ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผนึกกำลัง Dongduk Women’s University มหาวิทยาลัยสตรีชั้นนำของเกาหลีใต้ ยกระดับ นศ. ไทยสู่นานาชาติ แลกเปลี่ยนนวัตกรรม งานวิชาการ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย กับ Dongduk Women’s University มหาวิทยาลัยสตรีชั้นนำของประเทศเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัย และส่งเสริมโอกาสในการศึกษาระดับนานาชาติ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรภาษาตะวันออกเพื่อธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ โดยมี ผศ. ดร.ศิริเดช คำสุพรหม รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ เป็นผู้ลงนาม เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU
ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนานักศึกษา ให้พร้อมกับกระแสความนิยมของอุตสาหกรรมธุรกิจบันเทิงเกาหลี ซึ่งส่งผลให้ความต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจที่มีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะการสื่อสารภาษาเกาหลีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับนี้ ครอบคลุมความร่วมมือในหลากหลายด้าน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา การทำวิจัยร่วมกัน การแลกเปลี่ยนสื่อการเรียนการสอน รวมถึงการพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และการศึกษารูปแบบอื่น ๆ ที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยเห็นชอบร่วมกัน
อาจารย์จริยา พัฒนาพิทักษ์วงศ์ หัวหน้าหลักสูตรภาษาตะวันออกเพื่อธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงความพิเศษของความร่วมมือครั้งนี้ว่า นักศึกษาในหลักสูตรมีโอกาสที่จะได้รับทุนการศึกษา แม้ไม่เคยมีพื้นฐานภาษาเกาหลีมาก่อน โดยจะมีทุนเกือบทุกระดับ ตั้งแต่ปริญญาตรีปีที่ 1-4 และมีอัตราส่วนทุนตั้งแต่ 50% ถึง 100% รวมทั้งมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาซึ่ง ณ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดต่าง ๆ
“จุดเด่นของวิชาเอกภาษาเกาหลีที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คือหลักสูตรมีอาจารย์ชาวเกาหลีถึง 3 ท่าน ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย การที่นักศึกษาได้เรียนจากเจ้าของภาษาโดยตรงจะทำให้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีอย่างเป็นธรรมชาติ เสมือนจำลองสถานการณ์จริงในประเทศเกาหลีมาสู่ชั้นเรียนและกิจกรรม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้นักศึกษาในการสื่อสารกับชาวเกาหลี มากกว่าการสอนเพื่อสอบ หลักสูตรมุ่งสอนเพื่อใช้งานจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องการ” อาจารย์จริยา กล่าว
“นอกจากนี้ การเรียนกับเจ้าของภาษาจะทำให้มีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยและเกาหลีได้อย่างลึกซึ้งขึ้น มีความกล้าและมั่นใจในการสื่อสารกับชาวเกาหลีอย่างเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ปูทางสู่ความสำเร็จในการศึกษา และโอกาสในการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ”
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกาหลีเติบโตขึ้นอย่างมาก และมีการลงทุนในประเทศไทยใน 10 อันดับแรกทำให้ความต้องการบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาเกาหลีได้เป็นอย่างดีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการที่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาเกาหลียังมีจำนวนไม่มากนัก บัณฑิตที่จบการศึกษาภาษาเกาหลีจึงมีโอกาสในการทำงานสูง” อาจารย์จริยา กล่าว
สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่สนใจในภาษาเกาหลี สามารถติดตามรายละเอียดเชิงลึกของความร่วมมือรวมถึงรายละเอียดของทุนการศึกษาและโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ได้ใน LINE Official Account ของ หลักสูตรภาษาตะวันออกเพื่อธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งจะมีการประกาศข้อมูลอย่างเป็นทางการต่อไป โดยเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ตั้งแต่วันนี้