มุมคิด 7 พรรคการเมือง สะท้อนการศึกษาไทยหลังเลือกตั้ง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) จัดเวทีเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียนเปลี่ยนไทยทันโลก” โดยมี 7 ตัวแทนพรรคการเมืองร่วมแสดงมุมมองได้แก่ กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย,กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ และ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ จากพรรคภูมิใจไทย

“ประชาชาติธุรกิจ”ได้ถอดมุมคิดของแต่ละพรรคการเมืองว่ามีทิศทางอย่างไรต่อการศึกษาไทย

เริ่มต้นที่ “กัญจนา” ซึ่งมองว่า ปัญหาการศึกษาไทยตอนนี้กับ 20 ปีที่แล้วยังเหมือนเดิม แสดงว่าการปฏิรูปการศึกษาไปไม่ถึงไหน ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ขาดความต่อเนื่องด้านนโยบายการศึกษา

“อยากทำให้ ศธ.ปลอดการเมือง หารัฐมนตรีคนกลางที่ไม่ถูกโยกย้ายจากการแบ่งเค้กการเมือง โดยรัฐต้องกระจายอำนาจทางการศึกษา ทั้งงบประมาณ และอิสระในการจัดหลักสูตร แต่จะทำได้นั้นต้องมีความพร้อมขององคาพยพด้วย เพราะหากกระจายอำนาจไปแล้ว แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่พร้อม การกระจายอำนาจก็จะล้มเหลว”

ในทางเดียวกัน “กรณ์” สะท้อนให้ฟังว่า การเปลี่ยนแปลงการศึกษาไม่ควรมาจากการกำหนดของผู้บริหารสูงสุดเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากข้างล่างไปข้างบน ดังนั้นจึงมองว่า รัฐมนตรีเปลี่ยนได้ แต่หากมีข้อเสนอทางนโยบายที่ตกผลึกมาแล้ว รัฐมนตรีห้ามเปลี่ยนนโยบายนั้น

“4-5 ปีที่ผ่านมา ได้ทดลองแนวคิดนี้ในโรงเรียนที่ จ.พิษณุโลก โดยไปปรับวิธีการสอนภาษาอังกฤษ ด้วยการนำครูจากฟิลิปปินส์มาสอนเด็กอนุบาล และให้การเรียนภาคบ่ายเป็นภาษาอังกฤษ ผลปรากฏว่าเด็กกลุ่มนั้นที่ตอนนี้อยู่ระดับประถมศึกษา พวกเขาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และผลข้างเคียงที่พบ คือ ผลการสอบโอเน็ตในทุกวิชาดีขึ้นด้วย”

“จากผลลัพธ์และประสบการณ์นี้ ทำให้เรามีความมั่นใจว่า การเปลี่ยนแปลงจากข้างล่างไปข้างบนมีประสิทธิผลมากกว่าจากข้างบนมาข้างล่าง ส่งผลให้เราสามารถกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง”

ขณะที่ “คุณหญิงสุดารัตน์” ให้ความเห็นว่า การกระจายอำนาจไปสู่เด็กไม่มีทางเกิดขึ้น หากระบบการศึกษายังแบ่งการทำงานของกระทรวงออกเป็นแท่ง ซึ่งการกระจายอำนาจไม่ใช่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจแล้วถืองบประมาณ แต่ต้องกระจายไปให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ผู้ปกครอง และชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดการศึกษาในพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีแล้วโรงเรียนไม่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างอิสระก็ต้องหายไป

“หากกระจายอำนาจจาก ศธ.ลงไปที่ท้องถิ่น แล้วให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารอำนาจการศึกษา ก็เหมือนกับกระจาย ศธ.ออกไปหลายพันองค์กร แล้วไปกำหนดด้านการศึกษาให้พื้นที่ ดังนั้น การบริหารงานหลายอย่างต้องเปลี่ยน อย่างเรื่องบประมาณอาจต้องลงไปที่โรงเรียนเลย ให้โรงเรียนมีสิทธิ์ขาด ขณะที่ ศธ.ดูมาตรฐานการศึกษาพื้นฐาน นอกจากนั้น ตัววัดผลต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนหมด เพื่อลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพิ่มเวลาครูได้เข้ามาอยู่การสอนมากขึ้น”

ต่อประเด็นนี้ “ดร.สุวิทย์” ได้เน้นย้ำว่า อย่าปล่อยให้เรื่องกระจายอำนาจเป็นวาทกรรม ซึ่งการกระจายอำนาจนั้นต้องทำไปพร้อมกับการกระจายโอกาส และความเจริญ ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มีเมืองรองมากขึ้น และไม่ให้เกิดการกระจุกตัวในไม่กี่เมือง ซึ่งหากไม่กระจายทั้งสามด้านไปพร้อมกัน การกระจายอำนาจอย่างเดียวตอบโจทย์อะไรไม่ได้

“การศึกษาต้องมีความต่อเนื่อง มี commitment เพื่อให้เกิดความร่วมมือและต้องการความเชื่อมโยงกัน บุคคลอาจเปลี่ยนได้ แต่นโยบายต้องเดินไป ซึ่งต้องโยนทิ้งกฎเกณฑ์ที่รุงรัง รวมถึงผลักดันให้เกิดพื้นที่ที่สร้างการมีส่วนร่วมและตอบโจทย์ชุมชน”

“อีกเรื่องคืองบประมาณที่ต้องมองกันใหม่ มิฉะนั้นจะเป็นนโยบายแบบปีต่อปีเหมือนเดิม อีกประเด็นสำคัญคือออกแบบกลไกให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลการศึกษาแทนกระทรวง โดยใช้แนวคิด บวร หรือบ้าน วัด และโรงเรียน เป็นกำลังหลักสำคัญเพราะการศึกษาในอนาคต คือ working, living และ learning มากกว่า schooling อย่างเดียว”

ด้าน “ดร.เอนก” กล่าวว่า คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ศธ.นั้น ต้องคัดเลือกคนที่ดีที่สุด ไม่ใช่การนำคนที่ช่วยงานพรรคหรือไม่มีความรู้ด้านการศึกษามาเป็นรัฐมนตรี แต่หากมีคนนอกพรรคที่ดีกว่าก็อาจเชิญมาเป็นรัฐมนตรีก็เป็นได้ หรือกล่าวอีกทางหนึ่งคือ ไม่ทำให้การศึกษาอยู่ภายใต้การเมืองมากเกินไป

“เราจะไม่ทำงานเป็นนักการเมือง หรือข้าราชการ แต่เราจะหาคนที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมทำงานกับเราด้วย รวมถึงนำผู้ปกครอง และภาคประชาสังคมมาเป็นทีมทำงาน เพราะเรื่องการศึกษาสำคัญเกินกว่าที่จะให้นักการเมืองทำอย่างเดียว ซึ่งสิ่งที่พรรคอยากทำมาก คือ อาชีวศึกษา เพราะมองว่าการดำเนินงานกับอาชีวศึกษาเชื่อมโยงไปถึงคนข้างล่างเป็นการเพิ่มชนชั้นกลาง และตอบปัญหาเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ”

สอดคล้องกับมุมมองของ “ดร.พะโยม”ซึ่งบอกว่า ต้องให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และไม่ใช่แค่การศึกษาในระบบเท่านั้น ต้องมองถึงการศึกษานอกระบบด้วย สิ่งที่พรรคคิด คือ ทำอย่างไรให้ทุกคนมีการศึกษาที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ตาม “เรามองถึงการศึกษาออนไลน์ คิดว่าต้องสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อเสริมการศึกษาทุกระบบ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กมีความสามารถพิเศษ ทั้งในและนอกกระแส รวมถึงอาชีวศึกษา ขณะเดียวกันอาจมีหน่วยงานกลางมาจัดการเรื่องหลักสูตร เครดิตแบงก์ หรือหาการจัดการศึกษารูปแบบใหม่เพื่อรับกับอนาคต”

ปิดท้ายที่ “กุลธิดา” โดยเธอให้ข้อมูลถึงสถานการณ์การศึกษาของไทยว่า มีครูที่กำลังเกษียณอายุประมาณ 2.7 แสนคนและจะมีครูใหม่ที่กำลังเข้ามาอยู่ในระบบจนถึงปี 2567 อีก 1.6 แสนคน หมายความว่านี่เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และวิธีการเรียนการสอนครั้งใหญ่ของประเทศ

“โจทย์ที่คิดไว้ คือ จะทำอย่างไรให้หลักสูตรแกนกลางบางลง โดยให้เป็นหลักสูตรที่ไม่เน้นแต่เนื้อหาวิชาการ แต่นำทักษะที่จำเป็นในการใช้งานของเด็กเป็นตัวตั้ง หรือเป็นหลักสูตรสมรรถนะเมื่อหลักสูตรแกนกลางบางลง เราจะมีพื้นที่สำหรับการออกแบบหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชน หรือโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนสามารถออกแบบหลักสูตรของตัวเองได้มากขึ้นส่งผลให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย”

“ทั้งนั้น คนที่จะเข้ามาบริหารจัดการโรงเรียนไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่ต้องมีตัวแทนนักเรียน ผู้ปกครอง ภาคธุรกิจ หรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มาช่วยบริหารจัดการโรงเรียนด้วย”