินคุณภาพการศึกษาไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
ทั้ง ๆ ที่เรื่องของการศึกษาเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะข้อ 4 ที่ระบุว่า…การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม และเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
แต่ในความเป็นจริงยังถือว่าการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว โดยเฉพาะการบริหารจัดการการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์
ผลเช่นนี้ เมื่อ สำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ขานรับนโยบายของ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการเร่งเดินหน้าประเมินคุณภาพสถานศึกษา เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพสถานศึกษาขนาดเล็ก สถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล และโรงเรียนขยายโอกาส ด้วยการส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
สำคัญไปกว่านั้น “พล.ต.อ.เพิ่มพูน” ยังมอบนโยบายให้ “สมศ.” ยึดหลักการทำงาน “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” พร้อมกับตั้งเป้าประเมินคุณภาพภายนอกปี 2567 รวมกว่า 4,220 แห่ง โดยย้ำว่าการประเมินครั้งนี้จะไม่มุ่งเน้นตัดสิน แต่จะยกระดับ และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของชาติเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“ดร.นันทา หงวนตัด” รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ไม่นานผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าตรวจเยี่ยม สมศ.พร้อมมอบนโยบาย และให้คำแนะนำการปฏิบัติงานในการดำเนินงานด้านการประเมินคุณภาพสถานศึกษาในปี 2567
โดยให้ สมศ.ดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกเชิงคุณภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การประเมินคุณภาพภายนอกให้กับสถานศึกษาขนาดเล็ก สถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงโรงเรียนขยายโอกาส
“โดยต้องกำหนดเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกให้มีความเหมาะสมกับกลุ่มสถานศึกษาแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา และสามารถนำไปใช้พัฒนาได้จริง โดย สมศ.ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อคัดกรอง และประสานรายชื่อกลุ่มสถานศึกษาที่ต้องเร่งพัฒนา และยกระดับคุณภาพการศึกษาภายในปีงบประมาณ 2567”
พร้อมกันนี้ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน” ยังมอบนโยบายการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” โดย “ถูกต้อง” คือถูกต้องตามแนวนโยบายการศึกษา “รวดเร็ว” คือการดำเนินงานในการประเมินที่ว่องไวทันโลก ทันเหตุการณ์
“ประโยชน์” คือการประเมินที่ต้องเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน สถานศึกษา สังคม องค์กรและประเทศชาติ ส่วน “ประหยัด” คือการใช้ทรัพยากร และงบประมาณในการประเมินให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า
สถานศึกษาขนาดเล็ก และโรงเรียนขยายโอกาสมีลักษณะคล้ายคลึงกันตรงที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และถิ่นทุรกันดาร ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม จึงจำเป็นต้องเร่งประเมินคุณภาพการศึกษาในกลุ่มสถานศึกษาดังกล่าว
ซึ่งการประเมินจะทำให้สถานศึกษาทราบถึงจุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุง ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาสถานศึกษา ทำให้สถานศึกษาสามารถนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นได้ อันจะส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นในภาพรวม
“ดร.นันทา” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สมศ.ยังคงเร่งเดินหน้าประเมินคุณภาพภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าประเมินคุณภาพภายนอกให้กับสถานศึกษากว่า 4,220 แห่ง ซึ่ง สมศ.ได้ร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดในการพัฒนากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก
ทั้งยังคงยึดหลักในการใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาประเภทต่าง ๆ โดยใช้ระยะเวลาประเมิน 1-3 วัน และสถานศึกษาแต่ละแห่งจะได้รับการประเมินด้วยจำนวนวันที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของสถานศึกษา รวมทั้งมีการประเมินแบบ Hybrid ทั้ง Virtual Visit และ Onsite Visit เพื่อลดภาระของสถานศึกษา
นอกจากนั้น วิธีการประเมินของ สมศ.ยังคงเน้นการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนในการประเมิน ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ มีการพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอกเกี่ยวกับสมรรถนะด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอกให้กับสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
และสิ่งที่ สมศ.เน้นย้ำและให้ความสำคัญคือการส่งเสริมให้สถานศึกษานำผลการประเมินไปปรับใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา และยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้น โดย สมศ.จะเริ่มเข้าประเมินสถานศึกษาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
“สิ่งที่ สมศ.มุ่งเน้นให้ความสำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สถานศึกษาในการดำเนินการประกันคุณภาพภายในอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมก่อนรับการประเมินคุณภาพภายนอก โดยการประเมินในรอบปี 2567-2571 จะไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสินว่าได้หรือตก
แต่เป็นการประเมินเพื่อสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสถานศึกษา พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เกิดประโยชน์ และสถานศึกษานำไปใช้ได้จริง อีกทั้งมีการติดตามให้สถานศึกษานำผลการประเมินไปใช้ เพื่อเป็นการยกระดับ และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของชาติต่อไป”
เพราะการศึกษาคือตัวชี้วัดความเจริญของประเทศ ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดการบริหารจัดการของรัฐบาลด้วยว่าจะมีประสิทธิภาพในการปฏิรูปการศึกษาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมหรือไม่