Game Developer เปลี่ยนความชอบให้เป็นอาชีพ กฤตนัย ศุภณัฐสกุลชัย

ตัวอย่างการเปลี่ยนความชอบให้เป็นอาชีพ Game Developer นักพัฒนาเกมมืออาชีพ อาชีพใหม่แห่งอนาคต ของกฤตนัย ศุภณัฐสกุลชัย ศิษย์เก่าคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม กับโปรเจ็กต์การระดมทุนพัฒนาเกม Kumitantei บน Kickstarter

“ผมเล่นเกมแนวภาษา เกม RPG ที่เน้นเนื้อเรื่อง ชอบอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม ความชอบในตอนเด็ก มีส่วนที่ช่วยบ่มเพาะให้ผมกลายเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่อง ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดเรื่องการสร้างเป็นเกม คิดว่า น่าจะต้องมีแพลตฟอร์มอะไรสักอย่าง ไว้สำหรับเล่าเรื่องที่ผมอยากเล่า และเมื่อพบว่าเกมตอบโจทย์ความต้องการเล่าเรื่องของผมได้ ก็เลยคิดว่า จะใช้เกมนี่แหละ เป็นตัวเล่าเรื่องที่ผมอยากเล่า จึงลงเอยด้วยการเป็นนักพัฒนาเกม”

กฤตนัย ศุภณัฐสกุลชัย ศิษย์เก่าคณะดิจิทัลมีเดีย สาขาดิจิทัลอาร์ตส์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เล่าถึงจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะผันตัวมาเป็น Game Developer ให้กับสตูดิโอเกม Mango Factory ค่ายเกมที่เขาร่วมก่อตั้งกับเพื่อนร่วมรุ่น

กฤตนัยเล่าอีกว่า ก่อนที่จะมาเป็น Game Developer เขาได้ริเริ่ม แฟนโปรเจ็กต์ของซีรีส์เกม Danganronpa เรียกว่า Heaven of Despair โปรเจ็กต์ดังกล่าว เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่เขาลงมือทำในเวลาว่างมาตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม

“ผมใช้เวลาว่างทำโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง พอเข้ามาเรียนสายนี้ ก็คิดว่าน่าจะนำโปรเจ็กต์ที่เคยริเริ่มไว้ มาพัฒนาศึกษา ค้นคว้า เพิ่มเติม เสนอเป็นวิทยานิพนธ์ได้ ในระหว่างที่ทำโปรเจ็กต์นี้ ผมได้พบปะกับผู้คนในคอมมิวนิตี้ออนไลน์ที่กำลังทำโปรเจ็กต์คล้าย ๆ กันมากมาย ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นมาจากอินโดนีเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ เราก็ได้เป็นเพื่อนกันและกลายเป็นกลุ่มคนช่วยกันพัฒนาโปรเจ็กต์ของกันและกัน ไม่ว่าเป็นด้านอาร์ตหรือเขียนเรื่อง เราทำสนุก ๆ ในเวลาว่าง สิ่งที่ทำในตอนนั้น เป็นงานที่ไม่ได้หวังรายได้กำไรอะไร เพราะทุกคนทราบเงื่อนไขดีว่า ถึงอยากจะทำให้เป็นงานที่ก่อให้เกิดรายก็ทำไม่ได้ เพราะติดเรื่องลิขสิทธิ์

แต่ผ่านไปประมาณ 3-4 ปี เราก็พบว่าหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป กลุ่มของเราคิดและรู้สึกตรงกันว่า อยากจะทำอะไรที่ใหญ่กว่าที่ทำอยู่ และมองว่าต้องไม่ใช่แค่แฟนโปรเจ็กต์ ต้องเป็นโปรเจ็กต์ที่สามารถสร้างรายได้ และพัฒนาเป็นอาชีพได้ เพื่อนกลุ่มคนหนึ่งก็เลยเสนอว่า เรามารวมตัวสร้างเกมกันดีกว่า เริ่มจากเอาทรัพยากรที่เราได้จากการทำแฟนโปรเจ็กต์มาดัดแปลงเป็นของออริจินัลและตัดความเกี่ยวข้องกับซีรีส์ Danganronpa ออก

