“เชฟรอน” พัฒนาครูวิทย์-คณิต อุดช่องโหว่การศึกษาเยาวชนไทย

จากผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ที่วัดความเข้าใจของเยาวชนอายุ 15 ปี ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 70 ประเทศ

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจะพบว่าคะแนนของนักเรียนในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่สูงกว่านักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาค่อนข้างมากตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

เพราะการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียนในเมืองใหญ่และพื้นที่ห่างไกลให้เท่าเทียมกันเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการที่ประเทศไทยต้องการก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์หรือประเทศไทย 4.0

ผลเช่นนี้ ทำให้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มองเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็มศึกษา (STEM: Science, Technology, Engineering,Mathematics) จึงได้ร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐ และภาคประชาสังคมภายใต้โครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ขึ้น

โครงการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเสริมศักยภาพและทักษะของครูให้มีความรู้ความเข้าใจ และนำกระบวนการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-Based Learning) มาใช้ในชั้นเรียนของตน โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เกิดเปลี่ยนแนวทางการสอนจากการท่องจำ ไปสู่การตั้งคำถามและหาคำตอบ ที่เป็นการวางรากฐานทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ”
ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การดำเนินของโครงการ Chevron Enjoy Science มุ่งส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็มศึกษา ที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

หนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญคือการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและอบรมครูผู้สอนโดยให้แนวทางและกลวิธีการจัดการเรียนการสอน ที่จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น รู้จักคิดวิเคราะห์ และมีทัศนคติที่ดีในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อนำมาสู่แรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มต่อไปในอนาคต

ADVERTISMENT

“ตลอด2ปีของการดำเนินโครงการ มีครูผ่านการอบรมทั้งสิ้น 3,551 คน จาก 371 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ และมีเด็กนักเรียนที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นกว่า 113,780 คน”

“นิดาวรรณ ช้างทอง”
ครูโรงเรียนบ้านสันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปัญหาหลักที่พบในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ คือ นักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนอย่างถ่องแท้ เพราะเน้นท่องจำเป็นหลัก ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมครูในโครงการ Chevron Enjoy Science จึงทดลองนำกระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้มาปรับใช้ในชั้นเรียน

“ในชั้นเรียนเราเริ่มด้วยการตั้งคำถามให้น่าสนใจเพื่อกระตุ้นความสงสัยของนักเรียนจากนั้นจึงแบ่งกลุ่มให้นักเรียนได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน พร้อมกับมอบหมายให้แต่ละคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบภายในกลุ่ม ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยให้งานกลุ่มสำเร็จ ส่งผลให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออกและตื่นตัวในชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งการได้เห็นประกายความอยากรู้อยากเห็นในแววตาของนักเรียนเหล่านั้น ทำให้เราในฐานะครูผู้สอนมีความสุขมาก”

ADVERTISMENT

เช่นเดียวกับ “สาธิต วรรณพบ” ครูโรงเรียนตะกั่วป่า เสนานุกูล จ.พังงา ที่เล่าให้ฟังถึงความประทับใจในการสอนแบบใหม่นี้ว่า การเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ จะไม่มีการบอกเด็กว่าความเห็นหรือคำตอบนั้นผิด แต่ครูจะช่วยตั้งคำถาม และให้นักเรียนค่อย ๆ หาคำตอบตามความเข้าใจของตนเองส่งผลให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ และไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นต่อหน้าชั้นเรียน

อีกทั้งโครงการยังมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยมีระบบครูพี่เลี้ยงทางวิชาการที่คอยให้คำแนะนำดั่งกัลยาณมิตร เพื่อให้เราสามารถนำวิธีการเรียนการสอนแบบสืบเสาะไปใช้ในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีกำลังใจและมั่นใจในการสอนของตนเองมากขึ้น

“จากความกระตือรือร้นและมั่นใจในการสอนของตัวเองนี้ส่งผลให้นักเรียนมีความสนใจและให้ความร่วมมือในชั้นเรียนมากขึ้นซึ่งเทคนิคการสอนแบบใหม่นี้ ได้เปิดโลกทัศน์ให้ทั้งครูและนักเรียนไปพร้อม ๆ กัน”

ในขณะที่ “ดร.บุญเลี้ยง จอดนอก” ครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนบ้านหัวบึง จ.อุดรธานี กล่าวว่า ในโรงเรียนชายขอบที่นักเรียนส่วนมากเป็นเด็กด้อยโอกาส ซึ่งเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา โอกาสที่เด็กได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยแทบไม่มี โดยเฉพาะการเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ยิ่งเป็นเรื่องไกลตัว

ขณะเดียวกันโรงเรียนยังมีสื่อการเรียนการสอนไม่เพียงพอหลายๆ ครั้ง ครูจึงทำได้เพียงเน้นการบรรยาย และให้นักเรียนจินตนาการเอง ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ครูเองก็รู้สึกไม่ดีกับตัวเองที่ไม่สามารถสอนเด็กได้เท่าเทียมกับโรงเรียนใหญ่ ๆ ในตัวเมือง ซึ่งความรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังสอนประวัติศาสตร์ของวิชาวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนมากกว่า

“ภายหลังจากที่ผมนำการเรียนรู้แบบสืบเสาะมาใช้ในชั้นเรียนผมรู้สึกภูมิใจที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนุกในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อีกทั้งยังสนใจจะเลือกเรียนในสายวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษามากขึ้น ขณะที่หลายคนอยากประกอบอาชีพในสายวิทยาศาสตร์ ผมไม่ได้เน้นสอนให้เด็กไปแข่งกับใคร แค่พวกเขามีโอกาสมากขึ้น ผมก็ดีใจแล้ว”

“รางวัลแห่งความสำเร็จของพวกเขานั้นไม่ได้วัดที่ผลคะแนน แต่การช่วยให้เด็กได้พัฒนา และฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ และเห็นว่าการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป ซึ่งตรงนี้เองถือว่าเป็นรางวัลของความสำเร็จที่แท้จริง”

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาครูในโรงเรียนขยายโอกาสให้สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้นักเรียนเข้าใจในบทเรียนและเกิดทัศนคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จนนำมาสู่ความสนใจที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม และเลือกศึกษาต่อในสาขาสะเต็มศึกษา นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวต่อไป