
เทรนด์การนำ AI มาใช้ในมหาวิทยาลัยกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการเรียนการสอนและการบริหารจัดการให้ทันยุคสมัย
อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ใช้ AI เป็นผู้ช่วยในการสอนวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ช่วยตอบคำถามนักศึกษาและให้คำแนะนำในการเขียนโปรแกรมได้ทันที
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ AI อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้าน Human-AI Interaction และ AI Policy Research
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ใช้ AI ในการตรวจข้อสอบ และวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนของนักศึกษา เพื่อปรับกระบวนการเรียนการสอน
และมหาวิทยาลัยในประเทศจีน เช่น มหาวิทยาลัยเสิ่นเจิ้น (Shenzhen University) และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) ได้เปิดสอนหลักสูตร AI โดยใช้เทคโนโลยีของ DeepSeek
สำหรับประเทศไทย “วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล” (MUIC) ประกาศความสำเร็จแล้ว ในการเปิดตัว “AI Copter” แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยส่วนตัวของนักศึกษา ให้คำปรึกษาด้านการเรียนแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งการให้คำแนะนำด้านวิชาการ การวิเคราะห์เส้นทางอาชีพ และข้อมูลหลักสูตรในแต่ละสาขาแบบครบจบในที่เดียว
ระบบดังกล่าวได้รับการพัฒนาต่อยอด จากเทคโนโลยี Google Gemini สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ MUIC ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยด้วยนวัตกรรมระดับสากล
พร้อมตอบรับแนวโน้มของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกที่นำ AI มาเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอน คาดว่าจะช่วยลดภาระงานด้านบุคลากร และสนับสนุนการเติบโตของจำนวนนักศึกษาในอนาคต รวมถึงการช่วยลดงบประมาณได้ในระยะยาว

นวัตกรรมตอบโจทย์ Gen Z
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้เปิดตัว AI Copter ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ออกแบบมา
เพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้และการให้บริการแก่นักศึกษา
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้คำแนะนำทางวิชาการ เช่น การวิเคราะห์และเสนอแนะรายวิชาที่เหมาะสม การเลือกวิชาโท (Minor) และโปรแกรมประกาศนียบัตร (Certificate Programs) ให้สอดคล้องกับความสนใจและเป้าหมายอนาคตของแต่ละบุคคล รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน
“นับเป็นก้าวสำคัญของวงการศึกษาของประเทศไทย ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสนับสนุนด้านการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ”
ระบบ AI Copter พัฒนาบนพื้นฐานของ Google Gemini และได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัย โดยใช้เทคนิค RAG (Retrieval-Augmented Generation) ร่วมกับการปรับพารามิเตอร์ (Fine-Tuning) เพื่อให้สามารถตอบคำถามได้อย่างแม่นยำ ตรงประเด็น และสอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษา โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 12 เดือน
ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับจาก AI Copter ประกอบไปด้วย การช่วยเหลือด้านวิชาการแบบเรียลไทม์ให้นักศึกษาสามารถถามเกี่ยวกับหลักสูตร ตารางเรียน และแนวทางการศึกษาได้ทันที
ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยที่เน้นความรวดเร็วเป็นหลัก ถือเป็นจุดเด่นและเป็นไฮไลต์ของ AI Copter ที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมและปรับโหมดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของนักศึกษาแต่ละคน
ได้แก่ การให้คำแนะนำทางวิชาการ ระบบสามารถช่วยนักศึกษาในการเลือกวิชาเรียน วิชาโท (Minor) และโปรแกรมประกาศนียบัตร (Certificate) ที่เหมาะสมกับความสนใจและเป้าหมายอาชีพของแต่ละบุคคล,
การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ AI Copter สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความสนใจและผลการเรียนของนักศึกษา เพื่อแนะนำเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม, การสนับสนุนโอกาสแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ระบบให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับโครงการแลกเปลี่ยน (Exchange Programs) และโอกาสการศึกษาในต่างประเทศ
โดย MUIC มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยพันธมิตรกว่า 140 แห่งทั่วโลก และเน้นการบริการข้อมูลที่รวดเร็ว AI Copter ยังสามารถแจ้งเตือนกำหนดการสำคัญ ๆ ข่าวสารจากมหาวิทยาลัย และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ด้วย

ปี’68 เริ่มนำร่องเฟสแรก
รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวว่า AI Copter เป็นระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลของ MUIC ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา จึงสามารถให้ความช่วยเหลือและตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาได้อย่างตรงจุด
สำหรับแผนการเปิดตัว AI Copter แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระยะ ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญในแต่ละช่วง ดังนี้
ระยะที่ 1 (ต้นปี 2568) เริ่มทดลองใช้งาน AI ในบริการเฉพาะด้าน เช่น การแนะนำด้านวิชาการ การลงทะเบียนเรียน และข้อมูลกิจกรรมนักศึกษา
ระยะที่ 2 (กลางปี 2568) ขยายการให้บริการ AI ในด้านการแนะแนวอาชีพ การฝึกงาน และโอกาสศึกษาต่อต่างประเทศ และ ระยะที่ 3 (ต้นปี 2569) พัฒนา AI ให้สามารถให้บริการเชิงโต้ตอบแบบเรียลไทม์ และนำไปใช้กับการจัดการหลักสูตรของวิทยาลัย
ทั้งนี้ AI Copter จะช่วยลดต้นทุนด้านบุคลากรได้อย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะสามารถประหยัดงบประมาณได้มากกว่า 5-10 ล้านบาท จากการลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และอาจารย์ที่ปรึกษาในด้านการให้คำปรึกษาเบื้องต้น
ตลอดจนลดความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนบุคลากรแนะแนวการศึกษา พร้อมทั้ง “ยกระดับ” ประสิทธิภาพงานบริการนักศึกษา ด้วยการนำ AI เข้ามาเป็นผู้ช่วย
นอกจากนี้ MUIC ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา “Helix” ระบบ AI อีกหนึ่งตัวที่จะช่วยเสริมศักยภาพการทำงานของอาจารย์ พนักงาน และนักวิจัย และมีแผนจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้