Advertisment

เราช่วยกันดัดแปลง แฟนโปรเจ็กต์ของเพื่อนคนที่เสนอที่เคยเรียกว่า RE : Danganronpa-Old-School Slaughter ให้กลายเป็นเกม Kumitantei : Old-School Slaughter และก่อตั้งทีม Mango Factory ขึ้น ซึ่งผมก็เป็นส่วนหนึ่งในทีม ในฐานะ Animator และ Motion Graphic Designer”

กฤตนัยเลือกเรียนคณะดิจิทัลมีเดีย สาขาดิจิทัลอาร์ตส์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อเรียนรู้การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายทอดผ่านสื่อดิจิทัล ใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือในโปรแกรมต่าง ๆ ออกแบบ วาดรูปแบบ Digital Paint ออกแบบโมเดล 3 มิติ (3D Sculpture) การวาดภาพประกอบ (Illustration) และออกแบบงานศิลปะในเกม การตัดสินใจเลือกเรียนศึกษาต่อที่คณะนี้ มีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เขาก้าวเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมเกม

Advertisment

“ตอนเรียนมัธยม ผมคิดว่าผมเป็นคนเก่งในทางที่ผมถนัด แต่พอได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ได้เจอคนที่เก่งกว่า ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ก็รู้ว่าสิ่งที่คิดนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างคิดผิด ความสามารถที่ผมมีนั้นยังต้องพัฒนาหลาย ๆ อย่างอีกมาก การเรียนในมหาวิทยาลัยช่วยผมสะสมทักษะและประสบการณ์ ที่คาดไม่ถึงอีกมากมาย ผมได้เจอคนเก่ง ๆ หลายคน ในห้องเรียน ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์แต่ละคน ที่เชี่ยวชาญ ในสิ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน อาจารย์แต่ละคนมีความคิดทันสมัยและมีความเข้าใจ ว่านักศึกษาแต่ละคน ควรจะพัฒนาทักษะหรือความรู้เรื่องไหนเพิ่มเติม และต้องคอยช่วยชี้แนะ เรื่องไหนจึงจะเติมเต็มความสามารถ ให้ได้มากที่สุด”

กฤตนัย มองว่า เกมไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความบันเทิง อุตสาหกรรมนี้ มีมิติด้านอื่น ๆ ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมากมาย เขามองว่า เกมเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพด้านการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นอาชีพที่สามารถสร้างความยั่งยืนและเป็นแหล่งรายได้สำคัญในอนาคต

“ผมคิดว่าเกมเป็นได้มากกว่าความบันเทิงครับ ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน เกมกลายเป็นระบบนิเวศของ ผู้คนมากมาย เป็นระบบนิเวศของตัวผมและเด็กรุ่นปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกมเป็นอาร์ตฟอร์มอย่างหนึ่ง เหมือนหนังกับการ์ตูน เป็นเครื่องมือ ที่กลายเป็นช่องทางให้เราเล่าเรื่องและแสดงออกต่าง ๆ นานาได้

ผมได้เจอกับเกมแบบที่ว่ามาหลายต่อหลายครั้ง เกมช่วยให้ผมได้คิดในสิ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับชีวิตของตัวเอง และผมก็หวังไว้ว่า เกมที่ผมกำลังทำอยู่ จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้เหมือนกับที่เกมอื่น เคยสร้างความรู้สึกนั้นไว้กับผม

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกเกมที่จะมีคำสอนล้ำลึกให้เราได้ไปคิดกันหลังเล่นจบ บางเกมก็แค่เล่นเอาสนุก ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าไม่ดีอะไร มองในอีกแง่หนึ่ง คือ เกมพวกนั้นมีประโยชน์ เช่น ช่วยให้ผ่อนคลาย ช่วยฝึกสมาธิ ฝึกแก้ไขปัญหา และบางเกมยังช่วยฝึกทักษะบางอย่าง เช่น ช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมได้อีกด้วย เกมมีประโยชน์กับชีวิตเราในหลาย ๆ ด้านนะครับ แค่เราต้องรู้วิธีที่จะใช้เวลากับมันให้สร้างสรรค์และไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งในมุมนี้ก็ต้องระวัง เหมือนที่ต้องระวังกับสื่อความบันเทิงอื่น ๆ

อุตสาหกรรมเกมนั้นใหญ่มากและมีการแข่งขันก็สูง จะประสบความสำเร็จในสายนี้ไม่ใช่ง่ายๆ และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย จากประสบการณ์ของผม ทำเกมให้ดีมันไม่พอ เราต้องขายเกมเป็นด้วย ซึ่งผมโชคดีที่มีคนจัดการเรื่องนั้นให้ เพราะผมอาจจะเก่งเรื่องทำให้เกมที่สร้างมาดูดี แต่ผมไม่มีทักษะการขายของที่ผมสร้างเลย ผมจึงมองว่าการทำงานเป็นทีม แบ่งงานกันทำตามความถนัด น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

สิ่งที่อยากบอกน้อง ๆ ระดับมัธยมที่อยากเรียนเกี่ยวกับการสร้างเกม คือ ผมอยากแนะนำว่า หากตัดสินใจเรียนสายนี้ก็ควรจะมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจน หาสิ่งที่ถนัด และพยายามฝึกฝนทักษะด้านนั้น ๆ ให้เชี่ยวชาญและรู้อย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเขียนโค้ด ด้านอาร์ต หรือด้านเขียนเนื้อเรื่อง และเรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีมร่วมกับคนอื่น

ความสามารถที่มีจะช่วยให้เราเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่เข้มแข็งได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่า เกมที่เราจะทำด้วยในอนาคตนั้นเป็นเกมแนวไหน ต้องการทักษะอะไร อย่างผมไม่มีทักษะเรื่องเขียนโค้ดหรืออะไรพวกนั้นเลย แต่ผมสามารถทำอะนิเมชันและกราฟิกดีไซน์ได้ ผมก็เลยมีบทบาทรับผิดชอบการทำในส่วนนี้ ส่วนคนที่เก่งด้านอื่นก็ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด

ถ้าเราคิดที่จะทำเกมคนเดียว หรือคิดว่าทำเกมคนเดียวได้ ก็ยิ่งต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะเราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น โปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ เป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม ซึ่งแน่นอนว่าเราควรจะมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย

นอกจากนี้ ผมว่าคอนเน็กชั่นก็สำคัญมากเช่นกัน หากเรารู้จักคนเยอะ ๆ แล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการตลาด และรู้ภาษาอังกฤษด้วยยิ่งดี เพราะความรู้ในแต่ละด้านนั้นหมายถึงโอกาสจะเปิดให้กับเรา ถ้าเราสามารถสื่อสารและทำงานกับต่างชาติได้ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำงาน ผมคงไม่ได้มีโอกาสมาทำสายนี้ ถ้าผมไม่ได้เป็นเพื่อนกับคนต่างชาติ เพื่อนในทีม ซึ่งมาจากหลากหลายชาติ แต่ละคน รู้จักคนเยอะ เราก็ยิ่งได้คนมาช่วย โปรโมตเกมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

กฤตนัยทราบดีว่าเส้นทางสาย Game Developer ไม่ใช่เส้นทางที่โปรยด้วยกลีบกุหลาบ ความสำเร็จในเส้นทางนี้ หมายถึง ตัวเขาและเพื่อน ๆ ต้องช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคและขวากหนามอีกมากมายหลายด้าน

“สำหรับ Kumitantei : Old-School Slaughter เป็นเกมแนว Murder Mystery ในสไตล์ Retro Anime ผสมกับระบบการ์ดเกม ตอนนี้มี Demo ให้ลองเล่นฟรีบน Steamhttps://store.steampowered.com/app/2759280/Kumitantei_OldSchool_Slaughter/ ซึ่งเปิดระดมทุนบน Kickstarter และได้ยอดระดมทุนทะลุไปกว่า 70% ในสัปดาห์แรกที่เริ่มเปิดระดมทุน (https://www.kickstarter.com/projects/mangofactory/kumitantei-old-school-slaughter)

หากระดมทุนได้ครบ ก็จะได้เริ่มงานกันอย่างจริงจัง ส่วนหลังจากนี้ ผมคิดไว้ว่าในอนาคต ผมอยากจะเอาโปรเจ็กต์ส่วนตัวของผมมาต่อยอดทำเป็นอะไรสักอย่างที่สร้างอาชีพ เป็นเว็บคอมิกหรืออย่างอื่น แต่สักวันผมอยากจะเล่าเรื่องราวของตัวละครพวกนี้ให้ทุกคนได้เห็นกัน มันเป็นความฝันของผมที่ผมอยากจะทำให้เป็นจริง” กฤตนัยกล่าวทิ้งท้าย